“ศักดิ์สยาม” ทุ่ม 2 หมื่นล้าน พัฒนา “อำนาจเจริญ-มุกดาหาร-ยโสธร”

“ศักดิ์สยาม” เผย ครม.นัดพิเศษหารือเรื่องความมั่นคง ปรามชุมนุม “ราชประสงค์” เข้มดูแลการเดินทางรถไฟฟ้าเต็มที่ โปรยยาหอมลงทุน 3 จังหวัด “อำนาจเจริญ – มุกดาหาร – ยโสธร” เน้นระบบถนนเป็นหลัก ขอให้อดใจรอซิ่ง 120 กม./ชม.

เมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2563 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนในระหว่างลงพื้นที่ จ.อำนาจเจริญ ว่าการนัดประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นกรณีพิเศษในวันที่ 16 ต.ต.นี้ เวลา 10.00 น. เป็นการประชุมเพื่อหารือถึงประเด็นด่านความมั่นคงเป็นหลัก ซึ่งน่าจะทำให้เกิดความเรียบร้อยได้

ปรามชุมนุมผิดกฎหมาย

ส่วนการชุมนุมในย่านราชประสงค์ ซึ่งมีระบบรถไฟฟ้าบีทีเอสอยู่นั้น ยืนยันว่ากระทรวงคมนาคมจะดูแลความปลอดภัยการเดินทางของประชาชนเป็นหลัก ส่วนการเดินทางไปชุมนุมนั้น ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ได้ประกาศแล้วว่า การไปชุมนุมในพื้นที่เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย หากทำผิดกฎหมายก็ต้องว่าไปตามกฎหมาย

ทุ่ม 2 หมื่นล้าน ลงทุน 3 จังหวัด

ส่วนการลงพื้นที่ จ.อำนาจเจริญ ในวันนี้ เป็นการมาเพื่ออธิบายว่า กระทรวงคมนาคมกำลังดำเนินการอะไรบ้าง ซึ่งนอกจากอำนาจเจริญแล้ว ยังมีตัวแทนจาก จ.มุกดาหาร และยโสธร มาร่วมรับฟังด้วย คาดว่าโครงการที่จะดำเนินการใน 3 จังหวัด จะรวมวงเงินแล้วประมาณ 20,000 ล้านบาท โดยเป็นการดำเนินการระหว่างปี 2563 – 2568

ชูสะพานมิตรภาพ-MR-MAP ตาก-นครพนม

โครงการที่เน้นย้ำส่วนใหญ่ เป็นโครงการถนนที่เชื่อมต่อกับจังหวัดใกล้เคียง เช่น นครพนม อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด เป็นต้น โดยในอนาคตจะมีการสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 6 อยู่ระหว่างทำ MOU เพื่อลงนามร่วมกัน

ขณะที่ จ.มุกดาหาร โครงการสำคัญคือการบูรณาการรถไฟทางคู่ร่วมกับมอเตอร์เวย์ (MR-MAP) ช่วง W1 ตาก (ด่านแม่สอด)-นครพนม ระยะทาง 710 กม. ซึ่งจะเชื่อมต่อกับ จ.มุกดาหาร โดยใช้เวลาปี 2564 ในการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการช่วงนี้

นอกจาก MR-MAP แล้ว เห็นว่า จ.มุกดาหาร ควรจะมีโครงการพัฒนาสนามบินภายในจังหวัดด้วย ซึ่งให้กรมท่าอากาศยาน (ทย.) เป็นผู้ดำเนินการ

“นอกจากนี้ ยังมีทางหลวงในชุมชนที่ดูแลโดยกรมทางหลวงชนบท (ทช.) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้นโยบายว่า หากมีถนนใดที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่สามารถดูแลได้ ก็ขอให้โอนมาให้ ทช. เป็นผู้ดูแลแทน” นายศักดิ์สยามกล่าว

ทั้งนี้ การพัฒนาด้านโลจิสติกส์จะต้องคิดให้ครบทั้งบก-ราง-น้ำ และอากาศ โดยพื้นที่ใดที่มีศักยภาพดำเนินการก็จะต้องทำให้ครบทุกโหมดให้ได้มากที่สุด

ไม่ลืมยางพารา – โอทอป

ส่วนอีก 2 โครงการที่สำคัญคือ โครงการช่วยเหลือเกษตรกรยางพาราด้วยการนำยางพารามาใช้เพื่อปรับปรุงเพิ่มความปลอดภัยทางถนน ซึ่งกำลังจะดำเนินการในเฟสแรกแล้วเสร็จภายในเดือน พ.ย. 2563

และอยู่ระหว่างของบประมาณดำเนินการในเฟส 2 อยู่ และอีกโครงการคือ การร่วมกับกระทรวงมหาดไทย เพื่อนำสินค้าโอทอปมาวางจำหน่ายในพื้นที่ของหน่วยงานต่าง ๆ ของกระทรวงคมนาคม ซึ่งยังมีที่จัดจำหน่ายไม่พอและไม่ชัดเจนเรื่องจุดจำหน่ายในหลาย ๆ แห่ง ซึ่งมองไว้หลายที่

เช่น สถานีกลางบางซื่อ, สถานีหัวลำโพง เป็นต้น ส่วนในภูมิภาคจะให้บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) และกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ร่วมกันจัดหาสถานที่ที่เหมาะสม และจะให้จัดเก็บรายได้ในรูปแบบ Profit Sharing เพื่อนำเรียนนายกรัฐมนตรีต่อไป

จ่อมอบนโยบายผู้บริหาร ต.ค.นี้

ส่วนการสรรหาผู้บริหารเพื่อแทนที่ในตำแหน่งที่ยังว่างอยู่ นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม อยู่ระหว่างคัดสรรบุคคลที่เหมาะสมให้ครบถ้วนอยู่ เมื่อได้ตัวแล้วคาดว่าภายในเดือน ต.ค.นี้ จะมีการมอบนโยบายกับทุกหน่วยงานภายในกระทรวงคมนาคมอีกครั้ง

จี้ส่งกรอบงบ 65 ภายในเดือน ต.ค.นี้

ขณะที่การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ในเดือน ต.ค.นี้ ทุกหน่วยงานต้องเสนอกรอบให้กระทรวงคมนาคมพิจารณา หลักเกณฑ์พิจารณาคือต้องเป็นไปตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติ, นโยบายของรัฐบาล, เนื้องานต่อเนื่องจากงบประมาณปีที่แล้ว และโครงการที่นำเสนอต้องพร้อมดำเนินการ ไม่ติดขัดอุปสรรคอะไรอีก หากไม่พร้อมจะตัดออกทันที และจะต้องมีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบด้วย คาดว่าในสิ้นเดือน ต.ค. นี้น่าจะเห็น

รอ “กฤษฎีกา” ส่งกฎกระทรวงอัพสปีด 120

ส่วนนโยบายปรับเพิ่มอัตราความเร็วของรถยนต์ทุกประเภทบนถนนที่มีช่องจราจรตั้งแต่ 4 ช่องขึ้นไป จากความเร็วไม่เกิน 90 กม./ชม. เป็นความเร็วไม่เกิน 120 กม./ชม อยู่ระหว่างพิจารณาร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราความเร็วและรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับนโยบายดังกล่าว ซึ่งออกตาม พ.ร.บ.ทางหลวง 2563 โดยคณะกรรมการกฤษฎีกา หากส่งกลับมากระทรวงเมื่อไหร่ ก็พร้อมลงนามทันที

โดยให้นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) ตรวจสอบถนนที่จะนำร่องโครงการคือ ทางหลวงสายเอเชีย ช่วงบางปะอิน-นครสวรรค์ ระยะทาง 50 กม. ว่าลักษณะทางกายภาพ โดยเฉพาะด้านความปลอดภัยว่า จะสามารถรองรับการใช้ความเร็วสูงเกินกว่า 120 กม./ชม.ได้หรือไม่

“ส่วนการเปิดให้วิ่งทั้งประเทศ ต้องตรวจสอบลักษณะทางกายภาพของถนนเส้นต่าง ๆ ก่อนว่ามีเกาะกลางถนนหรือไม่ และมีความพร้อมรับด้านความปลอดภัยมากน้อยแค่ไหน ซึ่งก็ขอให้ประชาชนเข้าใจด้วย”

ตั้งคณะทำงานฟัน “โฮปเวลล์”

ในช่วงท้าย นายศักดิ์สยามกล่าวถึงการรื้อฟื้นคดีโฮปเวลล์ว่า ได้ส่งเรื่องไปที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) แล้ว โดยจะใช้ประเด็นด้านการจดจัดตั้งวัตถุประสงค์ของนิติบุคคลเป็นประเด็นในการต่อสู้หลัก ส่วนจะขยายไปยื่นกับองค์กรอื่นหรือไม่นั้น อยู่ศึกษากระบวนการเสนอเรื่อง

ด้านหนึ่ง ก็ได้ขอนายกรัฐมนตรีตั้งคณะทำงานสอบสวนเอาผิดกับผู้ที่ทำให้เกิดคดีนี้ขึ้นมาด้วย โดยจะมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และจะมีกรรมการจากหน่วยงานต่างร่วมด้วยทั้งสำนักงบประมาณ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.)