บี้รถไฟฟ้าสีน้ำเงิน-แอร์พอร์ตลิงก์ ออก “ตั๋วรายเดือน” ช่วยผู้โดยสาร

ยังคงผลักดันอย่างต่อเนื่อง “การปรับโครงสร้างค่าโดยสารรถไฟฟ้า” นโยบายของ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม อยากจะให้เห็นผลโดยเร็วสุด หวังช่วยลดภาระค่าครองชีพของประชาชนในยุคเศรษฐกิจฝืดเคือง

มี “กรมการขนส่งทางราง” กรมน้องใหม่ ขับเคลื่อนบูรณาการร่วมกับผู้บริการรถไฟฟ้า ไม่ว่า บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) ผู้ให้บริการแอร์พอร์ตลิงก์ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ผู้รับสัมปทานสายสีน้ำเงิน และ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTS) ผู้รับสัมปทานสายสีเขียว และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเจ้าของโครงการ อาทิ กรุงเทพมหานคร (กทม.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.)

ในแผนมาตรการระยะสั้น จะส่งเสริมการใช้ตั๋วเดือนแบบจำกัดจำนวนเที่ยวให้ครบทุกระบบ จากปัจจุบันมีบีทีเอสรายเดียว ก็ให้คงไว้เหมือนเดิม พร้อมจะขยายไปยังสายสีน้ำเงิน และสายสีม่วง (เตาปูน-คลองบางไผ่) ในแผนเดิมที่คิดไว้หลากหลาย มี 15 เที่ยว 780 บาท ราคาต่อเที่ยว 52 บาท, 25 เที่ยว 1,250 บาท ราคาต่อเที่ยว 50 บาท, 40 เที่ยว 1,920 บาท ราคาต่อเที่ยว 48 บาท และ 50 เที่ยว 2,350 บาท ราคาต่อเที่ยว 47 บาท ส่วนแอร์พอร์ตลิงก์ออกคูปองรายเดือน จำนวน 44 เที่ยว 1,100 บาท ราคาต่อเที่ยว 25 บาท

เมินออกตั๋วรายเดือน

สุดท้ายยังไม่มีใครขานรับการทำตั๋วเดือน มีเฉพาะ “รฟม.” ยอมเฉือนรายได้วันละ 400,000 บาท ลดค่าโดยสารของสายสีม่วง (เตาปูน-คลองบางไผ่) จาก 14-42 บาท เหลือ 14-20 บาท นั่งต่อสายสีน้ำเงินจ่ายสูงสุด 48 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน ถึงวันที่ 31 มี.ค.นี้

ผลตอบรับ 1 เดือนที่ผ่านมา มีผู้โดยสารเพิ่ม 11,137 เที่ยวคน/วัน หรือ 24.27% ทำให้ปัจจุบันทั้งสายมีผู้โดยสารเฉลี่ยอยู่ที่ 57,019 เที่ยวคน/วัน ขณะที่ผู้โดยสารเดินทางข้ามสายระหว่างสายสีน้ำเงินและสีม่วงเพิ่มขึ้น 8,077 เที่ยวคน/วัน หรือ 24.47% ส่วนแอร์พอร์ตลิงก์มีลดราคาเฉพาะบัตรเติมเงินจาก 15-45 บาท เหลือ 15-25 บาท เท่านั้น

กรมรางขอต่อเวลาลดราคาสีม่วง

ล่าสุด “สรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์” อธิบดีกรมการขนส่งทางราง ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาโครงสร้างอัตราค่าโดยสารการขนส่งทางราง นัดแรกของปี 2563 รับทราบผลดำเนินการมาตรการปรับลดอัตราค่าโดยสายสีน้ำเงิน และสายสีม่วง ช่วง 1 เดือน ให้ประเมินผลอย่างต่อเนื่อง และเสนอบอร์ด รฟม.พิจารณาขยายเวลาลดราคาสายสีม่วงออกไปอีก

พร้อมจัดทำตั๋วรายเดือนใช้เดินทางทั้งสายสีน้ำเงินและสายสีม่วงพร้อมทั้งพิจารณาอัตราค่าบริการพื้นที่จอดแล้วจร (park & ride) เพื่อจูงใจให้ประชาชนลดใช้รถยนต์ส่วนตัว เปลี่ยนมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะแก้ปัญหารถติดในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล และฝุ่น PM 2.5 และสนับสนุนให้แอร์พอร์ตลิงก์ลดค่าโดยสารช่วงวันจันทร์-วันศุกร์ ใน 3 ช่วง ตั้งแต่เปิดถึงเวลา 07.00 น. ช่วง 10.00-16.00 น. และช่วง 20.00 น. ถึงปิดให้บริการ

ด้าน “สราวุธ ทรงศิวิไล” อธิบดีกรมทางหลวง ในฐานะประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม. เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ดเมื่อวันที่ 12 ก.พ.ที่ผ่านมา รับทราบผลการลดราคาของสายสีม่วง 1 เดือน และยังให้เดินหน้าต่อ กำลังประเมินว่าจะขยายเวลาออกไปอีกหรือไม่ ในการประชุมบอร์ดครั้งต่อไปในเดือน มี.ค.นี้

“สิ่งที่เห็นภาพชัด คือ การเดินทางข้ามระบบสายสีม่วงไปสีน้ำเงินมากขึ้น และสายสีน้ำเงินเองก็มีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นด้วย เท่ากับการลดราคาครั้งนี้ โดยรวมมีการเดินทางมากขึ้นกว่าที่เราคาดการณ์ โดยบอร์ดให้ รฟม.เก็บตัวเลขเพิ่ม เช่น การเดินทางแต่ละสถานีของสายสีม่วงมีการเปลี่ยนแปลงยังไง ให้ทำตัวเลขมาดู เพราะพฤติกรรมคนเปลี่ยน และอาจจะมีการปรับค่าโดยสารในจุดที่ลงตัว รายได้ไม่ได้หายไปมาก จาก 14-20 บาท อาจจะเป็น 14-25 บาท รอวัดผลการดำเนินการในเดือน มี.ค.นี้ก่อน”

ชะลอขึ้นราคาสายสีน้ำเงิน

นายสราวุธกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ บอร์ดยังพิจารณาเรื่อง รฟม.ขอปรับค่าโดยสารสายสีน้ำเงินและส่วนต่อขยาย มี BEM เป็นผู้รับสัมปทานเดินรถ จะครบกำหนดปรับค่าโดยสารตามสัญญาให้ปรับทุก 2 ปี ในวันที่ 3 ก.ค.นี้ ตามดัชนีผู้บริโภค (CPI) โดยรอบนี้จะปรับขึ้น 1 บาท ในบางสถานี จากปัจจุบันอยู่ที่ 14-42 บาท แต่บอร์ดยังไม่ได้พิจารณาอนุมัติ

เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจไม่ค่อยดี ยังไม่อยากเพิ่มภาระให้กับผู้ใช้บริการ นอกจากนี้ ให้ รฟม.กลับไปทำข้อมูลให้ครบถ้วนก่อน เช่น เปรียบเทียบค่าโดยสาร ซึ่งก่อนหน้านี้บอร์ดเคยมีข้อสั่งการให้นำค่าโดยสารของสายสีน้ำเงิน เปรียบเทียบกับประเทศอื่นด้วย เช่น สิงคโปร์ และอาเซียน หลังจากประเทศไทยถูกมองว่าค่าโดยสารแพงกว่าประเทศอื่น

“บอร์ดให้เจรจากับ BEM เรื่องมาตรการช่วยเหลือรัฐและผู้โดยสาร จะมีการดำเนินการอย่างไรได้บ้าง เช่น โปรโมชั่น” นายสราวุธกล่าวย้ำ

เปิดความถี่ปรับราคารถไฟฟ้า

อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลจาก “กรมการขนส่งทางราง” ที่เก็บสถิติการปรับค่าโดยสารของรถไฟฟ้าบีทีเอส สายสีน้ำเงิน สายสีม่วง และแอร์พอร์ตลิงก์ไว้อย่างน่าสนใจ

จากข้อมูลพบว่ารถไฟฟ้าบีทีเอสเปิดบริการมาทั้งสิ้น 20 ปี นับจากปี 2542 ปรับค่าโดยสารทั้งสิ้น 3 ครั้ง ปัจจุบันอยู่ที่ 16-44 บาท ตามสัญญาบีทีเอสสามารถขอปรับได้ทุก 18 เดือน แต่ต้องไม่เกินเพดานอัตราค่าโดยสารตามสัญญาสัมปทานในอัตรา 20.11-60.31 บาท

ส่วนสายสีน้ำเงินเปิดบริการมา 15 ปี นับจากปี 2547 ปรับค่าโดยสารทั้งสิ้น 7 ครั้ง ปัจจุบันค่าโดยสารอยู่ที่ 16-42 บาท ล่าสุดจะครบกำหนดตามสัญญาวันที่ 3 ก.ค.นี้ ขณะที่สายสีม่วงเปิดบริการในปี 2559 และแอร์พอร์ตลิงก์เปิดบริการในปี 2553 ยังไม่เคยปรับค่าโดยสารเลย


ในเมื่อสัมปทานและค่าโดยสารของแต่ละรถไฟฟ้าถูกกำหนดขึ้นคนละห้วงเวลา จึงทำให้ไม่เป็นระบบเดียวกันอย่างที่เห็นในปัจจุบัน