“บีทีเอส”อัดแสนล้านลุย4รถไฟฟ้า ส้มหล่นรับสัมปทานสายสีทอง30ปี

บีทีเอสลุยแสนล้านรถไฟฟ้า 4 สาย 4 สี “เขียว-ชมพู-เหลือง-ทอง” ซื้อรถ 46 ขบวน ผุดสถานีใหม่ศึกษาวิทยา ยกเครื่องบริการ โละตู้ขายตั๋วจอสัมผัส อัพเกรดบัตรแรบบิทเชื่อมตั๋วร่วม EMV รับค่าจ้างเดินรถสายสีทอง 30 ปี เปิดบริการปี”63

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ BTSC เปิดเผย”ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัทจะใช้เงินลงทุน 102,265 ล้านบาท ในธุรกิจรถไฟฟ้า แยกเป็น ค่าก่อสร้างสายสีชมพู แคราย-มีนบุรี และสายสีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง 72,000 ล้านบาท ปีนี้เริ่มก่อสร้างเป็นปีแรก ใช้เงินลงทุน 20,000-25,000 ล้านบาท

รับผู้โดยสาร 1.1 ล้านคน 

อีกส่วนใช้ลงทุนด้านบริการของบีทีเอส เพื่อรับกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปและรองรับผู้โดยสารที่เพิ่มต่อเนื่อง เฉลี่ยต่อปี 2-5% จาก 7-8 แสนเที่ยวคนต่อวัน ซึ่งการเปิดใช้ส่วนต่อขยายสายสีเขียวแบริ่ง-สมุทรปราการจะเปิดเดือน ธ.ค.นี้ และหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต เปิดปี 2563 คาดทั้งระบบจะมีผู้โดยสารกว่า 1.1 ล้านเที่ยวคนต่อวัน

ที่ผ่านมาลงทุนแล้ว 27,000 ล้านบาท ติดตั้งระบบสายสีเขียวส่วนต่อขยายและซื้อรถใหม่ 46 ขบวน ขบวนละ 4 ตู้ รวม 184 ตู้ จาก บจ.ซีเมนส์ 22 ขบวน และ บจ.ซีอาร์อาร์ซี ฉางชุน เรลเวย์ เวฮิเคิล (CRRC) 24 ขบวน โดยรับมอบเมื่อ 5 ส.ค.ที่ผ่านมา เป็นของซีเมนส์ 1 ขบวน เตรียมวิ่งทดสอบเดือน ต.ค.-พ.ย. พร้อมให้บริการจริงสายสีเขียวต่อขยายแบริ่ง-สมุทรปราการ ในวันที่ 5 ธ.ค.นี้

อีก 21 ขบวนจะส่งมอบครบในเดือน เม.ย. 2562 ส่วนรถของจีนจะส่งมอบปลายปีนี้ 10 ขบวน ซึ่งจะครบหมดปลายปีหน้า จะทำให้บีทีเอสมีรถบริการทั้งระบบ 98 ขบวน รวม 392 ตู้ จากปัจจุบัน 52 ขบวน รวม 208 ตู้ จะจุผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้น 10% จากปัจจุบันขบวนละ 1,490 คน เป็น 1,573 คน

ซื้อรถ-สร้างสถานีเพิ่ม

“รถใหม่ที่ซื้อเพิ่มจะวิ่งเสริมสายปัจจุบันและส่วนต่อขยาย จุคนได้เพิ่มขึ้นเล็กน้อย เพราะดีไซน์เก้าอี้ให้มีพื้นที่ยืนและเพิ่มราวจับ แต่เพิ่มความถี่ได้ 50% ไม่ต้องรอนาน ปัจจุบันสายสุขุมวิทอยู่ที่ 2.40 วินาทีต่อขบวน จะเป็น 2.20 นาที แต่สายสีลมยังเท่าเดิม 3.45 นาที เพราะติดคอขวดที่สถานีตากสินที่เป็นรางเดี่ยว ซึ่งบีทีเอสและ กทม.จะลงทุน 1,100 ล้านบาท ขยายราง เพิ่มสถานีให้วิ่งสวนกันได้ โดยรอรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ผ่านอนุมัติปลายปีนี้ จากนั้นใช้เวลา 2 ปีก่อสร้าง จะเสร็จปลายปี”63 หรือต้นปี”64”

นายสุรพงษ์กล่าวและว่า นอกจากนี้จะลงทุนอีก 800 ล้านบาท สร้างสถานีสายสีลมเพิ่มที่สถานีศึกษาวิทยา อยู่ระหว่างสถานีช่องนนทรี-สถานีสุรศักดิ์ เพื่อลดความแออัดของผู้โดยสารที่สถานีช่องนนทรี ใช้เวลาก่อสร้าง 18 เดือน เริ่มสร้างปีนี้แล้วเสร็จปี 2563

ยกเครื่องตู้จำหน่วยตั๋ว

ด้านบริการ นายสุรพงษ์กล่าวว่า ได้ลงทุน 600 ล้านบาท เปลี่ยนบัตรโดยสารแบบเที่ยวเดียวจากแถบแม่เหล็กเป็นสมาร์ทการ์ดชนิดบางที่บางกว่าบัตรแรบบิทการ์ดหรือบัตรทั่วไป เพื่อรองรับการใช้งานสายสีเขียวส่วนต่อขยายและเตรียมไว้สำหรับสายสีชมพู แคราย-มีนบุรี และสีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง พร้อมเปลี่ยนตู้จำหน่ายตั๋วโดยสารอัตโนมัติทั้งหมด 200 ตู้ เป็นจอสัมผัส (touch screen) และติดตั้งตู้จำหน่ายตั๋วที่รับธนบัตรเพิ่มอีก 50 ตู้ ในสถานีต่าง ๆ โดยทยอยเปลี่ยน 8 สถานีแล้ว คือ สยาม ช่องนนทรี กรุงธนบุรี วงเวียนใหญ่ ตลาดพลู บางหว้า อุดมสุข แบริ่ง จะเสร็จในเดือน พ.ย.นี้

อัพเกรดบัตรรับตั๋วร่วม 

ขณะเดียวกันจะร่วมกับธนาคารทุกแห่ง เพื่อให้ผู้โดยสารที่มี QR code ซื้อตั๋วได้บนมือถือ นำร่องกับธนาคารกรุงเทพเป็นแห่งแรกก่อนปลายปีนี้ ทั้งอัพเกรดบัตรแรบบิทเป็น “บัตรแรบบิทพลัส” ให้รองรับระบบ EMV ของตั๋วร่วมที่จะใช้ปลายปีหน้า

“เทคโนโลยีเปลี่ยนเร็วมาก เมื่อก่อนรัฐคิดทำระบบตั๋วร่วม เราก็ MOU นำร่องด้วยบัตรแรบบิท ต่อมาเป็นระบบแมงมุม เราก็ลงทุนเซตระบบให้ ล่าสุดเปลี่ยนเป็น EMV ใช้บัตรเครดิตทุกธนาคารมาจ่ายค่าโดยสารได้ เราก็พร้อม”

ได้ดีลสายสีทอง

นายสุรพงษ์กล่าวถึงการเดินรถสายสีเขียวส่วนต่อขยายแบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-คูคตว่า ขณะนี้ กรุงเทพมหานคร (กทม.) เตรียมเปิดประมูล PPP ให้เอกชนร่วมลงทุน 30 ปี มูลค่าโครงการ 1.27 แสนล้านบาท เพื่อนำเงินมาชำระหนี้คืนการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ซึ่งบีทีเอสพร้อมลงทุนทั้งงานโยธาและค่างานระบบรูปแบบสัมปทาน หรือ PPP net cost โดยรวมสัมปทาน

ปัจจุบันจะครบกำหนดปี 2572 ส่วนต่อขยายเป็นสัมปทานเดียว และเก็บค่าโดยสารตามระยะทางเริ่ม 15 บาท เก็บเพิ่ม 3 บาท/สถานี อัตราสูงสุดอยู่ระหว่างพิจารณา แต่ กทม.กำหนดไม่เกิน 65 บาท

และเมื่อ 31 ก.ค.ที่ผ่านมา ได้เซ็นสัญญากับกรุงเทพธนาคม (เคที) วิสาหกิจของ กทม.ทำสัญญาจัดหา ให้บริการเดินรถ และซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าสายสีทอง ระยะที่ 1 สถานีกรุงธนบุรี-สำนักงานเขตคลองสาน ระยะทาง 1.7 กม. จำนวน 3 สถานี เป็นเวลา 30 ปี มูลค่า 13,520 ล้านบาท โดยบริษัทติดตั้งระบบด้วยงบฯ 765.59 ล้านบาท เริ่มงาน 1 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยใช้ระบบของบอมบาร์ดิเอร์ และสั่งผลิตขบวนรถแล้ว ตามสัญญาใช้เวลา 18 เดือน

นายกิติศักดิ์ อร่ามเรือง ประธานกรรมการ บจ.กรุงเทพธนาคม กล่าวว่า จะจ่ายค่าจ้างให้บีทีเอสเดินรถสายสีทองเป็นรายเดือนตลอด 30 ปี รวม 13,520 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างก่อสร้างจะใช้เวลา 30 เดือน พร้อมให้บริการปลายปี 2563 โดยเก็บค่าโดยสาร 16 บาทตลอดสาย ซึ่งโครงการนี้ กทม.นำเงินจากไอคอนสยามที่ซื้อโฆษณาพื้นที่สถานี 30 ปี วงเงิน 2,000 ล้านบาทมาลงทุน ถ้าแล้วเสร็จจะเชื่อมการเดินทางจากสถานีกรุงธนบุรี ไปยังศูนย์การค้าไอคอนสยาม และหอชมเมืองกรุงเทพฯได้สะดวก

รายได้พุ่ง 9 พันล้าน 

นายสุรพงษ์กล่าวอีกว่า ปัจจุบันธุรกิจรถไฟฟ้ายังเป็นรายได้หลักของบีทีเอสกรุ๊ป ในปีที่ผ่านมาสามารถทำรายได้รวม 9,112 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 115.1% หรือ 4,875 ล้านบาทจากปีก่อน มาจากการรับรู้รายได้จากการบริการรับเหมาติดตั้งระบบ ก่อสร้างและจัดหาขบวนรถสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็น 6,028 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 244.8% จากปีก่อน และรายได้จากการเดินรถและซ่อมบำรุงที่เพิ่มขึ้น 12% จากปีก่อน เป็น 1,865 ล้านบาท

“ปีที่ผ่านมา BTS มีผู้โดยสารรวม 241.2 ล้านเที่ยวคน เพิ่ม 1.3% ปีนี้คาดว่าผู้โดยสารจะเติบโต 4-5% จากปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 7-8 แสนเที่ยวคนต่อวัน เพราะจะเปิดสายแบริ่ง-สมุทรปราการเดือน ธ.ค.นี้ คาดจะมีผู้โดยสาร 97,100 เที่ยวคนต่อวัน” นายสุรพงษ์กล่าว