รีวิวเมกะโปรเจ็กต์ “สถานีกลางบางซื่อ” เสร็จ พ.ย.นี้ ปีหน้าทดสอบเดินรถไฟฟ้า

คอลัมน์ เวนคืนอัพเดต

ใกล้ความเป็นจริงเข้ามาทุกขณะ “รถไฟฟ้าสายมาราธอน” สายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต ระยะทาง 26 กม. ซึ่ง “ร.ฟ.ท.-การรถไฟแห่งประเทศไทย” เปิดไซต์ก่อสร้างไปตั้งแต่เดือน ก.พ. 2556 ด้วยวงเงิน 93,950 ล้านบาท ถึงปี 2562 ก็ใช้เวลาร่วม 6 ปี ในการก่อสร้าง

จากความล่าช้า “ร.ฟ.ท.” ต้องขยับไทม์ไลน์เปิดบริการหลายรอบ ล่าสุด หยุดอยู่ที่เดือน ม.ค. 2564 เป้าหมายไม่ใช่แค่เปิดเดินรถสายสีแดงบางซื่อ-รังสิต ยังรวมถึงปัดฝุ่นโครงสร้างสายสีแดงช่วง “บางซื่อ-ตลิ่งชัน” ที่สร้างเสร็จตั้งแต่ปี 2555 ได้ใช้งานหลังปล่อยร้างมานาน โดยมี “สถานีกลางบางซื่อ” เป็นจุดเปลี่ยนถ่ายการเดินทาง

กล่าวถึง “สถานีกลางบางซื่อ” มีพื้นที่กว่า 400 ไร่ หากเปิดดำเนินการในปี 2564 จะเป็นสถานีระบบรางที่ใหญ่และทันสมัยที่สุดในอาเซียน และโปรเจ็กต์แรกของประเทศไทยที่ใช้โมเดลการพัฒนาพื้นที่โดยรอบศูนย์กลางคมนาคม (TOD) จากต่างประเทศมาเป็นโมเดลต้นแบบพัฒนาพื้นที่โดยรอบรองรับการเดินทาง

ปัจจุบันงานก่อสร้างคืบหน้ากว่า 70.86% รูปแบบสถานีเป็นอาคาร 3 ชั้น ชั้นใต้ดิน เป็นพื้นที่จอดรถ 1,700 คัน มีพื้นที่รวม 72,542 ตร.ม. มีโถงเชื่อมขึ้นไปชั้นที่ 1 เป็นชั้นจำหน่ายตั๋ว มีพื้นที่รวม 86,700 ตร.ม. มีโถงพักคอยและรับผู้โดยสาร รวมถึงพื้นที่พาณิชยกรรมและร้านค้า สามารถเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าใต้ดิน

ชั้นที่ 2 เป็นชานชาลารองรับรถไฟชานเมืองสายสีแดง มี 4 ชานชาลา และรถไฟทางไกล มี 8 ชานชาลา มีพื้นที่รวม 42,000 ตร.ม. จะสามารถเปิดใช้ปี 2564 โดยที่ชั้น 1 และชั้น 2 มีชั้นลอยซึ่งเป็นร้านค้าและห้องควบคุมมีพื้นที่รวม 12,020 ตร.ม.

ชั้นที่ 3 มีพื้นที่รวม 42,300 ตร.ม. เป็นชานชาลารองรับรถไฟขนาดรางมาตรฐาน 1.435 เมตร เชื่อมภูมิภาค มีทั้งหมด 10 ชานชาลา แบ่งเป็นรถไฟสายใต้ 4 ชานชาลา รถไฟสายเหนือ และสายอีสานรวม 6 ชานชาลา ยังสามารถรองรับรถไฟความเร็วสูงในอนาคตและรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบินได้อีก 2 ชานชาลา จะมีทางเดินเชื่อมต่อกับสถานีบางซื่อของสายสีน้ำเงิน

“อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ย้ำไทม์ไลน์ว่า สถานีกลางบางซื่อจะสร้างเสร็จในเดือน พ.ย.นี้ ส่วนสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน อยู่ระหว่างติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ ซึ่งขบวนรถใหม่ 2 ขบวนแรกที่ผลิตจากประเทศญี่ปุ่นจะมาถึงในเดือน ส.ค.นี้ เพื่อทดสอบระบบ จากนั้นต้นปีหน้าจะทยอยมาถึงอีก คาดว่าจะทดสอบเดินรถเต็มระบบได้ในเดือน มิ.ย. 2563

“นายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) มีข้อสั่งการให้เพิ่มเติมในเรื่องของการเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนที่จะอำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถเข้ามาใช้งานพื้นที่ภายในสถานีกลาง”

ในเบื้องต้นการเชื่อมต่อกับระบบรถไฟฟ้าที่อยู่ใกล้เคียง 2 ระบบ คือ สถานีบางซื่อของสายสีน้ำเงินขณะนี้ได้เจาะอุโมงค์เชื่อมต่อเสร็จแล้ว และสถานีหมอชิตของสายสีเขียวยังไม่สรุป

มี 2 แนวทางที่กำลังตัดสินใจอยู่ 1.สร้าง sky walk ระยะทาง 1 กม. และ 2.พัฒนาระบบขนส่งรองภายในพื้นที่ เช่น รถเมล์หรือโมโนเรล โดย ร.ฟ.ท.เป็นผู้ลงทุนและตัดสินใจ

“สถานีกลางบางซื่อจะไม่เหมือนกับสถานีหัวลำโพง จะมีการพัฒนาพื้นที่บริเวณนี้ทั้งหมดเป็นโซน ๆ เริ่มจากแปลง A ส่วนโซนอื่น ๆ อยู่ในขั้นตอนการเปิดให้เอกชนเข้ามาลงทุน และบริเวณนี้จะมีสวนสาธารณะ 700 ไร่ ด้านการพัฒนาโครงสร้างอื่น ๆ เช่น ระบบไฟฟ้าภายในสถานีกลางบางซื่อ อาจจะเปิดให้เอกชนเข้ามาลงทุน”

ยังมีเรื่องการบริหารจัดการสถานีที่ ร.ฟ.ท.ได้เตรียมดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นด้านการเดินรถ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างเสนอ คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา งานซ่อมบำรุงตัวรถ อยู่ระหว่างคัดเลือกเอกชนร่วมดำเนินการ งานด้านซ่อมบำรุงอาคารและสิ่งอำนวยความสะดวก อยู่ระหว่างคัดเลือกเอกชน

ส่วนการบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์แนวสายสีแดง ร.ฟ.ท.จะเป็นผู้ดำเนินการในสถานีกลางบางซื่อ ดอนเมือง และรังสิต ส่วนสถานีอื่น ๆ อยู่ระหว่าง รอคัดเลือกเอกชนร่วมดำเนินการ


โดยสายสีแดงในปีแรกเปิดบริการจะมีผู้โดยสารมาใช้บริการ 300,000 คน/วัน เพราะสามารถรองรับการเดินทางระบบรางทุกประเภท ทั้งรถไฟชานเมือง รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ และรถไฟความเร็วสูง และยังสามารถเชื่อมโยงการเดินทางกับสายสีน้ำเงิน สีชมพู สีเขียว เป็นการพลิกโฉมการเดินทางด้วยระบบรางของประเทศไทยในอีก 2 ปีข้างหน้า