“ประยุทธ์” เปิดทำเนียบรับ “หมอเสริฐ-คีรี” เซ็นปิดดีลเมืองการบิน 3 แสนล้าน 19 มิ.ย.นี้

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เปิดเผย ”ประชาชาติธุรกิจ” ว่า วันที่ 19 มิ.ย.2563 เวลา 09.00 น. จะเซ็นสัญญากับกลุ่มกิจการร่วมค้า BBS ประกอบด้วย บมจ.การบินกรุงเทพ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ และ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น ผู้ชนะประมูลโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก เนื้อที่ 6,500 ไร่ โดยเสนอผลตอบแทนให้รัฐมากที่สุด คิดเป็นมูลค่าปัจจุบันอยู่ที่ 305,555 ล้านบาท ในระยะเวลาสัมปทาน 50 ปี

“ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 2 มิ.ย.ได้รับทราบผลประมูลดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลังเซ็นสัญญาจะเข้าสู่กระบวนการส่งมอบพื้นที่และออกหนังสือให้เริ่มต้นงาน หรือ NTP มีกรอบเวลาวางไว้ 1 ปีครึ่งนับจากเซ็นสัญญา”

สำหรับการลงทุนในสนามบินอู่ตะเภา มีทั้งหมด 6 กิจกรรม ได้แก่ 1.อาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 2.ศูนย์ธุรกิจการค้าและการขนส่งภาคพื้นดิน 3.ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) 4.เขตประกอบการค้าเสรี และเขตธุรกิจเกี่ยวเนื่อง 5.ศูนย์ธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศและโลจิสติกส์ 6.ศูนย์ฝึกอบรมการบิน เพื่อไปสู่เป้าหมายเป็นสนามบินกรุงเทพฯแห่งที่ 3 และมหานครการบิน เชื่อมกับสนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมืองด้วยรถไฟความเร็วสูง

รายงานข่าวแจ้งว่า ในวันที่ 19 มิ.ย.นี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานในพิธีเซ็นสัญญาดังกล่าวที่ทำเนียบรัฐบาล

โดยการลงทุนของโครงการรวมเป็นเงินลงทุนรวม 290,000 ล้านบาท รัฐได้ประโยชน์เพิ่มเติม ด้านการเงิน แยกเป็นค่าเช่าที่ดินและ ส่วนแบ่งรายได้ คิดเป็นมูลค่าปัจจุบัน 305,555 ล้านบาท รวมตลอดสัญญา 50 ปี เป็นเงิน 1,326,000 ล้านบาท

มีรายได้ภาษีอากร 62,000 ล้านบาท เพิ่มการจ้างงาน 15,600 ตำแหน่งต่อปี ในระยะ 5 ปีแรก เพิ่มเทคโนโลยี และพัฒนาทักษะแรงงานด้านธุรกิจการบิน และธุรกิจเชื่อมโยง ซึ่งสิ้นสุดสัญญาทรัพย์สินตกเป็นของรัฐ โดยวางยุทธศาสตร์ให้เป็น เมืองการบินภาคตะวันออก ทำภารกิจสำคัญ 3 ประการ เป็น “สนามบินกรุงเทพฯ แห่งที่ 3” เชื่อมสนามบินดอนเมือง และสุวรรณภูมิ ด้วยรถไฟความเร็วสูง เป็น “ศูนย์กลางอุตสาหกรรม ท่องเที่ยว และ Logistics & Aviation” ของอีอีซี และเป็น “เมืองท่าที่สำคัญ” เชื่อมโยงขยายกรุงเทพไปทางตะวันออก ทั้งทางน้ำ ทางบก และทางอากาศ

ผลการคัดเลือกเอกชน คณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้ดำเนินการอย่างละเอียดรอบคอบ ปฏิบัติตามกฎหมายทุกขั้นตอน และเจรจาสัญญาเสร็จสิ้น มีการประชุมคณะกรรมการคัดเลือกทั้งหมด 17 ครั้ง และการประชุมคณะทำงานเจรจาสัญญาทั้งหมด 19 ครั้ง

ผลการพิจารณากลุ่ม BBS เป็นผู้ชนะการคัดเลือกให้ร่วมทุน เพราะเสนอเงินประกันรายได้ขั้นต่ำตลอดสัญญาสูงสุด และยอมรับผลการเจรจาและร่างสัญญาที่อัยการเห็นชอบแล้ว คาดว่าจะเซ็นสัญญาเดือนมิถุนายนนี้

ด้านผลประโยชน์ร่วม “โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก” และ “โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน”

ซึ่งการขับเคลื่อนโครงการต้องแต่งตั้งคณะอนุกรรมการร่วมประสานงาน เพื่อให้มีการทำงานอย่างบูรณาการเป็นไปตามแผนงานที่กำหนดเชื่อมโยงแผนงานการก่อสร้าง และแผนการเปิดบริการให้สอดคล้องหรือพร้อมกันได้ ซึ่งสนามบินอู่ตะเภาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับโครงการรถไฟความเร็วสูง และสร้างความต้องการทำให้ปริมาณผู้โดยสารรถไฟความเร็วสูงเพิ่มขึ้น

ส่วนรถไฟความเร็วสูง ทำให้การเดินจากกรุงเทพมายังสนามบินอู่ตะเภาเป็นไปอย่างไร้รอยต่อ ส่งผลให้ได้รับความนิยมและความสะดวกสบายยิ่งขึ้นในการใช้สนามบิน