“อาคม” ชูรถไฟทางคู่เด่นชัย-เชียงของ พลิกโฉมเชียงรายฮับภาคเหนือ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 9 สิงหาคม 2561 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานเปิดงานสัมมนาสร้างการรับรู้และความเข้าใจโครงการก่อสร้างทางรถไฟสายเด่นชัย – เชียงราย – เชียงของ เพื่อนำข้อมูลวัตถุประสงค์การก่อสร้างโครงการฯ ประโยชน์ของโครงการฯ และการเตรียมความพร้อมในทุกภาคส่วน เพื่อรองรับการพัฒนาโครงการฯ พร้อมทั้งรับฟังข้อคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมสัมมนา

โดยนายอาคมกล่าวเปิดงานและปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “กระทรวงคมนาคมกับการขับเคลื่อน จังหวัดเชียงราย มุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ ของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือ” โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับแนวนโยบายในการพัฒนาด้านคมนาคมขนส่งในภาคเหนือของประเทศไทยทุกโหมดการเดินทาง

โดยเฉพาะระบบรางที่จะเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาเศรษฐกิจภาคเหนือ จากนั้นจึงเป็นการเสวนาแลกเปลี่ยนมุมมองจากภาคส่วนต่างๆ ในจังหวัดเชียงราย หัวข้อ “ภาคเหนือเร่งเครื่อง เดินหน้า คว้าโอกาส…รถไฟสายใหม่ เด่นชัย – เชียงราย – เชียงของ” โดย นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการถไฟแห่งประเทศไทย ที่จะมาพูดถึงข้อมูลเบื้องต้นของโครงการ ประโยชน์ของประเทศไทย และที่สำคัญประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับคนเชียงราย บทบาทของ รฟท. ในการเร่งรัด ผลักดันให้โครงการนี้เดินหน้าต่อไป

นอกจากนี้ ยังมีการแลกเปลี่ยนมุมมองความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ ในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็น นายสมบูรณ์ ศิริเวช รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ที่มาพูดถึงรถไฟสายประวัติศาสตร์ที่ชาวเชียงรายรอคอยมากว่า 50 ปี ตลอดจนการเตรียมความพร้อมของจังหวัดเชียงราย หากมีการกระตุ้นเศรษฐกิจจากหลากหลายช่องทาง และวิทยากรอีก 3 ท่าน คือ นายพรเทพ อินทะชัย ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงราย นายฉัตรชัย พัฒนานุภาพ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงราย และ นายกิตติ ทิศสกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดเชียงราย ที่จะมาพูดถึงทิศทางการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงราย และความต้องการ ตลอดจนเงื่อนไขการพัฒนาที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างให้จังหวัดเชียงรายเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาค

สำหรับโครงการรถไฟทางคู่สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ เป็นหนึ่งในแผนงานของแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ.2558-2565 และล่าสุดคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติโครงการก่อสร้างเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคมที่ผ่านมา กระทรวงคมนาคม โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย จึงเร่งรัดโครงการให้แล้วเสร็จได้ในปี 2566 ด้วยมูลค่าโครงการ 85,345 ล้านบาท

โดยโครงการฯ มีจุดเริ่มต้นที่สถานีเด่นชัย จังหวัดแพร่ มุ่งไปทางทิศเหนือผ่านพื้นที่ 59 ตำบล 17 อำเภอ 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดแพร่ ลำปาง พะเยา และสิ้นสุดที่ด่านพรมแดนเชียงของ จังหวัดเชียงราย รวมระยะทาง 323.10 กม. มีสถานีทั้งสิ้น 26 สถานี ประกอบด้วย สถานีขนาดใหญ่ 4 สถานี สถานีขนาดเล็ก 9 สถานี และป้ายหยุดรถ 13 แห่ง โดยมีลานขนถ่ายสินค้าจำนวน 4 แห่ง และย่านกองเก็บและบรรทุกตู้สินค้า 1 แห่ง ที่สถานีเชียงของ บนพื้นที่ 150 ไร่ พร้อมแนวถนนเชื่อมต่อด่านชายแดนเชียงของ

โครงการนี้ มีจุดเด่นที่สำคัญคือเป็นโครงการที่ก่อสร้างโดยไม่มีจุดตัดทางแยกรถไฟเพื่อเพิ่มความปลอดภัย โดยมีการออกแบบรั้วกั้นเขตแนวสายทางของการรถไฟฯ และออกแบบสะพานรถไฟ สะพานรถยนต์ข้ามทางรถไฟ ทางรถยนต์ลอดรถไฟ ทางเชื่อมรวมและกระจายจราจร ตลอดจนสะพานลอย ทางเท้า และทางรถจักรยานยนต์ข้ามและลอดทางรถไฟ รวมประมาณ 254 จุด ตลอดแนวเส้นทาง และยังมีอุโมงค์คู่ตามแนวเส้นทางที่พาดผ่านพื้นที่ภูเขา รวมระยะทางประมาณ 13.9 กม. เพื่อให้สามารถเพิ่มระดับความเร็วในการเดินทางขนส่งได้อย่างปลอดภัยด้วย

เมื่อโครงการนี้ ดำเนินการแล้วเสร็จและเปิดให้บริการในปี 2566 จะรองรับผู้โดยสารได้ถึง 5,600 คน/วัน และรองรับได้ถึง 9,800 คน/วัน ในปี 2595 สร้างอัตราการเติบโตของผู้โดยสารได้ถึงร้อยละ 1.95 ต่อปี และอัตราการเติบโตของสินค้าประมาณร้อยละ 4.65 ต่อปี นอกจากนี้ ยังสามารถรองรับปริมาณตู้สินค้าได้ถึง 413,417 ทีอียูต่อปี ในปี 2566 และเพิ่มเป็น 951,955 อีทียูต่อปี ในปี 2595 ซึ่งจะช่วยเพิ่มอัตราการเติบโตของมูลค่าการนำเข้า-ส่งออกผ่านด่านเป็นร้อยละ 30-40 ต่อปี โครงการนี้จึงเป็นเส้นทางสำคัญเพื่อเชื่อมเศรษฐกิจแนวเหนือ-ใต้ เชื่อมอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขง เชื่อมต่อกับเส้นทางรถไฟของ สปป.ลาว ที่จะมุ่งตรงสู่เมืองคุนหมิง สาธารณรัฐประชาชนจีน และยังสามารถขนถ่ายสินค้าออกสู่ทะเลทางท่าเรือแหลมฉบังได้ด้วย รองรับนโยบายจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเชียงราย (SEZ) เป็นการเติมเต็มประสิทธิภาพโครงข่ายการคมนาคมของไทยให้สมบูรณ์ และเป็นการพลิกโฉมจังหวัดเชียงรายให้เป็น Logistics City ของภูมิภาคในอนาคตอีกด้วย