การรถไฟฯ จับมือรฟม. และคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ทุ่ม 2 พันล้านผุดตึกผู้ป่วยนอกสูง15ชั้นบนสถานีรถไฟฟ้าสายสีแดง และสายสีส้ม เผยออกแบบเสร็จแล้ว คาดใช้เวลาก่อสร้าง3ปี พร้อมมีแผนทำทางเชื่อม (Sky Walk) ด้วย
เมื่อวันที่ 2 พ.ค.2562 เวลา 10.00 น. นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ร่วมกันลงนามบันทึกความเข้าใจความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือเพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างสถานีร่วมศิริราชและอาคารรักษาพยาบาล
นายอาคมเปิดเผยว่า การลงนามครั้งนี้เป็นการลงนามร่วมกัน 3 ฝ่าย ได้แก่ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล เพื่อร่วมกันออกแบบก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าและอาคารรักษาผู้ป่วยร่วมกัน
แบ่งเป็นฝั่งของกระทรวงคมนาคม มี 2 โครงการที่จะต้องมาร่วมกันออกแบบ คือ โครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน – ศิริราช ระยะทาง 5.7 กม. เงินลงทุน 6,645 ล้านบาท และสายสีส้มตะวันตก ช่วงศูนย์วัฒนธรรม – บางขุนนนท์ ซึ่งทั้งสองเส้นทางจะมีสถานีร่วมกันอยู่ที่บริเวณโรงพยาบาลศิริราช ประกอบกับทางโรงพยาบาลก็มีแผนจะก่อสร้างอาคารผู้ป่วยนอกหลังใหม่ จึงมีความเห็นร่วมกันที่จะออกแบบสถานีและอาคารร่วมกัน
“สัดส่วนการลงทุนแบ่งเป็น ร.ฟ.ท.และ รฟม.ออกแบบและลงทุนในส่วนของสถานีที่จะเชื่อมกับโรงพยาบาล ส่วนโรงพยาบาลศิริราชจะลงทุนก่อสร้างตึก 15 ชั้นทั้งหมดเอง”
สำหรับรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2566 ส่วนสีส้มตะวันตกจะก่อสร้างแล้วปี 2569 นอกจากนี้ในอนาคตจะมีแผนให้เกิดการเชื่อมต่อกับท่าเรือในอนาคต เพื่อการเดินทางไร้รอยต่อ
ด้าน ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า โรงพยาบาลประสบปัญหาต้องรองรับผู้ป่วยนอกวันละ 8,000 – 10,000 คน/วัน ซึ่งโครงการก่อสร้างอาคารดังกล่าวจะตอบโจทย์ปัญหาได้ถึง 3 ข้อ คือ ลดเวลาเดินทาง เพราะปัจจุบันรอบโรงพยาบาลประสบปัญหาจราจรติดขัด จนทำให้ผู้ป่วยมาไม่ทันตามนัดหลายราย ต้องเสียเวลานัดใหม่
แต่หากมีโครงการนี้แล้วคาดว่าจะช่วยให้ปัญหาดังกล่าวบรรเทาขึ้น, เมื่อสามารถมาถึงในเวลาได้ การให้บริการก็จะดีขึ้น และจะทำให้ลดปริมาณผู้ป่วยแออัดภายในโรงพยาบาลได้ โดยตึกนี้จะรองรับผู้ป่วยที่ต้องรับการผ่าตัดและผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็ง ความแออัดภายในโรงพยาบาลจึงน่าจะลดลงได้ ส่วนปัญหาคลื่นสัญญาณแม่เหล็กจากรถไฟฟ้าทั้ง 2 สายรบกวนอุปกรณ์ทางการแพทย์นั้น ยืนยันว่าจะไม่มีปัญหาดังกล่าวแน่นอน
ปัจจุบันอาคาร 15 ชั้น ออกแบบเสร็จเรียบร้อยแล้ว งบประมาณก่อสร้างขณะนี้อยู่ที่ประมาณ 2,000 ล้านบาท ชั้น 1-2 จะเป็นพื้นที่ส่วนของสถานีในรูปแบบคองคอร์ดเชื่อมสถานีกับอาคาร ส่วนชั้นที่ 3-15 จะเป็นส่วนของโรงพยาบาลทั้งหมด สามารถรองรับผู้ป่วยได้ 10,000 ราย/วัน
ขั้นตอนต่อไปจะเสนอรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) คาดว่าจะใช้เวลาพิจารณาประมาณ 6 เดือน หลังจากนั้นจะเป็นขั้นตอนของการประกวดราคาแบบ e-bidding แต่จะต้องรอให้รายงาน EIA ผ่านการพิจารณาก่อน จึงจะเริ่มกระบวนการประกวดราคาและก่อสร้างตมลำดับ คาดว่าใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปี
นอกจากนี้โรงพยาบาลมีแผนทำทางเชื่อม (Sky Walk) จะเป็นเนื้องานที่แยกออกจากแผนนี้ ระยะทางประมาณ 100 เมตร เชื่อมระหว่างโรงพยาบาลฝั่ง ถ.อรุณอัมรินทร์เข้ามาภายในของพื้นที่โรงพยาบาลศิริราช