ภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ไขปมล้มประมูล “รถไฟฟ้าสายสีส้ม”

สัมภาษณ์พิเศษ

การอภิปรายไม่ไว้วางใจจบแล้ว แต่รถไฟฟ้าสายสีส้มช่วง “บางขุนนนท์-มีนบุรี” ระยะทาง 35.9 กม. วงเงิน 128,128 ล้านบาท ยังคงเป็นที่จับตา หลัง “รฟม.-การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย” ได้ล้มประมูลโครงการมีเอกชน 2 รายยื่นซอง คือ กลุ่มกิจการร่วมค้า BSR (บีทีเอส-ซิโน-ไทยฯ) และ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) กำลังเตรียมเปิดประมูลอีกครั้ง จะเดินหน้าเกณฑ์เก่าเปิดข้อเสนอทีละซอง ตัดเชือกที่ “ราคา” หรือเกณฑ์ใหม่เป็นสูตรผสมซองเทคนิคและซองการเงิน

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ “ภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ” ผู้ว่าการ รฟม.กับภารกิจเดินหน้ารถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่ล้มแล้วกลับมาประมูลรอบใหม่

Q : การเปลี่ยนเกณฑ์ประมูลใหม่

เกิดจากคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (บอร์ด PPP) ออกประกาศเรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขในการคัดเลือกเอกชน เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 2563 หลังคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนภาครัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 อนุมัติเกณฑ์ประมูลตามปกติไปแล้ว โดยตัดสินที่ข้อเสนอซองที่ 3 การเงิน

เมื่อประกาศบังคับใช้ จึงหารือที่ปรึกษาได้ข้อคิดเห็นว่าโครงการมีแนวเส้นทางอยู่ใต้ดิน ผ่านย่านการค้า เช่น เพชรบุรีตัดใหม่ ตลาดประตูน้ำ ย่านเมืองเก่า มีแหล่งโบราณสถานเป็นจำนวนมาก เช่น ราชดำเนิน พระบรมมหาราชวัง และอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มีความเห็นให้ปรับปรุงหลักเกณฑ์การประเมิน ให้รวมซองเทคนิคเข้าไปร่วมพิจารณากับข้อเสนอผลตอบแทนให้รัฐด้วยในอัตรา 30% ส่วนการเงินอยู่ที่ 70% จึงเสนอให้คณะกรรมการมาตรา 36 พิจารณาทบทวนและมีมติเดือน ส.ค. 2563 และขยายเวลายื่นซองให้อีก 45 วัน ให้เวลาเตรียมเอกสารยื่นข้อเสนอถึง 70 วัน ถือว่าให้เวลามากพอ และเกณฑ์นี้เคยใช้มาแล้วกับสายสีน้ำเงินช่วงหัวลำโพง-บางซื่อ เมื่อปี 2540 ครั้งนั้นแบ่งสัดส่วนเทคนิค 50% การเงิน 50% มากกว่าสายสีส้มอีก และได้ผลงานก่อสร้างและบริการที่มีคุณภาพ ปลอดภัยสูงสุด แต่กับสายสีส้มจากภาวะเศรษฐกิจมีปัญหาในปัจจุบัน ทำให้ผลตอบแทนทางการเงินมีความสำคัญ จึงเพิ่มสัดส่วนเป็น 70% ส่วนเทคนิคใช้ 30%

Q : ผู้ว่าการชี้แจงการเปลี่ยนเกณฑ์ใหม่ต่อคณะกรรมการเอง

ใน พ.ร.บ.ร่วมทุน 2562 ในมาตรา 35 ระบุว่า “ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการจัดทําร่างประกาศเชิญชวนร่างเอกสารสําหรับการคัดเลือกเอกชน และร่างสัญญาร่วมลงทุน เสนอต่อคณะกรรมการคัดเลือกเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ” ทำให้ผมต้องเข้าไปเสนอร่างเอกสารเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนเอง และมาตรา 39 ยังระบุให้ “เมื่อคณะกรรมการคัดเลือกให้ความเห็นชอบร่างประกาศเชิญชวนร่างเอกสารสําหรับการคัดเลือกเอกชน และร่างสัญญาร่วมลงทุนแล้ว ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการและคณะกรรมการคัดเลือกดําเนินการคัดเลือกเอกชนตามหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด” ดังนั้น ตามกฎหมายให้อำนาจหน่วยงานเจ้าของโครงการต้องปฏิบัติตามกฎหมาย

Q : ทำไมต้องล้มประมูล

มีเอกชนรายหนึ่งร้องศาลปกครองกลางเรื่องเปลี่ยนเกณฑ์ใหม่ จนศาลมีคำสั่งทุเลา รฟม.และคณะกรรมการมาตรา 36 จึงไปยื่นอุทธรณ์ตามสิทธิ์ ไม่ได้ดื้ออย่างที่คนมอง เป็นสิทธิ์ที่คู่กรณีขออุทธรณ์คำสั่งได้ตามปกติ และเมื่อยื่นซองวันที่ 9 พ.ย. 2563 ก็ได้เลื่อนเปิดซองข้อเสนอออกไป เพราะติดกระบวนการทางคดีความ ซึ่งมีข้อสังเกตว่า ซองข้อเสนอมีระยะเวลายืนราคา 270 วัน ทั้ง รฟม.และคณะกรรมการมาตรา 36 ก็ติดตามทุกเดือน

แต่กระบวนการพิจารณาคดีใช้เวลานาน เคยคาดหลังปีใหม่น่าจะจบ แต่ยังไม่ตัดสิน จึงเสนอเปรียบเทียบระหว่างการรอให้คดีถึงที่สุด กับระยะเวลายืนราคาที่ลดน้อยลงเรื่อย ๆ ซึ่งการพิจารณาคัดเลือกยังมีกระบวนการอีกมาก อาจทำให้เวลาที่เหลืออยู่ไม่พอ หากคัดเลือกต่อไปแล้วเวลายืนราคาหมดลงในชั้นเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้วเอกชนไม่ต่ออายุการยืนราคา ต้องเริ่มใหม่ทั้งหมดอยู่ดี และการจัดประมูลใหม่ย่นระยะเวลาการดำเนินการได้เร็วกว่า ใช้เวลาคัดเลือก 6 เดือนก็เสร็จ ทันกับเปิดสายสีส้มฝั่งตะวันออกศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรีในปี 2567

หากรอให้คดีถึงที่สุดและคัดเลือกเอกชนต่อ อาจจะสร้างความเสียหายต่อรัฐมากกว่าเดือนละ 206 ล้านบาท เพราะต้องจ่ายค่าดอกเบี้ยเดือนละกว่า 165 ล้านบาท มีค่าดูแลรักษางานโยธาส่วนตะวันออกเสร็จก่อนอีกเดือนละ 41 ล้านบาท ยังไม่รวมมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจ ที่ประชาชนต้องรอใช้บริการ การยกเลิกประมูลจึงจำเป็น เพื่อป้องกันความเสียหายของโครงการและการเสียโอกาสทางเศรษฐกิจของประเทศมากกว่า

ขณะนี้ รฟม.ได้ถอนการอุทธรณ์คำสั่งทุเลากับศาลปกครองสูงสุดและศาลก็เห็นชอบแล้ว การกระทำดังกล่าวได้ปรึกษาอัยการสูงสุดร่วมด้วย อีกทางหนึ่งคดีหลักที่ยังคาอยู่ จะทำคำให้การเพิ่มเติมในการยกเลิกการประมูล เพื่อให้ศาลจำหน่ายคดี เนื่องจากเมื่อถอนการอุทธรณ์บวกกับยกเลิกการประมูลแล้ว ไม่มีเหตุผลที่จะพิจารณาคดีที่เอกชนไปฟ้องอีก กำลังรอศาลปกครองกลางจะมีคำพิพากษาอย่างไร

Q : TOR ใหม่ใช้เกณฑ์ไหนพิจารณา

ขอ market sounding เอกชนก่อน ถ้ามีความเห็นทั้ง 2 แบบ คือ เอาทั้งการเงิน และการเงินควบเทคนิค ต้องเสนอให้คณะกรรมการมาตรา 36 พิจารณา

Q : ไทม์ไลน์การจัดประมูลใหม่

เดือน ก.พ.นี้ จะเริ่ม market sounding เอกชน จากนั้นเดือน มี.ค.จะเสนอคณะกรรมการตามมาตรา 36 เห็นชอบร่าง TOR และเดือน พ.ค. 2564 เปิดให้เอกชนยื่นซอง คาดว่าจะได้เอกชนร่วมลงทุนในเดือน ก.ค. 2564 และการก่อสร้างจะเริ่มในเดือน ส.ค. 2564 อาจจะให้ผู้รับจ้างทำเร่งรัดสั่งผลิตขบวนรถก่อน เพราะใช้เวลาสั่งผลิต 24 เดือนเป็นอย่างน้อย เพื่อให้ทันกับฝั่งตะวันออกที่งานโยธาคืบหน้ากว่า 76% แล้ว

Q : ข้อสรุปค่าโดยสาร

ยังเป็นไปตามเกณฑ์ของ รฟม. คือ 14-42 บาท แต่ ณ ปีที่เปิดในปี 2567 จะต้องบวกอัตราเงินเฟ้ออีก 1.8% ทำให้ค่าโดยสารน่าจะอยู่ระหว่าง 20-45 บาท