เวนคืนอัพเดต
ยังคงลูกผีลูกคนรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออกช่วง “ศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี” ระยะทาง 22.5 กม. จะเปิดบริการได้ภายในปี 2567 อย่างที่ “รฟม.-การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย” วางไทม์ไลน์ไว้หรือไม่
ในเมื่อต้องรองานติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ จัดหาขบวนรถและการเดินรถ ยังติดบ่วงประมูล PPP หาเอกชนมาร่วมลงทุน “สายสีส้มตะวันตก” ที่ รฟม.รวบงานก่อสร้างและเดินรถตลอดสายจากบางขุนนนท์ยิงยาวมีนบุรี เป็นสัญญาเดียวกัน ล่าสุดล้มและกำลังเปิดประมูลใหม่ให้จบในเดือน ส.ค.-ก.ย. 2564
ปัจจุบันงานก่อสร้าง “สายสีส้มตะวันออก” ทั้ง 6 สัญญา ซึ่งรัฐใช้งบฯก่อสร้าง 79,221 ล้านบาท ผลงาน ณ เดือน ม.ค.ที่ผ่านมา คืบหน้าไปแล้ว 76.09% สร้างเร็วกว่าแผน 0.84% (ดูกราฟิกประกอบ) ตามสัญญาจะแล้วเสร็จพร้อมกันในเดือน ต.ค. 2565
ตลอดเส้นทางมี 17 สถานี ได้แก่ 1.สถานีศูนย์วัฒนธรรมฯ อยู่ใต้ ถ.รัชดาภิเษก หน้าห้างเอสพลานาด เป็นสถานีร่วมกับรถไฟฟ้าใต้ดิน เจาะอุโมงค์ทะลุเข้าห้างเอสพลานาด คืบหน้า 95.83%
2.สถานี รฟม. อยู่บริเวณประตูติด ถ.พระราม 9 คืบหน้า 96.66% 3.สถานีประดิษฐ์มนูธรรม อยู่ใต้ ถ.พระราม 9 ปากซอยเข้าวัดพระรามเก้ากาญจนาภิเษก คืบหน้า 92.28%
4.สถานีรามคำแหง 12 อยู่หน้าห้างเดอะมอลล์ คืบหน้า 69.68% 5.สถานีรามคำแหง อยู่หน้า ม.รามคำแหง คืบหน้า 71.90% 6.สถานีราชมังคลา (กทท.) ด้านหน้าสนามกีฬาหัวหมาก คืบหน้า 69.70%
7.สถานีหัวหมาก ด้านหน้าโรงพยาบาลรามคำแหง คืบหน้า 65.18% 8.สถานีลำสาลี บริเวณแยกลำสาลี คืบหน้า 62.18% 9.สถานีศรีบูรพา แยกรามคำแหง ตัด ถ.ศรีบูรพา หน้าห้างบิ๊กซี เอ็กซ์ตร้า สุขาภิบาล 3 คืบหน้า 60.55%
10.สถานีคลองบ้านม้า ระหว่างซอยรามคำแหง 92-94 คืบหน้า 64.92% 11.สถานีสัมมากร ใกล้หมู่บ้านสัมมากร คืบหน้า 44.46%
12.สถานีน้อมเกล้า อยู่หน้า ร.ร.เตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้า คืบหน้า 43.55% 13.สถานีราษฎร์พัฒนา หน้าบริษัทมิสทิน คืบหน้า 41.21%
14.สถานีมีนพัฒนา ทางเข้าวัดบางเพ็งใต้ คืบหน้า 44.18% 15.สถานีเคหะรามคำแหง ปากซอยรามคำแหง 184 ใกล้เคหะรามคำแหง คืบหน้า 45.20%
16.สถานีมีนบุรีบริเวณสะพานข้ามคลองสองต้นนุ่น ซอยรามคำแหง 192 เชื่อมสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) คืบหน้า 40.52% และ 17.สถานีสุวินทวงศ์ ใกล้แยกสุวินทวงศ์ คืบหน้า 47.17% ขณะที่งานศูนย์ซ่อมบำรุงคืบหน้า 91.02% และอาคารจอดแล้วจร คืบหน้า 16.06%
ในแผนงานของ รฟม.จะเปิดให้บริการภายในปี 2567 และเปิดตลอดสายพร้อมกับสายสีส้มตะวันตกภายในปี 2569 แล้วช่วง 2 ปีงานก่อสร้างที่แล้วเสร็จ รอผู้รับสัมปทานนำรถมาวิ่ง “รฟม.” จะดำเนินการอย่างไร
แหล่งข่าวจาก รฟม.กล่าวว่า ตามกรอบเวลา หากได้เอกชนผู้รับสัมปทาน จะเร่งให้ติดตั้งระบบและจัดหารถก่อน ใช้เวลา 3 ปีเร็วขึ้น จากเดิมจะใช้เวลา 3 ปี 6 เดือน หากได้เอกชนปลายปี 2564 หรืออย่างช้าต้นปี 2565 การเปิดบริการยังคงอยู่ในปี 2567 หรือถ้าช้าก็ขยับไปเป็นต้นปี 2568
“ต้องมีการดูแลรักษาหรือค่า care of work โครงสร้างงานโยธาที่สร้างเสร็จ รวมถึงระบบลิฟต์ บันไดเลื่อน อุปกรณ์ต่าง ๆ ประเมินคร่าว ๆ จะมีค่าใช้จ่ายเดือนละ 40 ล้าน หรือปีละ 480 ล้านบาท ถ้ารอ 2 ปีก็อยู่ที่ 960 ล้านบาท รฟม.ต้องของบประมาณจากรัฐบาล”
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า คงเร่งให้เร็วกว่านี้ไม่ได้ เพราะเป็นการก่อสร้างออกแบบไปก่อสร้างไป ซึ่งเอกชนที่มารับสัมปทานเดินรถต้องออกแบบงานระบบกับงานโยธาช่วงตะวันตกให้สอดรับกับช่วงตะวันออกด้วย ยังไงต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปีขึ้นไป เพราะต้องออกแบบ สั่งผลิต ทดสอบระบบให้ครบถ้วนก่อนเปิดให้บริการ
“หากได้เอกชนที่รับสัมปทานเดินรถ ต้องเร่งงานอื่นที่ไม่เกี่ยวกับระบบรถไปก่อน เช่น ติดตั้งฉากกั้นชานชาลา ห้องขายตั๋ว ระบบควบคุมเดินรถ”
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ยกเว้นได้เอกชนรายเดิม คือ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ผู้รับสัมปทานเดินรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีน้ำเงิน มีประสบการณ์อยู่แล้ว อาจจะทำให้การเปิดบริการเร็วขึ้น อาจจะไม่ต้องเสียค่าดูแลรักษานาน 2 ปี อยู่ที่ว่า BEM จะใช้ระบบของอะไรในการเดินรถสายสีส้ม หากเป็นระบบเดียวกับสายสีน้ำเงินก็ยิ่งดี
ถ้าสัมปทานไม่จบ ทำให้โครงการยิ่งช้า ยิ่งเสียหาย ทุกอย่างเป็นต้นทุนหมด รฟม.ไม่มีงบฯที่จะมารับภาระตรงนี้ และไม่สามารถนำค่าเผื่อเหลือเผื่อขาดมาใช้ได้ เพราะไม่ใช่เกิดจากเหตุสุดวิสัย แต่เป็นการบริหารงานบกพร่องที่ไม่สามารถดำเนินโครงการได้ตามแผน จะขยายเวลาก่อสร้างให้ผู้รับเหมาคงไม่ได้ เพราะงานก่อสร้างเป็นไปตามแผน และมีนโยบายไม่ให้ต่อเวลา เนื่องจากต้องจ่ายค่าเคลมให้ผู้รับเหมาอีก