ปลุกทีมไทยแลนด์ “รัฐ+เอกชน” ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ-สังคม-สิ่งแวดล้อมมุ่งโตยั่งยืน

ประทีป ตั้งมติธรรม ศุภาลัย
ประทีป ตั้งมติธรรม

เปิดศักราชไตรมาส 3/67 หลังจากผ่านความบอบช้ำจากอำนาจซื้อของผู้บริโภคที่ลดลง ผลประกอบการของธุรกิจห้างร้านที่ถดถอยแบบกู่ไม่กลับต่อเนื่องยาวนาน ล่าสุด ผู้บริหารระดับประเทศและเป็นหนึ่งในทำเนียบเจ้าสัวธุรกิจเมืองไทย “ประทีป ตั้งมติธรรม” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) นำเสนอบทความเรื่อง “การพัฒนาโครงสร้างเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม เพื่อให้ประเทศไทยเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน” มีสาระสำคัญที่น่าสนใจ ดังนี้

ถึงจุดเปลี่ยน “ประชากรศาสตร์”

ประเทศไทย หลาย ๆ คนบอกมองไม่เห็นอนาคต

ประเทศไทย กำลังถอยหลังเข้าคลอง

บางคนบอกว่า ไทย เป็นสังคมจมปลัก เศรษฐกิจเคยเติบโตเกิน 5% ต่อปี เดี๋ยวนี้เหลือประมาณ 2%

จำนวนประชากรไทยเริ่มทรงตัวและค่อย ๆ ลดน้อยถอยลง

จากสถิติของกระทรวงมหาดไทย พบว่า ณ สิ้นปี 2566 ประชากรไทยมีทั้งสิ้น 66.05 ล้านคน เป็นคนสัญชาติไทย 65.06 ล้านคน และเป็นต่างชาติ ประมาณ 990,000 คน คิดเป็น 1.5% ของประชากรทั้งหมด

Advertisment

จากการวิจัยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่าประชากรไทยอาจจะลดลงเหลือ 33 ล้านคน ในอีก 60 ปีข้างหน้า

เมื่อ 20 ปีที่แล้ว แต่ละครอบครัวจะมีลูก 2-3 คน เดี๋ยวนี้ครอบครัวไทยทั้งในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ทั่วประเทศ มีลูกเพียง 1 หรือไม่มีเลย โดยคนที่ไม่มีลูกหันไปเลี้ยงหมาหรือแมวแทน

Advertisment

เหตุผลสำคัญที่คนไทยยุคใหม่มีลูกน้อยลงนั้น หลัก ๆ คือเรื่องของเศรษฐกิจ ที่รายได้เพิ่มไม่ทันรายจ่าย ตามมาด้วยเรื่องเวลาการเดินทางไป-กลับที่ทำงาน ที่ใช้เวลามากขึ้น การแยกครอบครัวจากพ่อแม่ทำให้ไม่มีคนช่วยเลี้ยงลูก และอุปนิสัยที่หนุ่มสาวให้ความสนใจ คือ ความอิสระเสรี การท่องเที่ยว และบันเทิงเพิ่มขึ้น

ถึงแม้คนไทยจะมีอายุยืนยาวเพิ่มขึ้น แต่คนเกิดใหม่ลดลงมากกว่า จึงทำให้ประชากรคนไทยโดยรวมลดลง สังคมไทยจึงกำลังเปลี่ยนไปสู่สังคมสูงวัย และประชากรไทยที่ทำงานมีจำนวนลดลง อีกทั้งต้องแบกรับภาระเสียภาษีเพื่อเลี้ยงคนชราเพิ่มขึ้น ๆ

ไทยอยู่อันดับ 4 ในอาเซียน

หลาย ๆ คนบอกว่า เราก้าวไม่ทันโลกในเรื่องเทคโนโลยีใหม่ ๆ การศึกษาไทยมีความล้าหลังมาก ไม่ได้ตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานยุคดิจิทัล

หลาย ๆ คนบอกว่า ประเทศไทยไม่ใหญ่พอที่จะเอื้อให้อุตสาหกรรมมีความได้เปรียบในเชิงปริมาณ (Economy of Scale) อย่างจีน ที่จะผลิตสินค้าจำนวนมาก ๆ ซึ่งทำให้ต้นทุนต่อหน่วยลดลงมากได้

จำนวนประชากรไทย เป็นเพียงอันดับ 4 ในอาเซียน ตามหลังอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ซึ่งมีจำนวน 275.5, 115.6 และ 98.2 ล้านคน ตามลำดับ

หลาย ๆ คนบอกว่า คนไทย ชอบความสนุกสนานบันเทิง ไม่ขยัน ไม่อดทน ไม่มีระเบียบวินัย ไม่ชอบเรียนรู้หรือพัฒนาตนเองเหมือนอย่างคนจีน ญี่ปุ่น เกาหลี หรือเวียดนาม..

หลาย ๆ คนบอกว่า เมืองไทยมีปัญหาซึ่งเป็นหนามยอกอกของประเทศ คือ โกง ทุจริต คอร์รัปชั่น นิยมเส้นสาย เล่นพรรคเล่นพวก อยู่เหนือกฎหมายบ้านเมือง คุณธรรมความถูกต้อง และไม่ได้ยึดผลประโยชน์ของประเทศหรือส่วนรวมเป็นหลัก

คนชี้บอกปัญหาของประเทศมีพอสมควร แต่คนที่ช่วยชี้บอกแนวทางวิธีการป้องกันแก้ไขมีไม่มาก

พึ่งแรงงานต่างด้าวทุกระดับ

เริ่มจากเรื่องการขาดแคลนประชากร วิธีที่ง่ายที่สุดก็คือ การนำเข้า หรือ Import เราขาดแคลนแรงงาน เราก็นำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เมียนมา ลาว เขมร.. ส่วนคนที่เก่งและขยัน โดยเฉพาะคนที่เชี่ยวชาญเทคโนโลยียุคใหม่ ซึ่งเราขาดแคลน ผลิตได้น้อย อีกทั้งระบบการศึกษาเราก็ไม่เอื้อที่จะทำได้ในเวลาสั้น ๆ

การสร้างมาตรการจูงใจ ส่งเสริมให้คนต่างชาติเข้ามาทำงานและอยู่อาศัย จึงเป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งทุกประเทศไม่ว่าใหญ่หรือเล็กก็พยายามทำอยู่ ตัวอย่างประเทศใกล้เคียงที่ทำอยู่ เช่น สิงคโปร์ ที่มีมาตรการส่งเสริมจูงใจต่าง ๆ ให้เข้าไปอยู่อาศัย และทำงานเพื่อช่วยเสริมสร้างนำพาประเทศก้าวหน้าไปสู่โลกแห่งอนาคต..

ส่วนประเทศใหญ่ ๆ อย่างสหรัฐ สหราชอาณาจักร..ได้เปรียบที่มีอุตสาหกรรมและตลาดแรงงาน ที่เอื้อให้คนเก่งย้ายเข้าไปทำงานได้เป็นจำนวนมาก

ประเทศไทย ไม่ได้มีตลาดแรงงานที่จะรับคนไฮเทคมากมายก็จริง แต่เดี๋ยวนี้ คนทำงาน Online กันมากขึ้น ทำให้เกิด Digital Nomad จำนวนมาก ที่หาที่อยู่ที่ตัวเองชอบหรือที่ที่มีสิทธิพิเศษที่จูงใจ ที่จะอยู่อาศัยหรือลงหลักปักฐานในประเทศไทย รวมทั้งผู้ประกอบการแขนงต่าง ๆ

คนเก่งและคนขยันเหล่านี้นอกจากจะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีขั้นสูงแล้ว ยังช่วยพัฒนาประเทศไทยให้ก้าวหน้าไปสู่อนาคต และเป็นตัวอย่างที่ดีแก่หนุ่มสาวคนไทยที่จะเรียนรู้พัฒนาตนเองอีกด้วย

ยิงปืนนัดเดียวได้นก 3 ตัว

ประเทศไทยเราเน้นที่จะส่งเสริมการลงทุนที่นำเงินลงทุนเข้าประเทศและสร้างงานให้แก่คนไทยจำนวนมาก แต่เรายังไม่ได้เน้นการส่งเสริมที่มากพอ เพื่อจูงใจให้บุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ หรือคนเก่งคนขยันเข้ามาอยู่อาศัยและทำงานในประเทศไทย

คนต่างชาติที่เข้ามาอยู่อาศัยและทำงานในประเทศไทย ถึงแม้เราจะมีมาตรการจูงใจ ให้สิทธิพิเศษ ลดหย่อนภาษี.. แต่คนที่ย้ายเข้ามาอยู่อาศัยและทำงานในประเทศไทย แต่ละคนก็จะต้องจ่ายค่าใช้จ่ายประจำวัน ค่าอาหาร ค่าที่อยู่อาศัย ค่ารักษาพยาบาล การเดินทางท่องเที่ยว บันเทิง.. ทำให้เราได้มากกว่าส่วนลดภาษีหรือสิทธิพิเศษที่เราลดหย่อนให้เขา

การที่ชาวต่างชาติมาทำงาน ผู้ประกอบการแขนงต่าง ๆ รวมทั้งเศรษฐีนักลงทุน และผู้สูงวัยที่เกษียณแล้วเข้ามาอยู่อาศัยในประเทศไทย ถ้าเขาซื้อที่อยู่อาศัยในไทยด้วย ประเทศไทยก็จะเปรียบเสมือนยิงนกทีเดียวได้ 3 ตัว

กล่าวคือ เราได้ทั้งรายได้จากการส่งออกที่อยู่อาศัย (โดยที่สินค้านั้นยังคงอยู่ในประเทศ ไม่หายไป) เราได้เงินลงทุน เพราะเขานำเงินเข้ามาซื้อที่อยู่อาศัยในประเทศไทย และเราได้รายได้การท่องเที่ยวอย่างถาวร ดีกว่าที่นักท่องเที่ยวแต่ละคนจะมาเที่ยวประเดี๋ยวประด๋าวไม่กี่วัน

ที่จริง ถ้าเราปรับกฎเกณฑ์เล็กน้อย เราก็จะได้ใจคนเหล่านี้เพิ่มขึ้นมาก เช่น เขาสามารถเลือกไปอยู่ในอเมริกา อังกฤษ หรือสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งสามารถซื้อบ้านได้ง่าย ๆ ถ้าเราจะเอื้อให้เขาซื้อบ้านในโครงการจัดสรร เฉพาะในหัวเมือง 20 จังหวัด ที่เรากำหนดไม่เกินร้อยละ 49 ของนิติบุคคลบ้านจัดสรร

ส่วนการถือครองของชาวต่างชาติในอาคารชุด ปรับเกณฑ์จากไม่เกิน 49% เป็น 70% โดยส่วนที่เกิน 49% จะไม่มีสิทธิในการลงคะแนนเสียงนิติบุคคลอาคารชุด (Voting Right) เป็นต้น ก็จะเป็นมาตรการที่จูงใจคนเหล่านี้ว่าเราไม่ได้กีดกัน และพร้อมต้อนรับให้เขาเข้ามาอยู่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย

อนึ่ง การขยายระยะเวลาการเช่าที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ จากไม่เกิน 30 ปี เป็นไม่เกิน 60 ปี ก็จะเหมาะสมและเป็นประโยชน์กับทุกฝ่ายที่ถือที่เกี่ยวข้อง

ดึงต่างชาติมั่งคั่ง 1.8 แสนคน

ล่าสุด เราประมาณการว่า ประเทศไทยจะมีรายได้จากการท่องเที่ยวปีละ 2.52 ล้านล้านบาท ด้วยนักท่องเที่ยวประมาณ 36 ล้านคน หรือประมาณ 14 % ของรายได้ประเทศ (GDP) คือ 17.83 ล้านล้านบาท ถัวเฉลี่ยนักท่องเที่ยวจะใช้จ่ายคนละ 70,000 บาท

เราลองคิดดูว่า ถ้าประเทศไทยจะมีรายได้จากการที่ชาวต่างชาติเข้ามาซื้อที่อยู่อาศัยในประเทศไทย เท่ากับรายได้จากการท่องเที่ยวปีละ 2.52 ล้านล้านบาทต่อปี เราต้องหาคนเข้ามาอยู่อาศัย และซื้อที่อยู่อาศัย จำนวนกี่คน ?

ถ้าชาวต่างชาติใช้เงินซื้อที่อยู่อาศัยเฉลี่ยหน่วยละ 14 ล้านบาท จะเป็นจำนวนประมาณ 180,000 คนเท่านั้น หรือทุก ๆ คนที่ซื้อที่อยู่อาศัย จะเทียบเท่านักท่องเที่ยวถึง 200 คน ถ้าเรามีรายได้เข้าประเทศเพิ่มขึ้นถึง 2.52 ล้านล้านบาทต่อปี ถ้าเป็นอย่างนี้แล้วลองคิดดูว่า รายได้ประเทศหรือ GDP จะเติบโตเกินร้อยละ 10 ต่อปี ไปเป็นเท่าไร ?

กำลังซื้อต่างชาติ 1 : 200

คนไทยไม่มีใครคัดค้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ให้ชาวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวช่วงสั้น เพราะทำให้เราได้เงินที่นักท่องเที่ยวนำมาใช้จ่ายในประเทศไทย แต่ถ้าได้ชาวต่างชาติที่เข้ามาซื้อที่อยู่ถาวร (1 คน) ซึ่งเทียบเท่านักท่องเที่ยวที่เข้ามาชั่วคราวถึง 200 คน ตามเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น ย่อมต้องดีกว่าแน่นอน

เรามักจะมีคนห่วงและท้วงติงว่า จะเป็นการขายชาติไหม ? คนที่ทักท้วงจะบอกว่า ขายที่ดินหรือขายบ้าน คือขายชาติ แล้วการแต่งงานกับชาวต่างชาติเข้าข่ายขายชาติหรือไม่ แต่ถ้าแต่งกับชาวต่างชาติช่วงสั้น ๆ ไม่กี่วัน ก็กลับจะไม่เป็นไร เช่นนั้นหรือ ?

นอกจากนี้ จำนวน 180,000 คน เทียบกับประชากร 66 ล้านคน จะประมาณ 0.27% ซึ่งน้อยมาก และถึงจะไปรวมกับชาวต่างชาติที่มีอยู่แล้ว 1.5% ก็ยังคงน้อยมากอยู่ดี

เราดูตัวอย่างชาวต่างชาติที่เข้ามาอาศัยในประเทศไทยที่ผ่านมา พอผ่านไปยังรุ่นลูก ก็จะถูกประเพณีวัฒนธรรมไทยหล่อหลอมกลายเป็นคนไทยไป ทั้งยังช่วยเติมเต็มช่องว่าง หรือหลุมจำนวนประชากรวัยทำงานที่ลดต่ำลง อีกทั้งจะได้คนเก่งและขยันเข้ามาเสริมการพัฒนาประเทศให้ต่อเนื่องอย่างยั่งยืน

ดึงดูดด้วยกฎเกณฑ์ที่เป็นมิตร

เรามาลองดูว่าประเทศอื่น ๆ เปิดโอกาสให้ชาวต่างชาติเข้าไปอยู่อาศัยในประเทศเขา จำนวนเท่าไหร่บ้าง เช่น

ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มีชาวต่างชาติถึง 8.3 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 88.1% ของจำนวนประชากรทั้งหมด 9.44 ล้านคน

ปัจจุบันเป็นประเทศที่ชักชวนจูงใจให้เศรษฐีต่าง ๆ จากทั่วโลกเข้าไป ลงทุนและซื้อที่อยู่อาศัยได้มากที่สุดในโลก ทั้งที่อากาศร้อนและแห้งแล้งกว่าไทยมาก แต่คนเลือกไปอยู่เพราะว่าเป็นประเทศที่ปลอดภัย และมีกฎเกณฑ์ที่เป็นมิตรต่อชาวต่างชาติ

ประเทศสหราชอาณาจักร (อังกฤษ) มีชาวต่างชาติ 10.4 ล้านคน คิดเป็น 15.52% ของจำนวนประชากรทั้งหมด 66.97 ล้านคน

ประเทศฝรั่งเศส มีชาวต่างชาติประมาณ 7 ล้านคน คิดเป็น 10.3% ของจำนวนประชากรทั้งหมด 67.97 ล้านคน เป็นต้น

ประเทศดังกล่าวข้างต้น เขาทำไมไม่กลัวว่าจะเป็นการขายชาติ หรือจะถูกต่างชาติฮุบประเทศ แต่ประเทศยังคงเปิดกว้าง ก็ยิ่งได้คนดีคนเก่งเข้าไปช่วย ทำให้ประเทศเจริญเติบโตยิ่งขึ้น

ถ้าเราจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษจากรายได้การขายที่อยู่อาศัย 2.5 ล้านล้านบาท 1% ก็จะเป็นเงินถึง 2.5 หมื่นล้านบาทต่อปี เราสามารถนำเงินนี้ตั้งเป็นกองทุนช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ถ้าคิดว่าช่วยรายละ 1 แสนบาท จะช่วยผู้มีรายได้น้อยถึงปีละ 250,000 ครัวเรือน เพราะการมีที่อยู่อาศัยของประชาชน จะสร้างความมั่นคงเริ่มจากครอบครัว และมีผลต่อเนื่องไปสู่ความมั่นคงของสังคมและประเทศชาติด้วย

เมกะโปรเจ็กต์รัฐ-ของต้องมี

ที่กล่าวมา เป็นข้อเสนอแนะที่สำคัญวิธีหนึ่ง ที่จะปรับโครงสร้างเศรษฐกิจสังคมของประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน แต่รัฐบาลยังต้องเป็นผู้นำในการสร้างสรรค์พัฒนาสาธารณูปโภค สาธารณูปการต่าง ๆ ทั่วประเทศ ให้บังเกิดความสะดวกสบาย ปลอดภัย ที่เอื้อให้ชีวิตประชาชนคนไทยได้อยู่อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น เช่น เส้นทางคมนาคมต่าง ๆ สนามบิน สถานศึกษา โรงพยาบาล

โดยเฉพาะโครงการที่จะเสริมสร้างจุดแข็งของทำเลที่ตั้งของประเทศไทย ในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ที่เป็นศูนย์กลางของแหลมอินโดจีน เช่น การเร่งรัดโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อจากจีนไปยังสิงคโปร์ การส่งเสริมเส้นทางทั้งถนนและรถไฟไปยังประเทศเพื่อนบ้านอื่น ๆ และต่อเนื่องไปยังตะวันออกกลาง ก็จะจุดประกายความเป็นศูนย์กลางอินโดจีนของไทยให้สว่างไสวยิ่งขึ้น

โครงการแลนด์บริดจ์ (Land Bridge) ที่เชื่อมฝั่งอันดามันข้ามมายังอ่าวไทย ที่เสริมเพิ่มศักยภาพการขนส่งทางเรือระหว่างมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก เพิ่มจุดแข็งข้อต่อรองให้ประเทศไทยดีขึ้นในเวทีโลก

และระยะยาวควรพิจารณาว่าการสร้างเขื่อนกั้นน้ำทะเล เพื่อป้องกันน้ำทะเลท่วมกรุงเทพฯ โดยสันเขื่อนยังใช้เป็นเส้นทางเชื่อมต่อ Eastern Seaboard กับจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และต่อเนื่องกับ Land Bridge และ Southern Seaboard นั้น จะคุ้มค่าหรือไม่ หรือมีวิธีอื่น ๆ ที่ดีกว่า

การส่งเสริมให้ประเทศไทย เป็นสถานที่ที่จัดแสดง Expo หรือมหกรรมนานาชาติ การแข่งขันกีฬาประเภทต่าง ๆ ตลอดจนไปถึง Olympic การจัดงาน Art Biennale กระจายไปในหัวเมืองต่าง ๆ เหล่านี้ ล้วนผลักดันให้เกิดการพัฒนาในมิติต่าง ๆ ตั้งแต่อาคาร สถานที่ การยกระดับมาตรฐาน และการกระตุ้นประชาชนไทยให้มีความคิดสร้างสรรค์ที่หลากหลาย

ใช้สถาปัตยกรรม-ตัวจุดประกาย

รัฐบาลควรส่งเสริมโดยใช้สถาปัตยกรรมเป็นตัวจุดประกาย เช่นเดียวกับที่ประเทศสำคัญทั่วโลกได้ทำมาแล้ว เช่น การสร้างสนามกีฬาที่ทันสมัย โรงละครขนาดใหญ่ พิพิธภัณฑ์ระดับโลก หอชมวิว ฯลฯ ที่เป็นจุดขายใหม่ให้กับประเทศไทย

พื้นที่ดินของทางราชการที่ว่างอยู่ ทำเลดี ที่จะนำมาพัฒนาให้เป็นจุดขายดังกล่าวข้างต้นได้ดี เช่น ที่ดินท่าเรือคลองเตย ที่ดินแถวจตุจักรของการรถไฟฯ

ถ้าเราดูตัวอย่างย้อนหลังของประเทศต่าง ๆ ในโลกที่ใช้สถาปัตยกรรมเป็นตัวชูโรง เช่น หอไอเฟล ในปารีส ประเทศฝรั่งเศส, เทพีเสรีภาพ ในนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา, พระเยซูบนยอดเขาในรีโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล, Opera House ในซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย, Gardens by the Bay ประเทศสิงคโปร์, พิพิธภัณฑ์สมัยใหม่ต่าง ๆ Palm Jumeirah และตึกสูงที่สุด Burj Khalifa เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, ชิงช้าสวรรค์ยักษ์ หรือ London Eye ริมแม่น้ำเทมส์…. เป็นต้น

การส่งเสริม Soft Power เป็นอีกด้านหนึ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญและส่งเสริม ควรปลูกฝังความคิดสร้างสรรค์ในด้านต่าง ๆ ทั้งศิลปกรรม และวิทยาศาสตร์ ผ่านกิจกรรมการแข่งขันของเด็กและเยาวชนเพื่อกระตุ้นความสามารถที่ซ่อนเร้นให้ฉายแสงเปล่งประกายเฉิดฉาย

สิ่งต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้น เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาโครงสร้างของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ประเทศไทย ก้าวหน้าและเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน

ถึงเวลาแล้ว ที่เราจะต้องเปลี่ยนจาก มองแคบ คิดใกล้ เป็น มองกว้าง คิดไกล

ถึงเวลาแล้วที่คนไทยทุก ๆ คนจะมีส่วนร่วมในการช่วยคิด และช่วยกันทำให้เราไปสู่สิ่งที่เรามุ่งหวัง คือ ประเทศไทยที่เจริญเติบโตก้าวหน้าอย่างยั่งยืนยิ่ง ๆ ขึ้นไป