ทล.ทุ่ม1.3หมื่นล.ทะลวงแยกบางปะอิน เร่ง “กาญจนาภิเษก” เป็นมอเตอร์เวย์ 2 ชั้นเชื่อมโคราช

ต่างระดับบางปะอิน - ปัจจุบันกรมทางหลวงกำลังก่อสร้างทางต่อเชื่อมกับบริเวณทางแยกบาปะอิน ที่ในอนาคตจะเป็นจุดต่อเชื่อมกับมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา ส่วนต่อขยายโทลล์เวย์รังสิต-บางปะอิน ที่คาดว่าจะมีปริมาณการจราจรเพิ่มขึ้นอีกมาก เพราะต้องรับรถจากวงแหวนตะวันตกและวงแหวนตะวันออกอีก

กรมทางหลวงทุ่ม 1.3 หมื่นล้าน ขยายทางคู่ขนาน ผุดทางเชื่อม ทะลวงคอขวดทางแยกบางปะอิน แก้รถติดโซนเหนือ ถ.พหลโยธิน วงแหวนตะวันออก รับมอเตอร์เวย์โคราช ลุย PPP 7.8 หมื่นล้าน อัพเกรดวงแหวนตะวันตก จากทางใช้ฟรี เป็นมอเตอร์เวย์เก็บค่าผ่านทาง สร้าง 2 ชั้น ช่วงบางขุนเทียน-บางบัวทอง ส่วนบางบัวทอง-บางปะอิน ขยายทางเดิม ตอกเข็มแน่ปี’65 จ่อปัดฝุ่นวงแหวนรอบ 3 นำร่องฝั่งตะวันออก 52 กม. วงเงิน 6.5 หมื่นล้าน จากรังสิตทะลุบางนา-ตราด รับเมืองขยาย ส่วนฝั่งตะวันตกชะลอยาว

นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรมจะลงทุน 13,261 ล้านบาท พัฒนาโครงการทางหลวงและมอเตอร์เวย์ด้านเหนือของกรุงเทพฯ บริเวณทางแยกบางปะอิน จำนวน 5 โครงการ เพื่อแก้ปัญหาคอขวดและรองรับการเชื่อมต่อกับมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-นครราชสีมา จะเปิดบริการเต็มรูปแบบในปี 2566 ส่วนต่อขยายโทลล์เวย์รังสิต-บางปะอิน จะสร้างในปี 2565-2567 และมอเตอร์เวย์บางบัวทอง-บางปะอิน ที่กรมมีแผนจะอัพเกรดถนนวงแหวนตะวันตกปัจจุบันให้เป็นมอเตอร์เวย์ ขณะนี้ออกแบบเสร็จแล้ว อยู่ระหว่างปรับปรุงรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) คาดว่าจะเริ่มสร้างภายในปี 2566-2568

ขยายทางคุู่ขนานเสร็จปี’65

โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2562-2563 ประกอบด้วย 1.ขยายทางคู่ขนานวงแหวนรอบนอกด้านตะวันตกช่วงต่างระดับบางปะอิน-ทางหลวง 346 ระยะทางกว่า 42 กม. วงเงิน 4,701 ล้านบาท ได้งบฯปี 2562 จะแล้วเสร็จในปี 2564, ทางบริการด้านนอกวงแหวนตะวันตกช่วงทางหลวง 346-ทางหลวง 340 วงเงิน 2,800 ล้านบาท เสร็จปี 2565

ส่วนปี 2564 จะปรับปรุงทางแยกต่างระดับบางปะอิน วงเงิน 750 ล้านบาท, โครงการเชื่อมวงแหวนตะวันออกกับสายเอเชีย ปัจจุบันสำรวจออกแบบแล้วเสร็จ ในปีนี้จะเร่งเวนคืนที่ดิน และก่อสร้างปี 2564-2566 วงเงิน 2,210 ล้านบาท, โครงการทางแนวใหม่เชื่อมถนนวงแหวนรอบนอกด้านตะวันออกกับตะวันตก วงเงิน 2,800 ล้านบาท ก่อสร้างเป็นทางพิเศษขนาด 4 ช่องจราจร ระยะทาง 4.237 กม. เนื่องจากถนนวงแหวนตะวันตกและตะวันออก ปัจจุบันไม่เชื่อมต่อกันโดยตรง ต้องผ่านถนนพหลโยธิน ซึ่งมีรถมาใช้ร่วมกันจำนวนมาก บริเวณต่างระดับบางปะอิน โดยเฉพาะวันหยุดและเทศกาลต่าง ๆ

ทุ่มอัพเกรดวงแหวนตะวันตก

นายปิยพงศ์ จิวัฒนกุลไพศาล ผู้อำนวยการกองทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง กรมทางหลวง เปิดเผยว่า กรมมีแผนจะลงทุน 78,000 ล้านบาท ปรับปรุงถนนวงแหวนตะวันตก ระยะทาง 70 กม. จากปัจจุบันที่ยังเปิดใช้ฟรีให้เป็นมอเตอร์เวย์ มีการควบคุมการเข้า-ออก พร้อมด่านเก็บเงินเหมือนสาย 7 และสาย 9

แบ่งเป็น 2 ตอน โดยตอนที่ 1 ต่างระดับบางขุนเทียน-บางบัวทอง ระยะทาง 37 กม. จะสร้างเป็นทางยกระดับสูงขึ้นอีก 1 ชั้น จากระดับดินขนาด 6 ช่องจราจร อยู่บนเกาะกลางถนนวงแหวนปัจจุบัน จากบางบัวทองไปชนกับวงแหวนด้านใต้ วงเงินลงทุน 40,000-50,000 ล้านบาท อยู่ระหว่างการศึกษารูปแบบลงทุน PPP คาดว่าจะเป็น PPP net cost ขณะเดียวกันรออนุมัติ EIA คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2565

ส่วนตอนที่ 2 ช่วงบางบัวทอง-บางปะอิน ระยะทาง 30 กม. มีจุดเริ่มต้นที่ อ.บางบัวทอง บริเวณจุดตัดทางหลวงหมายเลข 345 (บางบัวทอง-บางพูน) กับทางหลวงหมายเลข 340 (บางบัวทอง-สุพรรณบุรี) ผ่าน จ.ปทุมธานี ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา สิ้นสุดที่ทางแยกต่างระดับบางปะอิน เชื่อมกับมอเตอร์เวย์บางปะอิน-นครราชสีมา และวงแหวนรอบนอกด้านตะวันออก

รูปแบบเป็นทางระดับดิน 12 ช่องจราจร แยกเป็นทางคู่ขนาน 6 ช่องจราจร ข้างละ 3 ช่องจราจร เพื่อให้ประชาชนใช้ฟรี พร้อมปรับถนนเดิม 4 ช่องจราจร เป็นทางมาตรฐานใหม่ 6 ช่องจราจร ซึ่งกรมกำลังขยายทางคู่ขนานเพิ่มข้างละ 3 ช่องจราจร ให้เสร็จก่อนถึงจะดำเนินการปรับปรุงเป็นทางพิเศษได้

“ถือว่ากรมได้เริ่มนับหนึ่งแล้ว จากการขยายทางคู่ขนานก่อน จะเสร็จในปี 2565 จะพอดีกับที่จะเริ่มเดินหน้าอัพเกรดเป็นมอเตอร์เวย์ รับกับเมืองที่ขยายตัวไปมาก และเชื่อมมอเตอร์เวย์บางปะอิน-นครราชสีมา และบางใหญ่-กาญจนบุรี ที่จะเปิดใช้ปี 2566”

สำหรับวงแหวนตะวันตกจะเชื่อมการเดินทาง 4 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี และพระนครศรีอยุธยา ตลอดเส้นทางจะมีจุดเข้าออก 20 แห่ง ได้แก่ ด่านพระราม 2 ด่านกัลปพฤกษ์ 1 ด่านกัลปพฤกษ์ 2 ด่านเพชรเกษม 1 ด่านเพชรเกษม 2 ด่านพรานนก-พุทธมณฑล 1 ด่านพรานนก-พุทธมณฑล 2 ด่านบรมราชชนนี ด่านมหาสวัสดิ์ ด่านนครอินทร์ 1 ด่านนครอินทร์ 2 ด่านบางใหญ่ ด่านบางบัวทอง 1 ด่านราชพฤกษ์ ด่านลาดหลุมแก้ว 1 ด่านลาดหลุมแก้ว 2 ด่านสามโคก ด่านบางปะหัน และด่านบางปะอิน

ฟื้นวงแหวนรอบ 3

แหล่งข่าวจากกรมทางหลวงกล่าวเพิ่มเติมถึงความคืบหน้าวงแหวนรอบ 3 ว่า แนวเส้นทางจะอยู่ห่างจากถนนวงแหวนปัจจุบัน 10-15 กม. คลุมพื้นที่ 7 จังหวัด 22 อำเภอ ระยะทาง 254 กม. ใช้เงินลงทุน 157,700 ล้านบาท

แยกเป็นค่าเวนคืน 56,300 ล้านบาท ค่าก่อสร้าง 101,400 ล้านบาท คาดว่าจะเริ่มสร้างด้านตะวันออกก่อนในเฟสแรก 55 กม. เป็นถนนตัดใหม่ขนาด 4 ช่องจราจร วงเงินลงทุน 65,000 ล้านบาท แยกเป็นค่าก่อสร้าง 50,000 ล้านบาท และค่าเวนคืนที่ดิน 3,400 ไร่ วงเงิน 15,000 ล้านบาท

แนวเส้นทางเริ่มต้นช่วงรังสิต-นครนายก บริเวณคลอง 9-10 ห่างจากถนนวงแหวนปัจจุบัน 15 กม. ตัดมาทางทิศใต้ ผ่าน ต.บึงทองหลาง อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี และตัดถนนลำลูกกา กม.25+000 มุ่งหน้าลงทิศใต้ข้ามคลองหกวาสายล่าง เข้าพื้นที่เขตหนองจอก กทม. ผ่านจุดตัดถนนสุวินทวงศ์ ถนนฉลองกรุง มุ่งลงใต้ ยกข้ามมอเตอร์เวย์ วิ่งขนานพื้นที่สนามบินสุวรรณภูมิ สิ้นสุดถนนบางนา-ตราด กม.ที่ 23

“EIA ได้รับอนุมัติและออกแบบเสร็จแล้ว ขึ้นอยู่กับนโยบายกระทรวงคมนาคมจะเร่งผลักดันเลยหรือไม่ เพราะยังมีเวนคืนที่ดิน เพราะสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติต้องการให้กรมเวนคืนเผื่อสร้าง floodway ติดกับโครงการ ป้องกันน้ำท่วม แต่กรมจะไม่เวนคืนรอ เนื่องจากแบบยังไม่เสร็จ นโยบายก็ยังไม่นิ่ง เพราะต้องเวนคืนเพิ่มเป็น 280 เมตร และโครงการเดินหน้ายาก” แหล่งข่าวกล่าวและว่า

ส่วนด้านตะวันตก 98 กม. แม้จะมีความเหมาะสมที่จะก่อสร้าง แต่ผ่านแหล่งที่อยู่อาศัยและประชาชนประท้วงจึงต้องพับแผนไปก่อน โดยใช้เงินลงทุนกว่า 1 แสนล้านบาท มีค่าก่อสร้าง 85,000 ล้านบาท เวนคืนที่ดิน 5,300 ไร่ บ้าน 500 กว่าหลัง