บีทีเอสลุยสร้างโมโนเรล”ชมพู-เหลือง”ธ.ค.นี้

บีทีเอสเซ็นกู้เงิน 6.3 หมื่นล้านลุยโมโนเรล 2 สายแรกประเทศไทย “ชมพู-เหลือง” เผย รฟม.ส่งมอบพื้นที่เปิดไซต์ก่อสร้างทันที ดีเดย์ ธ.ค.นี้ ด้านกรมทางหลวงขอเวลาตรวจแบบรายละเอียด แนะขยับตำแหน่งสถานี สร้างอุโมงค์ระบายน้ำตลอดแนวถนนแจ้งวัฒนะ

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการ บริษัท บีทีเอสกรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า วันที่ 10 ต.ค. 2560 ได้เซ็นสัญญาเงินกู้ วงเงิน 63,360 ล้านบาท กับสถาบันการเงิน 3 รายใหญ่ ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ กรุงไทย และไทยพาณิชย์ สำหรับลงทุนก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี และสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ในการก่อสร้างสถานี ทางวิ่งยกระดับงานระบบเครื่องกลงานระบบอาณัติสัญญาณ ขบวนรถไฟฟ้าโมโนเรลรวมทั้งค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่าง ๆ

ขณะนี้อยู่ระหว่างออกแบบรายละเอียดโครงการและรอการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ส่งมอบพื้นที่ คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างภายในเดือน ธ.ค.นี้เป็นต้นไป มีกำหนดแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการในปี 2563

“สัญญาเงินกู้ แบ่งเป็น 2 ฉบับ สำหรับสายสีชมพู แคราย-มีนบุรี วงเงิน 31,680 ล้านบาท และสายสีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง วงเงิน 31,680 ล้านบาท เป็นสัญญากู้เงินระยะยาว 14 ปี จะเริ่มชำระนับจากปีที่เปิดเดินรถ” นายสุรพงษ์กล่าว

นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด และบริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด กล่าวว่า รถไฟฟ้าทั้ง 2 สายเป็นระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยวโมโนเรล แบบยกระดับ 2 สายแรกของประเทศ และเป็นโครงการร่วมทุนในลักษณะ PPP net cost ระหว่างรัฐและเอกชน โดยบีทีเอสร่วมกับผู้ร่วมลงทุน ประกอบด้วย บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป

โฮลดิ้งส์, บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์คอนสตรัคชั่น และ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง ร่วมลงทุนกันพัฒนาโครงการ จะใช้ระบบรถไฟฟ้าโมโนเรลของกลุ่มบริษัทบอมบาดิเอร์ นับจากนี้จะเริ่มก่อสร้างได้ทันที หลัง รฟม.ส่งมอบพื้นที่แล้ว

นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธนาคารกรุงเทพมีส่วนปล่อยสินเชื่อคิดเป็น 33% ของวงเงินรวม หรือประมาณ 21,120 ล้านบาท จะทยอยเบิกจ่ายตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2561

นายมนตรี เดชาสกุลสม ผู้อำนวยการสำนักงานทางหลวงที่ 13 (พื้นที่กรุงเทพฯ) กรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า กรมอยู่ระหว่างพิจารณาแบบรายละเอียดก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพูกับสีเหลือง ก่อนจะอนุญาตให้ รฟม.ใช้พื้นที่

โดยสายสีชมพูสร้างบนถนนแจ้งวัฒนะ กรมกำลังพิจารณาสร้างอุโมงค์รับน้ำหรือท่อระบายน้ำใต้ทางเท้าแนวถนนแจ้งวัฒนะใหม่ เนื่องจากพื้นที่เกาะกลางถนนจะหายไปหลังจากมีการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู เพราะเป็นพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วมขังอยู่แล้ว อีกทั้งยังให้ รฟม.พิจารณาขยับตำแหน่งสถานีหลักสี่ให้มาใกล้กับสายสีแดง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

สำหรับสายสีเหลืองอยู่ระหว่างพิจารณาการเข้าใช้พื้นที่ถนนศรีนครินทร์และถนนเทพารักษ์ ที่ดินของแขวงสมุทรปราการตรงแยกต่างระดับศรีเอี่ยม ก่อสร้างทางวิ่ง สถานี และอาคารจอดแล้วจร จะให้ขยับไปยังฝั่งตรงข้าม มีพื้นที่ว่างประมาณ 10 ไร่แทน


ด้านนายสุรพงษ์กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีการปรับตำแหน่งสถานีของสายสีชมพูและสีเหลืองแต่อย่างใด ซึ่งบริษัทออกแบบรายละเอียดตามที่ รฟม.ศึกษาไว้ ยกเว้น รฟม.จะไม่ได้รับการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้าง อาจจะมีการปรับแบบใหม่ในอนาคต