ศาลปกครองตัดสินพลิกผลประมูลรถไฟไทย-จีน “ITD-CREC” จ่อเสียบ

รถไฟไทย-จีน

“อิตาเลียนไทย-ไชน่าเรลเวย์” เฮ ! “ศาลปกครองกลาง” ถอนคำสั่งกรมบัญชีกลาง ดีด “นภา-ทุนมาเลย์” ชวดสัญญา 3-1 ไทยจีน เหตุไม่มีคุณสมบัติตาม TOR

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2564 ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อเรียกร้อง กรมบัญชีกลาง วินิจฉัยให้กิจการร่วมค้า BPHB-TIM SEKATA JV (ประกอบด้วย บจ.นภาก่อสร้าง, บจ.บิน่า พูรี่ เอสดิเอ็น บีเอชดี, นายชาตรี เขมาวชิรา) เป็นผู้ชนะโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงกรุงเทพฯ – หนองคาย ระยะที่ 1 กรุงเทพฯ – นครราชสีมา สัญญาที่ 3-1 งานโยธาช่วงแก่งคอย-กลางดง และช่วงปางอโศก–บันไดม้า ระยะทาง 30 กม. โดยเสนอราคา 9,330 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลาง 2,056 ล้านบาท

ถอนคำสั่งกรมบัญชีกลาง “BPHB” ไร้คุณสมบัติ

โดยศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่ากิจการร่วมค้าดังกล่าวไม่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามประกาศและเอกสารประกวดราคา เนื่องจาก บจ.บีพีเอ็นพี ในฐานะผู้ร้องสอดในคดีนี้ มีสถานะเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากผู้ถือหุ้นอื่น ๆ ของกิจการร่วมค้า ไม่สามารถนำผลงานก่อสร้างของผู้ถือหุ้นมาใช้เป็นประสบการณ์ผลงานของตัวเองได้ จะต้องแสดงผลงานในนามบริษัทเท่านััน

หลักฐานชี้ชัดไม่เป็นไปตาม TOR

ส่วนที่ผู้ร้องสอดได้ยื่นหนังสือรับรองผลงานของ บจ.บิน่า พูรี่ เอสดิเอ็น บีเอ็นดี ที่ออกโดยบจ.PRASARANA MALAYSIA BERHAD ผู้เป็นเจ้าของงาน และหนังสือรับรองผลงานที่ออกให้โดยกิจการร่วมค้า BPHB เป็นผู้รับรองหลัก ข้อเท็จจริงแม้จะออกโดยเจ้าของผลงาน แต่หนังสือรับรองเพียงว่า บจ.บิน่า พูรี่ เอสดิเอ็น บีเอชดี เป็นผู้รับจ้างช่วงงานก่อสร้างจากกลุ่มกิจการร่วมค้า BPHB เท่านั้น และไม่ได้ระบุมูลค่าของผลงานไว้ด้วย อีกทั้งกิจการค้าร่วม BPHB ก็ไม่ใช่เจ้าของงานก่อสร้าง ดังนั้น หนังสือรับรองผลงานของผู้ร้องสอดจึงไม่เป็นไปตามประกาศและเอกสารประกวดราคากำหนด (TOR)

และเป็นผลให้คำสั่งของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อเรียกร้อง กรมบัญชีกลางที่ให้กลุ่มกิจการร่วมค้า BPHB เป็นผู้ชนะโครงการไม่ชอบด้วยกฎหมาย และพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวโดยให้มีผลย้อนหลังถึงวันที่มีคำสั่งดังกล่าว

ส่วนคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ทั้งนี้ ให้คำสั่งศาลที่มีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับตามคำสั่งของ ร.ฟ.ท.ตามหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ กค (กอร) 0405.5/52945 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2563 มีผลใช้บังคับต่อไปจนกว่าจะพ้นระยะเวลาการอุทธรณ์

ในกรณีที่มีการอุทธรณ์ หากศาลมีคำสั่งรับอุทธรณ์ ให้คำสั่งดังกล่าวมีผลใช้บังคับต่อไปจนกว่าศาลปกครองสูงสุดจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น โดยมีข้อสังเกตเกี่ยวกับแนวทางหรือวิธีการดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษา ให้ รฟม.พิจารณาดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างผู้ชนะการเสนอราคา ตามประกาศของ ร.ฟ.ท. เรื่อง ประกาศผู้ชนะการเสนอราคาประกวดราคาจ้างก่อสร้างโครงการพิพาท ฉบับลงวันที่ 15 กันยายน 2563

ทั้งนี้ ให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ 2560 และระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ 2560 เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของ ร.ฟ.ท.ตามประกาศประกวดราคาฉบับดังกล่าว เพื่อให้การดำเนินการกิจการสาธารณะซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของ ร.ฟ.ท. บรรลุผลโดยเร็วต่อไป

อิตาเลียนไทย-CREC มีลุ้นได้งานแทน

สำหรับโจทก์และจำเลยที่มีในคดีนี้ประกอบด้วย ผู้ฟ้องคดีคือ บจ.ไชน่า เรลเวย์ นับเบอร์เทน เอนจิเนียริ่ง กรุ๊ป (CREC) พันธมิตร บมจ.อิตาเลียนไทยฯ ที่เข้าร่วมประมูลโครงการในนามกลุ่มกิจการร่วมค้า ITD-CREC NO.10.JV และมีบริษัท บีพีเอ็นพี จำกัด เป็นผู้ร้องสอด

ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีมี 3 ราย ประกอบด้วย

  • ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1.การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.)
  • ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2.คณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ กรมบัญชีกลาง
  • และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3.คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน กรมบัญชีกลาง

สำหรับคดีนี้สืบเนื่องจากการประมูลงานโยธารถไฟความเร็วสูงไทยจีน ช่วงกรุงเทพฯ–นครราชสีมา สัญญาที่ 3-1 งานโยธาช่วงแก่งคอย-กลางดง และช่วงปางอโศก–บันไดม้า ระยะทาง 30 กม.ราคากลาง 11,386 ล้านบาท ซึ่งในครั้งแรกคณะกรรมการคัดเลือกได้ให้ บจ.บีพีเอ็นพี ที่จดทะเบียนนิติบุคคลใหม่ในนามกิจการร่วมค้า BPHB เป็นผู้ชนะ โดยเสนอราคา 9,330 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลาง 2,056 ล้านบาท และเฉือนราคาเสนอของบริษัท ITD-CREC No.10JV ไปเพียง 19 ล้านบาท

แต่ต่อมาคณะกรรมการคัดเลือกได้ตัดสิทธิ์ กลุ่มกิจการร่วมค้า BPHB เพราะไม่ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติจากเหตุเอกสารการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนใหม่ไม่ถูกต้อง และให้กลุ่ม ITD-CREC No.10JV เป็นผู้ชนะ ทาง BPHB จึงยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน กรมบัญชีกลาง ซึ่งอุทธรณ์เป็นผล คณะกรรมการคัดเลือกจึงให้บีพีเอ็นพีกลับมาเป็นผู้ชนะโครงการอีกครั้งหนึ่ง

ทาง ITD-CREC No.10JV จึงยื่นอุทธรณ์คำสั่งต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน กรมบัญชีกลางแต่ไม่เป็นผล จึงยื่นเรื่องถึงศาลปกครองกลาง

จนเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างโครงการเป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่นในที่สุด

และวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตามคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นให้ทุเลาการบังคับตามคำสั่งของคณะกรรมการการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน กรมบัญชีกลาง ไว้ก่อนเป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น จนมาถึงการพิพากษาในวันนี้ในที่สุด

คลิกอ่านข่าวศาลปกครองกลางฉบับเต็มที่นี่