โควิด-19 ทุบ “คมนาคม” หยุดการเดินทางทุกโหมด เร่งเยียวยา “แอร์ไลน์-รถโดยสาร”

การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส “โควิด-19” ยังเขย่าขวัญโลกและสังคมไทยอย่างต่อเนื่อง ทุกอย่างถูก “ชัตดาวน์” อย่างสิ้นเชิง เพื่อฝ่าวิกฤติที่กำลังถาโถม ขณะที่ภาครัฐเร่งออกมาตรการเยียวยาประชาชน-ภาคธุรกิจที่ได้รับแรงกระแทก พยุงเศรษฐกิจไม่สะดุด รวมถึงมาตรการต่าง ๆ เพื่อควบคุมและบรรเทาการแพร่ระบาด

ล่าสุด “บิ๊กตู่-พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี งัด พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน 2548 หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ออกมาควบคุมสถานการณ์

ด้าน “กระทรวงคมนาคม” ที่ควบคุมการเดินทางทุกโหมด ก็ต้องหามาตรการออกมาประคองให้วิกฤตครั้งนี้ผ่านพ้นไปให้ได้

คลอด 6 มาตรการอุ้มแอร์ไลน์

โดยที่ประชุม “กบร.-คณะกรรมการการบินพลเรือน” มี “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” เป็นประธาน พิจารณามาตรการตามที่สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) กรมท่าอากาศยาน (ทย.) บมจ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) ออกมาช่วยเหลือผู้ประกอบการสายการบิน 7 แห่ง ผ่านอนุมัติจาก “ครม.-คณะรัฐมนตรี” เมื่อต้นเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา

มี 6 มาตรการ 1.มาตรการด้านการบิน ได้แก่ การลดค่าบริการการขึ้น-ลงอากาศยาน ค่าบริการที่เก็บอากาศยาน 50% สำหรับเที่ยวบินภายในประเทศและเที่ยวบินระหว่างประเทศที่ทำการบินเข้าหรือออกประเทศกลุ่มเสี่ยง

ปรับลดค่าใช้จ่ายที่ท่าอากาศยานอย่างอื่น เช่น ค่าเช่าพื้นที่สำนักงาน, ปรับลดค่าบริการเดินอากาศ ที่ถูกเรียกเก็บจากผู้ให้บริการเดินอากาศ 50% สำหรับเที่ยวบินภายในประเทศ และ 20% สำหรับเที่ยวบินระหว่างประเทศ ที่ทำการบินเข้าหรือออกประเทศกลุ่มเสี่ยงปรับลดค่าธรรมเนียมการเข้าหรือออกนอกประเทศ ที่เรียกเก็บจากสายการบิน

ตามจำนวนผู้โดยสารคนละ 15 บาท เหลือคนละ 10 บาท สำหรับเที่ยวบินระหว่างประเทศที่ทำการบินเข้าหรือออกประเทศกลุ่มเสี่ยง และขอขยายการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินไอพ่นจากเดิมมีผลถึงวันที่ 30 ก.ย. เป็นวันที่ 31 ธ.ค. 2563

2.มาตรการอำนวยความสะดวกเพิ่มความสามารถในการสร้างรายได้ของสายการบิน ด้านการจัดสรรเวลาการบิน จะผ่อนผันการตัดสิทธิในฤดูกาลถัดไปให้สายการบินที่ยกเลิกเที่ยวบินจากสถานการณ์ดังกล่าว โดยจะไม่ถูกนำมาใช้คำนวณเงื่อนไขการทำการบินของเวลาการบินต่อเนื่องที่ได้รับการจัดสรร เนื่องจากเป็นสถานการณ์ที่อยู่เหนือการควบคุมของสายการบิน, ประสานงานหน่วยงานกำกับดูแลด้านการบินในต่างประเทศที่สายการบินได้ยกเลิกเที่ยวบิน อาทิ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เป็นต้น เพื่อขอคงสิทธิในเวลาการบินที่ได้รับจัดสรรเดิม

ด้านการกำกับดูแลทางเศรษฐกิจ ทบทวนหลักเกณฑ์การขอจัดสรรเส้นทางบินใหม่ภายในประเทศและปรับปรุงกระบวนการพิจารณาจัดสรรเส้นทางให้รวดเร็วขึ้น และเจรจาสิทธิการบินในเส้นทางระหว่างประเทศที่สายการบินของไทยมีศักยภาพในอนาคต อาทิ อินเดีย ปากีสถาน เกาหลีใต้

3.มาตรการสร้างความเชื่อมั่นในการเดินทางทางอากาศ ออกประกาศรองรับสิทธิของสายการบินในการปฏิเสธผู้โดยสารที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัส ประชาสัมพันธ์มาตรการด้านการสาธารณสุขสร้างความเชื่อมั่น อาทิ กระบวนการคัดกรองผู้ป่วย วิธีการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อในห้องโดยสาร

4.มาตรการกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยว ออกมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ 5.มาตรการทางการเงิน ขยายระยะเวลาการชำระหนี้ ค่าบริการ ค่าภาระ หรือเงินตอบแทนที่สายการบินถูกเรียกเก็บจากผู้ประกอบการท่าอากาศยาน ผู้ให้บริการการเดินอากาศ และผู้ประกอบการจำหน่ายและบริการเติมน้ำมันเชื้อเพลิงจัดหาแหล่งเงินทุนเพื่อให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ

เพื่อช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อาทิ สายการบิน โรงแรม ภาคบริการต่าง ๆ เป็นต้น

6.มาตรการอื่น ๆ ลดค่าเช่าพื้นที่ 50% สำหรับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการลดลงของผู้โดยสาร เป็นระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่เดือน มี.ค.-ส.ค.นี้

ยังมีมาตรการลดค่าใช้หลุมจอดในสนามบินของ ทย. และ ทอท.ลง 50% กรณีที่มีการระงับทำการบินชั่วคราว และอยู่ระหว่างรอคำตอบจากกองทัพเรือ (ทร.) ให้ใช้หลุมจอดที่สนามบินอู่ตะเภา

คุมเข้มเข้าประเทศ

ในส่วนมาตรการคัดกรองการเข้าเมือง กพท.ได้ออกประกาศวันที่ 19 มี.ค. และมีผลบังคับใช้เมื่อ 22 มี.ค. คุมเข้มผู้โดยสารที่เดินทางจากทั่วโลกต้องมีใบรับรองแพทย์ที่มีอายุไม่เกิน 72 ชม. และกรมธรรม์ประกันภัยที่แสดงการคุ้มครองการรักษาพยาบาลในประเทศไทย ที่คุ้มครองโรคไวัรัสโควิด-19 เป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 100,000 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 3 ล้านบาท) จึงจะอนุญาตให้สายการบินขายบัตรที่นั่งให้ยกเว้นผู้โดยสารต่างชาติที่เดินผ่านประเทศไทยเพื่อต่อเครื่องไปประเทศที่ 3 ไม่ต้องเข้าเงื่อนไขตามประกาศข้างต้น แต่มีเงื่อนไข 1.มีเวลาเปลี่ยนเครื่องไม่เกิน 24 ชม. และ 2.มีใบรับรองแพทย์ที่ระบุว่า มีสุขภาพเหมาะสมไม่จำเป็นต้องมีใบรับรองแพทย์ที่ตรวจเชื้อไวรัสโควิดและกรมธรรม์ประกันภัย แต่เมื่อเดินทางมาถึงไทย จะต้องอยู่ในพื้นที่ที่กำหนดไว้ มีผลถึงวันที่ 31 มี.ค.นี้ เวลา 23.59 น.

นั่งรถไฟ-รถไฟฟ้าต้องใส่หน้ากาก

ขณะที่กรมการขนส่งทางราง (ขร.) ออกประกาศ ข้อแนะนำในการปฏิบัติเพื่อหลีกเลี่ยงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) สำหรับผู้โดยสารและหน่วยงานที่ให้บริการระบบขนส่งทางราง ฉบับที่ 2 คิกออฟ

เมื่อวันที่ 25 มี.ค. ให้ผู้ใช้บริการรถไฟและรถไฟฟ้าทุกระบบจะต้องสวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้า ตลอดเวลาที่ใช้บริการ ทั้งในสถานีและขบวนรถ, เว้นระยะห่างทางสังคม (social distance) 1-2 เมตร ส่วนผู้ให้บริการ จะต้องเพิ่มความเข้มข้นของมาตรการป้องกัน เช่น เพิ่มจุดคัดกรองตรวจวัดอุณหภูมิผู้โดยสารก่อนเข้าใช้บริการทุกสถานี

BEM ลดค่าเช่า 50%

นายณัฐวุฒิ ตรีวิศวเวทย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บจ.แบงคอก เมโทร เน็ทเวิร์คส์ (BMN) ในเครือ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ผู้บริหารเมโทร มอลล์ พื้นที่เชิงพาณิชย์ในสถานีรถไฟฟ้า MRT ได้ลดค่าเช่าให้พันธมิตรร้านค้าต่าง ๆ ลง 50% รวมถึงร้านค้าบนพื้นที่ด่านประชาชื่น ด่านศรีนครินทร์ และด่านบางปะอิน ที่จ่ายค่าเช่าคงที่รายเดือน มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.-30 เม.ย.นี้ ส่วนร้านที่ปิดตามประกาศกรุงเทพมหานคร จะยกเว้นค่าเช่าให้ในช่วงวันที่ 22 มี.ค.-12 เม.ย.นี้

ขนส่งระงับสอบใบขับขี่

ขณะที่ นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เปิดเผยว่า กรมปรับการให้บริการสำนักงานขนส่งในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล 5 จังหวัด สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม นนทบุรี และปทุมธานี ระหว่างวันที่ 24 มี.ค.-12 เม.ย.นี้ งดการอบรมและทดสอบใบอนุญาตขับรถ บัตรประจำตัวคนขับรถ และใบอนุญาตเป็นผู้ประจำรถ รายใหม่ทุกชนิด และให้อบรมต่ออายุใบอนุญาตขับรถทุกชนิดผ่านระบบ e-Learning และบริการรับชำระภาษีรถประจำปีออนไลน์ ส่วนช่องทางอื่น ๆ ยังปกติ เช่น เคาน์เตอร์เซอร์วิส เซเว่นอีเลฟเว่น แต่งดบริการในห้างสรรพสินค้า

นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางยังอนุมัติให้รถร่วมเอกชนในหมวด 2-3 ยกเว้นการเดินรถเส้นทางระหว่างจังหวัด เพื่อให้ไม่เข้าเงื่อนไขจ่ายค่าธรรมเนียมให้บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ส่วนผู้ประกอบการรถแท็กซี่จะหารือมาตรการช่วยเหลืออีกครั้ง