ได้นั่งปีหน้าทางคู่สายแรกภาคอีสาน วิ่งฉิว 80 นาที “โคราช-ขอนแก่น”

คอลัมน์ เวนคืนอัพเดต

มีความคืบหน้าขึ้นเรื่อย ๆ สำหรับโครงการรถไฟทางคู่สายอีสานช่วง “ชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น” ระยะทาง 187 กม. ซึ่ง “ร.ฟ.ท.-การรถไฟแห่งประเทศไทย” ใช้เงินลงทุน 23,430 ล้านบาท

หลังเริ่มสตาร์ตก่อสร้างเมื่อเดือน ก.พ. 2559 มีกลุ่มกิจการร่วมค้า CKCS (บมจ.ช.การช่าง และ บจ.ช.ทวี ก่อสร้าง) เป็นผู้ก่อสร้าง มีผลงานก้าวหน้าไปด้วยดี มีความก้าวหน้า 57.8% ล่าช้าจากแผน 0.1%

นายวรรณนพ ไพศาลพงศ์ รองวิศวกรใหญ่ ร.ฟ.ท. ด้านก่อสร้างและฝ่ายโครงการพิเศษ เปิดเผยว่า ขณะนี้งานก่อสร้างก้าวหน้าไปกว่าครึ่งทาง มียอดเบิกจ่ายค่าก่อสร้างสะสมรวม 24 งวด เป็นวงเงิน 10,027 ล้านบาท คิดเป็น 42.8% ของงบประมาณทั้งหมด

“ถึงแม้จะมีการปรับแบบก่อสร้าง 2 จุดสำคัญ แต่ขอยืนยันจะไม่มีผลกระทบต่อไทม์ไลน์การก่อสร้างโครงการที่มีกำหนดแล้วเสร็จวันที่ 18 ก.พ. 2562 มีแผนทดลองให้บริการเดือน ต.ค.นี้ 9 สถานี ระยะทาง 50 กม. ได้แก่ บ้านเกาะ บ้านกระโดน หนองแมว โนนสูง บ้านดงพลอง บ้านมะคำ พลสงคราม บ้านดอนใหญ่ และเมืองคง จากนั้นเดือน ธ.ค.จะทดสอบระบบทั้งหมดของสถานีทั้ง 18 แห่งให้พร้อมเปิดบริการ”

สำหรับ 2 จุดที่ต้องปรับแบบก่อสร้างใหม่ จุดแรก “สถานีบ้านไผ่” ได้ปรับรูปแบบการก่อสร้างคันทางรถไฟ เปลี่ยนจากคันดินถมสูงเป็นโครงสร้างยกระดับแทน เนื่องจากมีประชาชนในพื้นที่คัดค้าน เพราะการก่อสร้างดังกล่าวอาจจะทำให้บดบังทัศนียภาพของเมืองและทำให้ชุมชนถูกแบ่งแยกออกไปเป็น 2 ฝั่ง ขณะนี้อยู่ระหว่างการแก้ไขรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ตามที่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เสนอแนะ คาดว่าจะใช้เวลา 1-2 สัปดาห์

จุดที่สอง เป็นการแก้ไขแบบก่อสร้างสะพานข้ามรถไฟที่บ้านกุดกว้าง อ.เมือง จ.ขอนแก่น เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวต้องเข้าไปก่อสร้างในพื้นที่ของกรมทางหลวง ปัจจุบันได้มีการขยายถนนมิตรภาพและสะพานข้ามห้วยกุดกว้าง ทำให้ไม่สามารถสร้างตามสัญญาเดิมได้ ประกอบกับในสัญญาเดิมมีโครงสร้างบางส่วนล้ำเข้าไปในพื้นที่ของเอกชนที่ไม่ได้มีการเวนคืนไว้ ต้องปรับแก้สัญญาใหม่ร่วมกับกรมทางหลวง ปัจจุบันสามารถเข้าพื้นที่และก่อสร้างได้แล้ว

นายวรรณนพกล่าวอีกว่า ความพิเศษอีกอย่างของโครงการนี้คือ จะมีการก่อสร้างเพื่อแก้ปัญหาจุดตัดรถไฟ เพื่อช่วยลดอุบัติเหตุและลดปัญหาจราจรติดขัดในตัวเมืองของจังหวัดต่าง ๆ ด้วย จำนวน 114 จุด มี 4 รูปแบบ ได้แก่ 1.สะพานข้ามรถไฟ 8 แห่ง มีความคืบหน้า 33.8% 2.สะพานข้ามรางรถไฟรูปตัวยู 26 แห่ง คืบหน้า 58.3% 3.ทางลอดใต้รางรถไฟแบบท่อเหลี่ยม 79 แห่ง คืบหน้า 99.1% และ 4.ทางรถไฟยกระดับ 2 แห่ง ที่ขอนแก่น ระยะทาง 5.1 กม. แล้วเสร็จ 4.8 กม. ส่วนที่บ้านไผ่ ระยะทาง 2.1 กม. แล้วเสร็จ 0.63 กม.

ส่วนงานก่อสร้างสถานีทั้ง 18 แห่งขณะนี้คืบหน้าไปกว่า 47.1% สำหรับสถานีบ้านกระโดนงานโยธาถือว่าใกล้เสร็จสมบูรณ์แล้ว เหลือเพียงการติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ ส่วนสถานีรถไฟขอนแก่นมีความคืบหน้า 47.2% ซึ่งสถานีนี้จะมีขนาดใหญ่ที่สุด และจะเป็นศูนย์ควบคุมระบบของโครงการอีกด้วย

หากโครงการนี้ก่อสร้างแล้วเสร็จจะช่วยลดระยะเวลาการเดินทาง 2 จังหวัด จากชุมทางถนนจิระในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา-ขอนแก่น จาก 3 ชั่วโมง เหลือ 1 ชั่วโมง 20 นาที และช่วยลดเวลาการขนส่งสินค้าจากเดิม 6 ชั่วโมง เหลือเพียง 2 ชั่วโมง 30 นาที นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มปริมาณการขนส่งสินค้าจาก 4 แสนตันต่อปี เป็น 4 ล้านตันต่อปี และสามารถรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นจาก 2 ล้านคนต่อปี เป็น 10 ล้านคนต่อปี