กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ แจกมาตรการเพียบอุ้มผู้มีรายได้น้อย

นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดเผยว่า พม.ได้จัดทำรายงานผลดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีในการลดค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์ จาก 2% เหลือ 0.01% และค่าธรรมเนียมการจดจำนองจาก 1% เหลือ 0.01% เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลางที่ต้องการซื้ออสังหาริมทรัพย์รูปแบบที่ดินพร้อมอาคาร หรืออาคารที่อยู่อาศัยประเภทบ้านเดี่ยว บ้านแฝด บ้านแถวหรือทาวน์เฮาส์ และอาคารชุดในราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท และวงเงินจำนองไม่เกิน 1 ล้านบาท มีผลบังคับใช้ 1 ปี (24 มิถุนายน 2562-23 มิถุนายน 2563)

สำหรับเป้าหมายมาตรการลดค่าโอน-จดจำนองผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลาง ทางการเคหะแห่งชาติ (กคช.) รัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวง พม. ได้จัดทำแผนประมาณการเสนอต่อคณะรัฐมนตรีว่า ตามแผน 12 เดือนของการประกาศใช้มาตรการ คาดว่ามีผู้ขอรับสิทธิ์ลดค่าโอนและจดจำนองที่เป็นกลุ่มเป้าหมายประเภทละ 58,340 ราย รวม 116,680 ราย, คิดเป็นวงเงินตามสิทธิ์รวม 1,700 ล้านบาท แบ่งเป็นวงเงินรับสิทธิ์ลดค่าโอน 1,133 ล้านบาท วงเงินลดค่าจดจำนอง 567 ล้านบาท

ในขณะที่ผลดำเนินงาน 3 เดือนแรก (24 มิถุนายน-30 กันยายน 2562) ข้อมูลจากกรมที่ดินมีผู้ใช้สิทธิ์ลดค่าโอนแล้ว 37,515 ราย ลดภาระค่าโอนทั้งหมด 405 ล้านบาท มีผู้ใช้สิทธิ์ลดค่าจดจำนอง 17,731 ราย สามารถลดภาระค่าจดจำนองรวม 95 ล้านบาท รวมทั้ง 2 รายการเป็นวงเงิน 500 ล้านบาท

และสัดส่วนการดำเนินงานจริง 3 เดือนเทียบกับประมาณการผลดำเนินงาน 12 เดือน พบว่า ในแง่จำนวนรายมีผู้ใช้สิทธิ์ลดค่าโอนกรรมสิทธิ์แล้ว 64.3% ผู้ใช้สิทธิ์ลดค่าจดจำนอง 30.39% จากผู้มีรายได้น้อย-ปานกลางที่เป็นกลุ่มเป้าหมายทั้งหมดของแต่ละประเภท

ส่วนในแง่วงเงินจากการขอรับสิทธิ์พบว่า 3 เดือนแรกมีสัดส่วนรับสิทธิ์ลดค่าโอนแล้ว 35.74% และลดค่าจดจำนอง 16.81%

ด้านนายปรเมธี วิมลศิริ ปลัดกระทรวง พม. กล่าวเพิ่มเติมว่า พม.จัดทำโครงการ “สธค. โรงรับจำนำของรัฐสู้ภัยโควิด-19” คิดดอกเบี้ยจำนำในอัตราต่ำ และขยายเวลาตั๋วจำนำปลอดดอกเบี้ย โดยสถานธนานุเคราะห์ในฐานะโรงรับจำนำของรัฐได้ตระหนักถึงผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมที่มีต่อประชาชนผู้มีรายได้น้อย และผู้ประสบปัญหาทางการเงิน มอบสิทธิพิเศษ 3 ฟรี

ได้แก่ ฟรีที่ 1 ขยายเวลาตั๋วรับจำนำเพิ่มอีก 90 วัน วงเงินไม่เกิน 10,000 บาท ที่มีตั๋วรับจำนำตั้งแต่ 3 มกราคม-31 มีนาคม 2563 ขยายเวลาจากเดิม 4 เดือน 30 วัน เป็น 4 เดือน 120 วัน โดยไม่คิดดอกเบี้ยในช่วงขยายเวลา เงื่อนไขต้องมาลงทะเบียนที่สถานธนานุเคราะห์ทุกแห่ง ตั้งแต่ 1 เมษายน-31 พฤษภาคม 2563 จำกัด 1 คนต่อ 1 สิทธิ์

ฟรีที่ 2 รับของที่ระลึกครบรอบ 65 ปี สธค.สำหรับผู้มาใช้บริการในวันพุธ 29 เมษายน 2563 ที่สถานธนานุเคราะห์ทุกแห่ง และฟรีที่ 3 กิจกรรมอบรมให้ความรู้แก่ประชาชนเรื่องทองคำและการบริหารเงินในเดือนพฤษภาคม 2563

อนึ่ง สถานธนานุเคราะห์ภายใต้การดูแลของ พม. มีทั้งสิ้น 39 สาขาทั่วประเทศ ตั้งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ 29 สาขา จังหวัดปริมณฑล 4 สาขา ได้แก่ นนทบุรี 2 แห่ง, ปทุมธานี และสมุทรปราการ ที่เหลือกระจายอยู่ในส่วนภูมิภาคอีก 6 แห่ง ได้แก่ จังหวัดระยอง 2 แห่ง, ลำพูน, สุราษฎร์ธานี, อุดรธานี และพิษณุโลก