เวนคืนที่ดิน’บางเลน-นครชัยศรี’ ผุดสนามบินใหม่ 2.5 หมื่นล้าน

ถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เร่งผลักดันลงทุนสนามบินแห่งใหม่ในภูมิภาค
“ถาวร” เร่งขยายสนามบินภูมิภาค 28 แห่ง 3.5 หมื่นล้าน หนุนเที่ยวเมืองรอง บูมเศรษฐกิจชายแดน ทุ่ม 2.5 หมื่นล้าน เวนคืนที่ดิน อ.บางเลน-นครชัยศรี 3,500 ไร่ ผุดสนามบินใหม่ เปิดน่านฟ้านครปฐม รับไพรเวตเจ็ตอาเซียน ปักธงต่อ “สตูล-พัทลุง-มุกดาหาร-บึงกาฬ” เบตงเตรียมบิน มิ.ย. 63

นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตนได้สั่งการให้กรมท่าอากาศยาน (ทย.) เร่งลงทุนพัฒนาสนามบินแห่งใหม่ และเพิ่มความสามารถสนามบินที่อยู่ในความดูแลของ ทย. 29 แห่ง รวมทั้งสนามบินเบตง จ.ยะลา ที่จะเปิดบริการในเดือน มิ.ย. 2563 เพื่อสนับสนุนนโยบายรัฐบาลที่จะส่งเสริมการท่องเที่ยว55 เมืองรอง รวมถึงการค้า การลงทุนเศรษฐกิจพิเศษชายแดน และอุตสาหกรรมการบินในภูมิภาค ที่เติบโตต่อเนื่อง ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการสนามบินภูมิภาคเฉลี่ยอยู่ที่ 28 ล้านคน/ปี

“ถาวร” สั่งลุยสนามบินภูธร

“จากนี้ไปจะเดินหน้าทุกโครงการในแผน 10 ปี วงเงินลงทุนกว่า 34,507 ล้านบาท ให้เกิดความต่อเนื่องจากรัฐบาลชุดที่แล้วที่กำหนดนโยบายไว้ แต่ให้หาพื้นที่ใหม่เพิ่มให้ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ของประเทศ ให้สามารถสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวได้มากขึ้น จะใช้เงินทุนหมุนเวียนของกรม มีรายได้จากค่าธรรมเนียมการใช้สนามบินปีละกว่า 1,000 ล้านบาท และงบประมาณที่ได้รับจากรัฐในปี 2563 ยื่นขอไปกว่า 10,000 ล้านบาท สำหรับลงทุนโครงการต่อเนื่อง และโครงการใหม่อีก 5,000 ล้านบาท”

นายถาวร กล่าวว่า สำหรับแผน 10 ปี แบ่งพัฒนา 2 ระยะ ระยะที่ 1 (2561-2565) วงเงิน 27,248 ล้านบาท ปรับปรุง 17 สนามบิน ได้เแก่ 1.ภาคเหนือ 2,529 ล้านบาท ที่ จ.ลำปาง, แพร่, แม่สอด จ.ตาก 2.ภาคอีสาน 4,692 ล้านบาท ที่ จ.เลย, สกลนคร, อุดรธานี, อุบลราชธานี, ร้อยเอ็ด, ขอนแก่น, บุรีรัมย์ และ 3.ภาคใต้ 20,027 ล้านบาทที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์, สุราษฎร์ธานี, นครศรีธรรมราช, กระบี่, ตรัง, นราธิวาส และเบตง จ.ยะลาและระยะที่ 2 (2566-2570) วงเงิน 7,259 ล้านบาท ปรับปรุง 8 สนามบิน ได้แก่ 1.ภาคเหนือ 732 ล้านบาท ที่ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน และ จ.แพร่ 2.ภาคอีสาน 5,158 ล้านบาท ที่ จ.สกลนคร, เลย, อุดรธานี, อุบลราชธานี และร้อยเอ็ด และ 3.ภาคใต้ 1,369 ล้านบาท ที่ จ.สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช

“ตั้งเป้าในปี 2580 จะรองรับผู้โดยสาร 50 ล้านคน/ปี และเที่ยวบิน 55,000 เที่ยวบิน/วัน เพิ่มขึ้นจากปี 2561 อยู่ที่19.5 ล้านคน และจำนวนเที่ยวบิน 21,480 เที่ยวบิน/วัน”

ทุ่ม 2.5 หมื่นล้าน ปักหมุดสนามบินนครปฐม

นายถาวร กล่าวว่า สำหรับสนามบินที่จะสร้างใหม่มีสนามบินนครปฐม ล่าสุดบริษัทที่ปรึกษาศึกษาความเหมาะสมโครงการแล้ว พบว่ามีความคุ้มค่าในการลงทุน เพราะช่วยบรรเทาความแออัดของสนามบินสุวรรณภูมิ และดอนเมืองที่มีผู้ใช้บริการร่วม 120 ล้านคน/ปี โดยจุดก่อสร้างจะเป็นพื้นที่รอยต่อของ 2 อำเภอคือ ต.บางระกำ, ต.ลำพญา อ.บางเลน และ ต.บางแก้วฟ้า, ต.บางพระ และ ต.วัดละมุด อ.นครชัยศรี จะใช้พื้นที่ก่อสร้าง 3,500 ไร่ ใช้เงินลงทุนหลายหมื่นล้านบาทเพราะจะมีเวนคืนและซื้อที่ดินเพื่อก่อสร้าง

“พื้นที่จะใช้ก่อสร้างมีประชาชนบางส่วนคัดค้านเพราะจะได้รับผลกระทบต่ออาชีพเกษตรกรรม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังเร่งชี้แจงทำความเข้าใจเพราะยังมีขั้นตอนอีกมาก ต้องนำเสนอกระทรวงคมนาคม สภาพัฒน์ คณะรัฐมนตรี (ครม.) หากได้รับอนุมัติจึงจะเดินหน้าโครงการได้”

แหล่งข่าวจากกรมท่าอากาศยาน เปิดเผยว่า ตามแผนที่วางไว้สนามบินนครปฐมจะใช้เงินลงทุน 25,000 ล้านบาทเนื่องจากราคาที่ดินมีการปรับตัวสูงขึ้นจากเดิมมาก จากที่มีโครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจนบุรี จุดก่อสร้างจะมีการเวนคืนที่ดิน 400 แปลง จะก่อสร้างทางวิ่ง 1 แห่ง ความยาว 2,500 เมตร และอาคารผู้โดยสาร การลงทุนอยู่ระหว่างศึกษา มี 3 ทางเลือก คือรัฐลงทุน เอกชนลงทุน และรัฐกับเอกชนร่วมกันลงทุนแบบ PPP จะมีการจัดทดสอบความสนใจเอกชนในเดือน ธ.ค. 2562 นี้

รองรับไพรเวตเจ็ต

“เมื่อผลศึกษาเสร็จเรียบร้อยจะต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ในปี 2563 จากนั้นจะเสนอกระทรวงคมนาคม และ ครม.พิจารณา เพราะมีมูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาท ตามแผนจะเริ่มเวนคืนปี 2564-2565 ก่อสร้างปี 2566-2568 เปิดบริการปี 2569 ในปีแรกจะมีผู้โดยสาร 2 ล้านคน/ปี จากขีดความสามารถที่รองรับได้ถึง 20 ล้านคน/ปี”

แหล่งข่าวกล่าวว่า สนามบินนครปฐมจะรองรับการบินทั่วไปที่ไม่ใช่สายการบินพาณิชย์ เช่น เครื่องบินส่วนตัว หรือไพรเวตเจ็ต เป็นต้น ทั้งเส้นทางในประเทศและระหว่างประเทศในแถบอาเซียน ซึ่ง จ.นครปฐมมีความเหมาะสมและสะดวกในการเดินทาง มีโครงข่ายคมนาคมรองรับ เช่น มอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจนบุรี วงแหวนถนน รอบที่ 3 มอเตอร์เวย์ ชลบุรี-สระบุรี-นครปฐม

เล็งพัทลุง-สตูลหนุนเที่ยวใต้

นายถาวรกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังศึกษาสร้างสนามบินสตูลจากเดิมที่มีอยู่แล้วใน อ.เมืองสตูล แต่จะขยายและเปิดบริการการบินเชิงพาณิชย์ ส่งเสริมการท่องเที่ยวทะเลฝั่งอันดามัน-เกาะหลีเป๊ะ และยังเป็นอุทยานธรณีโลก พร้อมกับให้ศึกษาความเป็นไปได้ก่อสร้างสนามบินจังหวัดพัทลุง บริเวณ ต.ควนมะพร้าว อ.เมืองพัทลุง พื้นที่ศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง เนื้อที่ 1,400 ไร่ และแปลงใกล้เคียง รวมเบ็ดเสร็จ 1,964 ไร่ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวด้านธรรมชาติ

ปัจจุบันกำลังขยายสนามบินเดิมให้รองรับผู้โดยสารและเครื่องบินลำใหญ่ได้มากขึ้น เช่น กระบี่ มีพื้นที่ 2,000 ไร่ วงเงิน 2,923 ล้านบาท ปรับปรุง 2 อาคารผู้โดยสารเดิม และสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 ลานจอดอากาศยาน และที่จอดรถ จะแล้วเสร็จในเดือน ธ.ค. 2565 ทั้ง 3 อาคารจะมีพื้นที่ 26,200 ตร.ม. รับผู้โดยสารได้ 8 ล้านคน/ปี รับเครื่องบิน 737 ได้ 30 ลำในเวลาเดียวกัน

เร่งก่อสร้างอาคารผู้โดยสารสนามบินขอนแก่น 1,113 ไร่ วงเงิน 2,004 ล้านบาทจะเสร็จในเดือน ก.พ. 2564 จะทำให้มีพื้นที่เพิ่มจากเดิม 16,500 ตร.ม. เป็น 44,500 ตร.ม. รับผู้โดยสารจากเดิม 1,000 คน/ชั่วโมง เป็น 2,000 คน/ชั่วโมง หรือ 5 ล้านคน/ปี

แหล่งข่าวกล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันเร่งปรับปรุงและขยายอาคารสนามบินเดิมหลายแห่ง นอกจากกระบี่และขอนแก่นยังมีสนามบินนครพนม สกลนคร บุรีรัมย์ และกำลังเริ่มก่อสร้างที่สนามบินนครศรีธรรมราช 1,800 ล้านบาท และสนามบินตรัง 2,000 ล้านบาท จะเปิดบริการปี 2565ในปี 2563 ของบประมาณลงทุนโครงการใหม่ เช่น ปรับปรุงอาคารที่พักผู้โดยสารสนามบินร้อยเอ็ด, ขยายอาคารที่พักผู้โดยสารส่วนระหว่างประเทศ สนามบินสุราษฎร์ธานี, งานขยายลานจอดอากาศยานที่สนามบินสุราษฎร์ธานีและขอนแก่น ออกแบบอาคารผู้โดยสารสนามบินบุรีรัมย์

ปักธงสนามบินมุกดาหาร-บึงกาฬ 8 พันไร่

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ส่วนสนามบินที่จะสร้างบนพื้นที่ใหม่ที่ศึกษาแล้วเสร็จและเสนอให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาแล้ว มีสนามบินมุกดาหารจะรองรับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งพื้นที่เหมาะสมจะก่อสร้างอยู่ที่ ต.คำป่าหลาย อ.เมือง ประมาณ 2,812.5 ไร่ ห่างจากตัวเมืองมุกดาหาร 15 กม. จะใช้เงินลงทุน 4,000-5,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ มีสนามบินจังหวัดบึงกาฬซึ่งกรมได้ขอจัดสรรงบประมาณปี 2563 ศึกษาความเหมาะสมโครงการแล้ว เนื่องจากพื้นที่มีศักยภาพที่จะมีสนามบิน เป็นพื้นที่ติดกับชายแดนไทย-สปป.ลาว โดยโครงการนี้เกิดจาก ครม.ได้ลงพื้นที่สัญจร และทางจังหวัดได้เสนอขอให้รัฐผลักดันโครงการ ซึ่งทางจังหวัดได้จัดเตรียมพื้นที่สาธารณะ 5,000 ไร่ ห่างจากตัวเมืองบึงกาฬ 25 กม.ไปตามทางหลวงหมายเลข 212 บึงกาฬ-หนองคาย เพื่อเป็นจุดก่อสร้างสนามบิน

คลิกอ่านเพิ่มเติม… ต.ค.นี้เคาะพื้นที่ “นครปฐม” สร้างสนามบินใหม่ ลดแออัด “ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ”