ไฮไลต์เบอร์ 1 “การทางพิเศษฯ“ ลุยทางด่วน 4 เส้นทาง “เมืองกรุง-ภูเก็ต”

สิงหาคม 2563 “บิ๊กปาน-สุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข” ข้ามห้วยจากรองผู้ว่าการ รฟม.ขึ้นมานั่งเก้าอี้ผู้ว่าการ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.)

สิงหาคม 2564 จะครบรอบการทำงาน 1 ปีแรก ตามธรรมเนียมเป็นเวลาอัพเดตผลงานที่ได้เข้ามาสางงานต่อ-ก่องานใหม่-รันงานนโยบายที่รับมอบหมายจากกระทรวงคมนาคม

“บิ๊กสุรเชษฐ์” บอกว่า เตรียมความพร้อมสำหรับอีเวนต์แถลงผลงานปีแรกไว้เรียบร้อยแล้ว “ประชาชาติธุรกิจ” ถือโอกาสเยี่ยมออฟฟิศใหม่และอัพเดตโครงการทางด่วนที่ถือเป็นไฮไลต์ของ กทพ.ในยุคโควิด

ด่วนดาวคะนองได้เวลาปิดจ็อบ

หากนับตามไทม์ไลน์การทำงานตามปีงบประมาณ 2564 ที่เหลือเวลาอีกไม่ถึง 3 เดือน งานคั่งค้างที่อยากเคลียร์ให้จบ (ถ้าไม่เจอคลื่นแทรก) หนีไม่พ้นโครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครตะวันตก เรียกสั้น ๆ ว่า “ทางด่วนพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนตะวันตก”

ทางด่วนดาวคะนองโครงการนี้ออกแบบการประมูล 5 สัญญาด้วยกัน ประมูลเสร็จ-ตอกเข็มตั้งแต่ปี 2563 คือสัญญาที่ 2 กับสัญญาที่ 4 (ดูตารางประกอบ) อีก 2 สัญญา คือสัญญาที่ 1+ สัญญาที่ 3 แม้ผู้รับเหมาไทย-เทศแข่งประมูลด้วยการดัมพ์ราคาลงหลักพันล้านบาท แต่ไม่สามารถปิดจ็อบได้ เพราะมีการร้องอุทธรณ์ผลประมูลกันนัวเนีย

ล่าสุด ผู้ว่าการ กทพ.ที่มีปรัชญาบริหารจัดการที่ว่า “Make it’s impossible, make it’s possible” ทำเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ให้เป็นไปได้

หนึ่งในโปรเจ็กต์ที่จะถูกบรรจุในการแถลงผลงาน 1 ปีแรกก็คือ การเดินหน้าจัดประมูลครั้งที่ 2 สำหรับสัญญา 1+3 โดยได้เปิดขายซองประกวดราคาเมื่อ 29 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา ตั้งเป้าได้ผลผู้ชนะประมูลวันที่ 2 สิงหาคม 2564

การทำงานแข่งกับเวลาก่อนสิ้นปีงบประมาณ 2564 คือต้องทำให้จบภายใน 30 กันยายน 2564 น่าสนใจว่ามีแม่ไม้กลยุทธ์อะไรที่จะทำให้ไม่มีการฟ้องร้องอุทธรณ์ผลประมูลอีกเป็นครั้งที่ 2

แจ้งเกิดด่วนเกษตร-นวมินทร์

ถัดมา โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ระยะที่ 1 ถนนประเสริฐมนูกิจ-ถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันออก เรียกสั้น ๆ ได้ว่า “ทางด่วนเกษตร-นวมินทร์” โครงการที่ตั้งไข่ตั้งแต่ปี 2538 ล้มลุกคลุกคลานอยู่กับระเบียบขั้นตอนราชการ

ตัวโครงการมีระยะทางรวม 18.4 กิโลเมตร แบ่ง 2 ตอนหลักคือ N1 ยาว 7.1 กิโลเมตร วงเงิน 14,480 ล้านบาท ตอนนี้ส่อแนวโน้มแป้กยาวเพราะตัวโครงการก่อสร้างผ่านหน้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ซึ่งเป็นผู้คัดค้านหลัก

อีกตอนคือ N2 ความยาว 11.3 กิโลเมตร วงเงิน 16,960 ล้านบาท ทางผู้ว่าการ กทพ.ที่ประกาศขอเป็นนักรบสมรภูมิทางด่วน ใช้วิทยายุทธ์จากที่เคยควบคุมคนเดียวในเวลาเดียวกัน 4 โปรเจ็กต์รถไฟฟ้า “เขียวเหนือ-ส้ม-ชมพู-เหลือง” มาปรับใช้กับการเร่งรัดผลักดัน

จนกระทั่ง “คจร.-คณะกรรมการจัด​ระบบการจราจรทางบก” ที่มี “บิ๊กป้อม-พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ” เป็นประธาน ปลดล็อกเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ให้ทำงานง่ายขึ้นด้วยการให้แยกก่อสร้าง N1 กับ N2 ได้ (จากเดิมให้มัดรวมกัน สร้างพร้อมกัน พอโดน ม.เกษตรฯคัดค้านทำให้แป้กทั้งเส้น)

โครงการนี้ “บิ๊กสุรเชษฐ์” บอกว่า เต็มที่ในปีงบประมาณ 2565 น่าจะได้เห็นเนื้อเห็นหนัง เพราะส่งเรื่องเสนอตามขั้นตอนไปยัง “บิ๊กโอ๋-ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รมว.คมนาคมพิจารณา ก่อนส่งต่อไปยังที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบต่อไป

เจาะอุโมงค์กะทู้-ป่าตอง

มหากาพย์เล็ก ๆ โครงการทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต ตั้งแต่ปี 2553 ระหกระเหินซ้ายลากไปขวาลากมา 10 ปี ผู้ว่าการ กทพ.คนปัจจุบันตามไปแซะจนได้ไฟเขียวให้เริ่มหยิบจับ 3.98 กิโลเมตร มูลค่างาน 14,470 ล้านบาท

เหมือนจะแพงแต่ก็มีเหตุผลเพราะงานยากอยู่ที่การเจาะอุโมงค์ทางด่วนใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ความยากเด้งที่ 2 เป็นการเจาะอุโมงค์ผ่านชั้นหินแกรนิตที่มีความแข็งสุด ๆ ยาว 2 กิโลเมตร

ทำงานเข้าตาเจ้ากระทรวงคมนาคม สั่งนโยบายมาให้รวมทำหรือ “แลกแบบ” กับโครงการทางพิเศษสายเมืองใหม่-เกาะแก้ว-กะทู้ เจ้าของโครงการเดิมคือกรมทางหลวง (ทล.) ระยะทางจาก 3.98 กิโลเมตรก็เลยงอกเพิ่ม 30 กิโลเมตร รวมเป็น 34 กิโลเมตร

อย่างไรก็ตามจะแยกทำงานอุโมงค์ก่อน 3.98 กิโลเมตร คำนวณตามขั้นตอนประมูล ถ้ามีผู้หลักผู้ใหญ่ช่วยหนุนคาดว่าไตรมาส 3/65 มีโอกาสเปิดประมูลได้

ปิดดีล ทล. ด่วนฉลองรัช-สระบุรี

เมกะโปรเจ็กต์ที่อยู่ในท่อลงทุน โครงการทางพิเศษสายฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี ของ ทล. โครงการเต็มเฟสยาว 104.7 กิโลเมตร งบฯลงทุนทะลุ 80,000 ล้านบาท ออกแบบสร้าง 4 เฟสด้วยกัน

แผนลงทุนของ กทพ.ประกาศทำเฟส 1 เท่านั้น ความยาว 20 กิโลเมตร วงเงิน 20,000 ล้านบาท เหตุผลจากได้มีการบูรณาการทำงานเชิงลึกกับ “สราวุธ ทรงศิวิไล” อธิบดี ทล. แบ่งขอบพื้นที่การลงทุนชัดเจน

โดยการทางพิเศษฯลงทุนไม่เกินถนนวงแหวนของเมือง ไม่ว่าจะเป็นเมืองกรุงหรือหัวเมืองต่างจังหวัด