เปิดสาเหตุล้มประมูล เบื้องหลัง 2 เจ้าพ่อรถไฟฟ้า ชิงสายสีส้ม

รถไฟฟ้าสายสีส้ม6

เปิดไทม์ไลน์ เบื้องหลังเจ้าพ่อรถไฟฟ้า ชิงดำรถไฟฟ้าสายสีส้ม ก่อนล้มกระดานประมูล

หลังติดหล่มปมฟ้องร้องที่ BTSC-บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ  ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง กรณี รฟม.-การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย  ได้เปลี่ยนเกณฑ์ประมูลใหม่กลางคัน จากเกณฑ์เดิมตัดเชือกกันที่ ”ราคา” เป็นนำคะแนน ”เทคนิค” และ ”ราคา” มาพิจารณาร่วมกัน อยู่หลายเดือน จนทำให้ไทม์ไลน์โครงการไม่นิ่ง

ในที่สุดคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมทุน 2562มี “กิตติกร ตันเปาว์” รองผู้ว่าการ ด้านวิศวกรรมและก่อสร้างรฟม. เป็นประธานการประชุมเมื่อวันที่ 3 ก.พ.ที่ผ่านมา ทุบโต๊ะล้มประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วง บางขุนนนท์ – มีนบุรี  ที่ ”รฟม.” เปิดให้เอกชนร่วมลงทุน PPP net cost 30 ปี วงเงิน 128,128 ล้านบาท โดยให้ รฟม.เปิดประมูลใหม่

เปิดสาเหตุล้มประมูล

“คณะกรรมการฯพิจารณาแล้วว่า การยกเลิกประมูลและเร่งขั้นตอนประมูลใหม่โดยเร็ว จะเป็นทางออกดีที่สุด ไม่กระทบต่อภาพรวมของโครงการ เพราะหากรอศาลปกครองพิจารณาคำตัดสิน จะไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะเร็วหรือช้า ไม่รู้ว่าเป้าหมายโครงการจะเป็นอย่างไร”

“ตอนนี้โครงการล่าช้า 2 เดือนแล้ว หากเปิดประมูลใหม่เวลานี้ จะมีกรอบเวลาชัดเจน และเป็นประโยชน์สูงสุดต่อโครงการ รฟม.ต้องเร่งดำเนินการต่างๆ เสนอให้คณะกรรมการพิจาณณาอีกครั้ง จะใช้เกณฑ์เก่าหรือไม่ อยู่ที่ รฟม.พิจารณา ส่วนการถอนฟ้องบีทีเอส ทางรฟม.จะรับไปดำเนินการ” นายกิติกรกล่าว

ขณะที่ ”ภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ” ผู้ว่าการรฟม. กล่าวว่า รฟม.จะต้องตั้งต้นการประมูลใหม่ จะใช้เวลาดำเนินประมาณ 1 -2 เดือนนับจากนี้ เนื่องจากจะต้องเปิดรับฟังความคิดเห็ของภาคเอกชน เพื่อนำมาประกอบในการกำหนดร่างทีโออาร์ที่จะเปิดประมูลใหม่ เช่น เกณฑ์การพิจารณาคะแนน ด้านเทคนิค เป็นต้น

“ตอนนี้ไม่มีเกณฑ์พิจารณาการประมูลเก่าที่พิจารณาทีละซองหรือเกณฑฑ์ใหม่ที่จะพิจารณาซองเทคนิคพร้อมกับซองการเงิน เพราะเราจะตั้งต้นใหม่ทั้งหมด“

ดันใช้เกณฑ์เทคนิคพ่วงราคา

ถึง”บิ๊กรฟม.”จะไม่ฟันธง ว่าใช้เกณฑ์ไหนตัดเชือก แต่ว่ากันว่า ธงของ”บิ๊กรฟม.-บิ๊กคมนาคม” คือ ถึงอย่างไรก็ต้องใช้เกณฑ์ใหม่ในการตัวชี้ขาดสนามประมูลครั้งนี้ ไม่อย่างนั้นคงไม่ชิงล้มประมูลก่อนที่ศาลจะออกคำตัดสิน

นอกจากนี้ยังมีการเฝ้าจับตาทาทีของ ”กลุ่มบีทีเอส” จะเดินหมากอย่างไร กับปฎิบัติการล้มกระดานประมูลครั้งนี้ จะฟ้องร้องหรือไม่ เพราะสิ่งที่ต่อสู้มาตลอดต้องใช้เกณฑ์เดิม คือ ชี้ขาดกันที่ ”ราคา” เหมือนการประมูลโครงการทั่วไปใช้กัน

ว่ากันว่า…ไม่น่าจะจบง่าย ๆ

เมื่อย้อนไทม์ไลน์ไล่ความเป็นมาก่อนถึงวันล้มประมูล ทาง รฟม.ออกประกาศเชิญชวนการลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (RFP) รถไฟฟ้าสายสีส้ม วันที่ 3 ก.ค. 2563 เปิดขายซองระหว่างวันที่ 10 ก.ค. -24 ก.ค. 2563

มี 10 บริษัทซื้อซอง ได้แก่ 1. บมจ. ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) 2. บมจ. ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) 3. บมจ. บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) 4. บมจ.ซิโน–ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น 5. บมจ. อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ 6. บมจ. ราช กรุ๊ป 7. บมจ.ช.การช่าง 8. บมจ. กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ 9. บจ.ซิโนไฮโดร คอร์ปอเรชั่น ลิมิเต็ดและ10. บจ. วรนิทัศน์ ดีเวลอปเมนท์

ITD ร้องเปลี่ยนเกณฑ์ใหม่

เมื่อถึงวันยื่นซองวันที่ 23 ก.ย. 2563 ปรากฎว่ามีพี่ใหญ่วงการรับเหมา”อิตาเลียนไทยฯ” ได้ส่งหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ให้พิจารณาปรับปรุงการประเมินข้อเสนอเพื่อหาผู้ชนะการคัดเลือกของโครงการ

โดยให้นำปัจจัยและผลประโยชน์ด้านอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น ข้อเสนอด้านเทคนิคการดําเนินงาน ความน่าเชื่อถือ ศักยภาพ และความสามารถของผู้ยื่นข้อเสนอ เข้ามาพิจารณาประกอบด้วย ไม่ใช่เอาแต่ข้อเสนอทางการเงินเพียงอย่างเดียว และขอให้นำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนรัฐตามมาตรา 36 ด้วย

ซึ่ง ”รฟม.” นำข้อร้องเรียนเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการมาตรา36 จนมีมติอนุมัติปรับเกณฑ์ใหม่ ให้นำข้อเสนอ”ด้านเทคนิค”มาเป็นเกณฑ์ประเมินร่วมกับ”การเงิน”ในสัดส่วน 30% เนื่องจากโครงการเป็นการก่อสร้างที่ใช้เทคนิคขั้นสูง ก่อสร้างเป็นอุโมงค์ตลอดเส้นทาง ลอดแม่น้ำเจ้าพระยา พาดผ่านพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ ภาครัฐจะต้องได้โครงสร้างที่มีคุณภาพและเป็นประโยชน์ในระยะยาว และให้ยืดเวลายื่นซองออกไปอีก 45 วัน เป็นวันที่ 9 พ.ย. 2563

BTS ร้องศาลปกครอง

ผลจากการเปลี่ยนเกณฑ์ใหม่ ทำให้ ”BTS” เดินหน้าชนเดินสายยื่นหนังสือ สคร., คณะกรรมการ รฟม. และองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ยื่นต่อศาลปกครอง และเมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2563 BTS ชนะยกแรก เมื่อศาลปกครองกลางมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามหลักเกณฑ์การประเมินที่แก้ไขเพิ่มเติมของ รฟม. และระบุว่ากระบวนการประมูลให้ทำต่อไปได้ โดยให้ใช้เกณฑ์เดิม ขณะที่ ”รฟม.” ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งทุเลาดังกล่าวต่อศาลปกครองสูงสุดช่วงต้นเดือน พ.ย. 2563

2 เจ้าพ่อรถไฟฟ้ายื่นซอง

ถึงจะมีคดีฟ้องร้องคาอยู่ที่ศาล ทาง ”รฟม.” ยังคงเดินหน้าเปิดยื่นซองประมูลตามกำหนดวันที่ 9 พ.ย. 2563 และไม่พลิกโผ มี 2 กลุ่ม ตบเท้าเข้าประมูล

รายแรก บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM ) ซึ่งนายวิทูรย์ หทัยรัตนา รองกรรมการผู้จัดการปฏิบัติการและวิศวกรรมระบบราง ระบุสั้น ๆ หลังยื่นซองว่า มาในนามของ BEM ไม่ได้ร่วมกับ บมจ.ช.การช่าง แต่อย่างใด ทั้งนี้ BEM จะต้องร่วมมือกับ ช.การช่าง แน่นอน โดยน่าจะร่วมมือกันในฐานะที่ ช.การช่าง เป็น Sub Contract

รายที่สอง เป็นกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (BSR Joint Venture) นำโดยBTSC บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง (BTS) และ บมจ.ซิโนไทยฯ โดยทั้ง 2 ราย ยืนข้อเสนอ 4 ซอง คือ คุณสมบัติ เทคนิค การเงิน และข้อเสนออื่น ๆ เพิ่มเติม

รฟม.เลื่อนเปิดซองไม่มีกำหนด

แม้จะมีการรับซองข้อเสนอไปแล้ว แต่ด้วยกระบวนการอุทธรณ์คำสั่งทุเลาที่ค้างอยู่ที่ศาลปกครองสูงสุด ยังไม่รวมคดีหลักที่ยังไม่มีคำพิพากษา บวกกับการที่มีกระแสข่าวว่า กลุ่ม BTS ทูลเกล้าถวายฎีกาขอความเป็นธรรม ทำให้เรื่องนี้รฟม.ยิ่งคิดไม่ตก

ดังนั้น จึงมีการเลื่อนเปิดซองคุณสมบัติออกไปจากวันที่ 17 พ.ย. 2563 อย่างไม่มีกำหนด จนมีมติล้มประมูลเมื่อวันที่ 3 ก.พ.2564 เพื่อรีสตาร์ทโครงการที่หยุดชะงัก

ส่วนเส้นทางการเดินหน้า จะฉลุยอย่างที่คาดหวังหรือไม่ น่าติดตามไม่น้อย เพราะงานนี้ “2 บิ๊กรถไฟฟ้า” ว่ากันว่าไม่มีใครยอมใคร!!