เลาะไซต์รถไฟสายสีแดง “บางซื่อ-รังสิต” 5 ปี ผลงาน 55%-ITD ปิดจ็อบ ปี”61

คอลัมน์ เวนคืนอัพเดต

ปัจจุบันรถไฟฟ้าสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต ระยะทาง 26 กม.ใช้เงินลงทุน 93,950 ล้านบาท ไม่ใช่แค่ประมาณการผู้โดยสารที่ลดเป้าลงจากผลศึกษา 1.4-1.5 แสนเที่ยวคน/วันเหลือกว่า 8.6 หมื่นเที่ยว/วัน

ในส่วนของงานก่อสร้างที่ผ่านมาได้ปรับแบบอยู่เป็นระยะ ๆ เพื่อรองรับกับรถไฟความเร็วสูง รวมถึงให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ที่มีปัญหาเรื่องการยื้อย้าย ทำให้โครงการล่าช้าเป็นแรมปีนับจากเริ่มตอกเข็มต้นแรกเมื่อต้นปี 2556

ปีนี้กำลังเข้าสู่ปีที่ 5 ผลงานก่อสร้างเริ่มรุดหน้าหลังเคลียร์ปมปัญหาการส่งมอบพื้นที่และแบบรายละเอียดที่เพิ่มเติมระหว่างแล้วเสร็จ

สถานะโครงการ ณ วันที่ 25 ก.ย. 2560 โดยรวมคืบหน้าแล้วประมาณ 55% แยกเป็นงานสัญญาที่ 1 งานสถานีกลางบางซื่อและศูนย์ซ่อมบำรุง เริ่มงานก่อสร้างเมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2556 มีกลุ่มกิจการร่วมค้า SU (บมจ.ซิโน-ไทยฯ และบมจ.ยูนิคฯ) เป็นผู้ก่อสร้าง เริ่มทำผลงานดีดกลับจากที่ล่าช้าอยู่มาก ล่าสุดคืบหน้า 59.70% เร็วกว่าแผนไม่ถึง 1%

สัญญาที่ 2 งานโครงสร้างทางวิ่งยกระดับและระดับพื้น งานสถานี 8 แห่ง และถนนเลียบทางรถไฟและถนนทางข้ามไซต์ก่อสร้างของ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ หลังเริ่มงานตอกเข็มเมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2556 ปัจจุบันคืบหน้า 89.85% ล่าช้าจากแผน 5% เนื่องจากถูกสั่งหยุดงานก่อสร้างบางส่วนหลังเกิดอุบัติเหตุหลายครั้ง แต่ขณะนี้อิตาเลียนไทยฯกำลังเร่งเครื่องให้งานแล้วเสร็จในเดือน ก.พ. 2561 ตามไทม์ไลน์ที่ปรับใหม่ เพื่อโยกคนเข้าไปไซต์รถไฟฟ้าสายสีส้มศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรีต่อ และสัญญาที่ 3 งานระบบไฟฟ้า เครื่องกลและจัดหาตู้รถไฟฟ้า หลังใช้เวลากว่าหลายปี ผ่าทางตันผลการประมูลจนเซ็นสัญญากับกลุ่มมิตซูบิชิ-ฮิตาชิ-สุมิโตโมและเริ่มงานเมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2559 ล่าสุดมีความคืบหน้าแล้ว 18.60% ยังล่าช้าจากแผน 13%

เมื่อเจาะรายละเอียดเนื้องานรายสถานีในแนวเส้นทาง เริ่มจาก “สถานีกลางบางซื่อ” คืบหน้า 39.68% ติดปัญหารื้อย้ายท่อน้ำมันของบริษัท FPT ขณะที่งานศูนย์ซ่อมบำรุงก้าวหน้า 75.48%

“สถานีจตุจักร” คืบหน้า 55.67% “สถานีวัดเสมียนนารี” มีความคืบหน้า 91.85% “สถานีบางเขน” คืบหน้า 91.30% “สถานีทุ่งสองห้อง” คืบหน้า 93.41% “สถานีหลักสี่” คืบหน้า 90.93%

“สถานีการเคหะ “คืบหน้า 91.07%” สถานีดอนเมือง “คืบหน้า 67.02% จากนั้นแนวเส้นทางจะปรับลดระดับลงสู่ระดับดิน มี “สถานีหลักหก” คืบหน้า 77.28% และ”สถานีรังสิต” คืบหน้า 83.66%

สำหรับรูปแบบรถไฟที่จะใช้ให้บริการในโครงการ เป็นรถไฟฟ้าวิ่งบนรางขนาด 1 เมตร มีระบบสายส่งไฟเหนือศีรษะ เป็นระบบเทคโนโลยีของฮิตาชิ จากประเทศญี่ปุ่น ถูกออกแบบวิ่งได้ความเร็วสูงสุด 160 กม./ชม. แต่วิ่งให้บริการจริงด้วยความเร็ว 120 กม./ชม. ขบวนรถแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ประเภท 4 ตู้/ขบวน รองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 1,126 คน และประเภท 6 ตู้/ขบวน รองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 1,714 คน

แหล่งข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ที่ผ่านมา ร.ฟ.ท.ได้ขยายเวลาให้ผู้รับเหมา โดยสัญญาที่ 1 ขยายจากสิ้นสุดวันที่ 10 ก.พ. 2560 ออกไปอีก 1,021 วันไปสิ้นสุดในปี 2562 สัญญาที่ 2 ขยาย 365 วัน จากสิ้นสุดวันที่ 10 ก.พ. 2560 เป็นวันที่ 10 ก.พ. 2561 ส่วนเงินค่าชดเชยที่ผู้รับเหมาเสนอมา 800 ล้านบาทยังไม่มีการอนุมัติแต่อย่างใด

ปัจจุบันตามกำหนดจะเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิตพร้อมกับช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ยังคงเป้าเดิมภายในเดือน มิ.ย.2563 โดยปีแรกเปิดบริการจะมีผู้โดยสารประมาณ 86,680 เที่ยวคนต่อวัน ค่าโดยสาร 15-45 บาท มีจุดเปลี่ยนถ่ายการเดินทางที่สถานีบางซื่อ สำหรับผู้ที่ต้องการเดินทางจากตลิ่งชันไปยังปลายทางที่รังสิต