52 ปี 7.5 แสนหน่วย “การเคหะ” สู่ยุคสร้างบ้านสำหรับคนทุกช่วงวัย-Housing for All

การเคหะแห่งชาติ

แม้จะไม่ได้รับบทบาทเป็นเจ้าภาพดำเนินการโครงการบ้านเพื่อคนไทยของรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร

แต่ “กคช.-การเคหะแห่งชาติ” ก็ยังคงดำรงบทบาทสร้างบ้านสำหรับผู้มีรายได้น้อยและปานกลางต่อไป ตามภารกิจและความรับผิดชอบที่เกิดจากกฎหมายก่อตั้งองค์กร ล่าสุดครบรอบก่อตั้ง 52 ปี จัดสร้างโครงการเคหะต่าง ๆ มาแล้วมากกว่า 7.5 แสนหน่วย กระจายครอบคลุมทำเลทั่วไทย

5X5 ฝ่าวิกฤตประชากร

โดย “ทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ” ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ ระบุว่า การเคหะฯเป็นรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มีภารกิจหลักในการพัฒนาที่อยู่อาศัย ชุมชน และเมือง ควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยในชุมชน มีกำหนดครบรอบก่อตั้ง 52 ปี ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2568

เบ็ดเสร็จ พัฒนาโครงการสนองนโยบายทุกยุคทุกสมัยทั้งสิ้น 754,971 หน่วย อาทิ โครงการบ้านเอื้ออาทร เคหะชุมชน โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง และโครงการอาคารเช่า เป็นต้น

สำหรับการทำงานในปี 2567 ภายใต้การกำกับของ “วราวุธ ศิลปอาชา” รัฐมนตรีว่าการกระทรวง พม. มอบนโยบายสำคัญ “5X5 ฝ่าวิกฤตประชากร” ได้แก่ 1.เสริมพลังวัยทำงาน 2.เพิ่มคุณภาพและผลิตภาพของเด็กและเยาวชน 3.สร้างพลังผู้สูงอายุ 4.เพิ่มโอกาสและเสริมคุณค่าคนพิการ

และ 5.สร้างระบบนิเวศที่เหมาะสมเพื่อพัฒนาความมั่นคงของครอบครัว ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับการเคหะฯ นำมาสู่จุดโฟกัสการดำเนินงานเรื่องบ้านสำหรับคนทุกช่วงวัย (Housing for All) และชุมชนน่าอยู่สำหรับประชากรทุกกลุ่มวัย (Community for All)

ADVERTISMENT
ทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ การเคหะแห่งชาติ
ทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ

บ้านเช่าเฟิรสต์จ็อบ 1,200 บาท

ทั้งนี้ ปี 2568 รมว.พม. ผลักดัน 9 โครงการแฟลกชิปต่อยอดนโยบาย 5X5 ฝ่าวิกฤตประชากร โดยรับมอบภารกิจโครงการบ้านสำหรับคนทุกช่วงวัย (Housing for All) สาระสำคัญประกอบด้วย “โครงการบ้านตั้งต้น-First Jobber” นำอาคารเช่ามาให้กลุ่มคนวัยเริ่มทำงาน หรือ First Jobber เช่าราคาพิเศษ มีการคัดเลือกโครงการเด่นโซน กทม.-ปริมณฑล 8 โครงการ รวม 1,428 หน่วย ค่าเช่าเริ่ม 1,200 บาท/เดือน ผลดำเนินการระหว่าง 1 ธันวาคม 2566-30 กันยายน 2567 มีผู้ทำสัญญาเช่า 540 หน่วย

ยังมีอาคารเช่าพักอาศัยทั่วทุกภูมิภาคอีก 12 โครงการ ได้แก่ 1.สมุทรสาคร (กระทุ่มแบน 3) 2.นครสวรรค์ 2 ระยะที่ 2 3.มหาสารคาม 4.ลำปาง 5.สุรินทร์ (สลักได) 6.อุบลราชธานี 7.กาญจนบุรี 8.พังงา (ตะกั่วป่า) 9.ชลบุรี (แหลมฉบัง) ระยะที่ 1 10.สมุทรปราการ (บางพลี) 11.อุดรธานี (สามพร้าว) และ 12.เชียงใหม่ (หนองหอย) รวม 3,540 หน่วย

ADVERTISMENT

ปัจจุบันมีผู้ทำสัญญาเข้าอยู่อาศัยแล้ว 1,935 หน่วย ในปี 2568 อยู่ระหว่างการก่อสร้างอีก 5 โครงการ 1,594 หน่วย ได้แก่ 1.ลพบุรี ระยะที่ 1 2.พระนครศรีอยุธยา (โรจนะ) ระยะที่ 1 3.ฉะเชิงเทรา (บางปะกง) 4.หนองบัวลำภู และ 5.เพชรบุรี (โพไร่หวาน)

อัพเดตฟื้นฟูแฟลตดินแดง

ขณะที่โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ระยะที่ 2 ได้แก่ อาคาร D1 สูง 35 ชั้น 1 อาคาร รวม 612 หน่วย รองรับผู้อยู่อาศัยเดิมในเคหะชุมชนดินแดง อาคารแฟลตที่ 23-32 คืบหน้าก่อสร้างแล้วเสร็จและส่งมอบกุญแจให้กับผู้อยู่อาศัย เมื่อ 16 สิงหาคม 2567 จำนวน 397 ครัวเรือน คาดว่าจะบรรจุผู้อยู่อาศัยเต็มจำนวนเดือนมิถุนายน 2568

ส่วนอาคาร A1 สูง 32 ชั้น 1 อาคาร 635 หน่วย รองรับผู้อยู่อาศัยเดิมในเคหะชุมชนดินแดง แฟลตที่ 9-17 และแฟลตที่ 63-64 คืบหน้าการก่อสร้างร้อยละ 18.40 คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2569

ส่วนโครงการที่อยู่อาศัยประเภทขาย จัดโปรโมชั่นลดราคา 5-20% เป็นของขวัญปีใหม่ 2568 ให้กับประชาชนในนามกระทรวง พม. 102 โครงการ และลดราคาพิเศษบ้านเอื้ออาทร 47 โครงการ วางเงินจองเริ่มต้น 1,000 บาท ถึง 31 มีนาคม 2568 นี้

กรณีประชาชนที่ต้องการซื้อบ้านการเคหะฯแล้วกู้ไม่ผ่าน ยังมีโครงการสินเชื่อเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยรองรับ สถิติปี 2563-2567 อนุมัติสินเชื่อแล้ว 1,785.116 ล้านบาท สามารถช่วยเหลือกลุ่มผู้มีรายได้น้อยมีบ้านเป็นของตนเอง 2,758 ครัวเรือน แบ่งเป็น ลูกค้าทั่วไป 2,404 ราย และกลุ่มเปราะบาง 354 ราย

โดยปี 2568 การเคหะฯได้รับจัดสรรงบประมาณ 388.800 ล้านบาท คาดว่าจะปล่อยสินเชื่อได้ 648 ราย

เพิ่มดีกรียูนิเวอร์แซลดีไซน์

ภารกิจด้านความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) มีโครงการปรับปรุงที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ กลุ่มผู้มีรายได้น้อยและผู้ยากไร้ (บ้านสบายเพื่อยายตา) ณ ปี 2553-2567 มีทั้งสิ้น 512 หลัง โดยปี 2567 เพิ่มอีก 71 หลัง ใน 7 จังหวัด ที่พิจิตร ตราด ประจวบคีรีขันธ์ พะเยา ชัยภูมิ สตูล และสุพรรณบุรี ปี 2568 เปลี่ยนชื่อเป็น “โครงการปรับปรุงหรือสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุและกลุ่มเปราะบางเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดี” มีเป้าดำเนินการ 9 จังหวัด 30 หลัง

“ตลอด 52 ปีที่ผ่านมา การเคหะฯให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่อยู่อาศัย ควบคู่ยกระดับคุณภาพชีวิตในชุมชน โดยคำนึงตามเกณฑ์ NHA Eco Village เพื่อลดโลกร้อน รวมถึงการออกแบบในเชิงอารยสถาปัตย์ หรือ Universal Design โดยมีโควตาผู้สูงอายุ 10% ของจำนวนหน่วยทั้งหมด ปี 2568 นี้ จะเพิ่มสัดส่วนเป็น 20% ในอนาคตทยอยเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนครบ 100%”