แก้สัญญาแอร์พอร์ตลิงก์เชื่อมไฮสปีด

แอร์พอร์ต

ครม.ไฟเขียวแก้สัญญาบริษัทเอเชีย เอรา วัน ขยายเวลาชำระค่าให้สิทธิร่วมทุนแอร์พอร์ตลิงก์ จ่อลงนาม MOU ยืดเวลาปรับรายละเอียด “ไฮสปีด 3 สนามบิน” เปิดทางกลุ่ม ซี.พี.ขอผ่อนจ่าย 10,671 ล้านบาท เดินหน้าส่งมอบพื้นที่ช่วง “สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา” 24 ต.ค. 64 ตามกำหนดเดิม พร้อมเร่งเคลียร์สาธารณูปโภค “ไฟฟ้า-ประปา” 3 จุดก่อนเปิดไซต์ก่อสร้าง

เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบแนวทางแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโควิด-19 ของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ตามมติคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) และมอบหมายให้การรถไฟแห่งประเทศไทยและสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ร่วมกันดำเนินงานโดยเร็ว เพื่อให้บริการแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องไม่หยุดชะงัก

สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินได้เกิดปัญหาในส่วนของการชำระค่าให้สิทธิร่วมลงทุนในโครงการแอร์พอร์ตเรลลิงก์ เนื่องจากผลกระทบสถานการณ์โควิด-19 โดยทางบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ซึ่งเป็นคู่สัญญามีหนังสือหารือผลกระทบอันเนื่องมาจากสภาพเศรษฐกิจตกต่ำ ที่มีผลกระทบต่อการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน เพื่อปรับปรุงข้อกำหนดและเงื่อนไขของสัญญาร่วมลงทุน

ซึ่งผลกระทบเกิดขึ้นจริงจากเหตุสุดวิสัยของภาวะการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยขอให้ภาครัฐพิจารณากำหนดมาตรการเยียวยา โดยขอขยายเวลาการชำระค่าให้สิทธิร่วมลงทุนในโครงการแอร์พอร์ตเรลลิงก์ จนกว่าจะได้ข้อยุติในการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุน และกำหนดมาตรการเยียวยาอื่น ได้แก่ การปรับเปลี่ยนวิธีการชำระเงินร่วมลงทุนโครงการ และการขยายระยะเวลาโครงการ

ทั้งนี้ คณะกรรมการบริหารสัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน เห็นว่าสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นเหตุการณ์ที่คู่สัญญาทั้ง 2 ฝ่ายไม่อาจคาดการณ์ได้ก่อนลงนามในสัญญา และมีผลกระทบเกิดขึ้นจริง จึงมีมติเห็นชอบหลักการเยียวยาผลกระทบของโควิด-19 ในส่วนของค่าสิทธิแอร์พอร์ตเรลลิงก์ แก่เอกชนคู่สัญญาและแนวทางดำเนินการระหว่างกระบวนการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุน

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการกำกับดูแลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน เห็นด้วยกับหลักการ และมีความเห็นเพิ่มเติมว่า เรื่องที่เอกชนคู่สัญญาไม่สามารถชำระค่าให้สิทธิร่วมลงทุนในโครงการแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ตามสัญญาร่วมลงทุนที่จะถึงกำหนดชำระในวันที่ 24 ต.ค. 2564

เนื่องจากโควิด-19 นั้น ไม่ถือว่าเป็นเหตุสุดวิสัยหรือเหตุผ่อนผันในการไม่ชำระเงิน ดังนั้น กพอ.จึงได้มอบหมายให้ ร.ฟ.ท. สกพอ. และคณะกรรมการกำกับดูแลฯพิจารณาดำเนินการแก้ไขปัญหา ให้เป็นไปตามขั้นตอนกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขสัญญาร่วมลงทุน ขอให้ดำเนินการตามกระบวนการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วนก่อนนำเสนอ ครม.

ขอแบ่งจ่าย 10 งวด 10 ปี

แหล่งข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟฯ เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2564 มีมติเห็นชอบดำเนินการตามมติที่ประชุมบอร์ด EEC

โดยมีมติให้ดำเนินการตามที่ บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ของกลุ่ม ซี.พี. ขอผ่อนชำระการจ่ายค่าใช้สิทธิ์รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ช่วงพญาไท-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ วงเงิน 10,671 ล้านบาท ทดแทนการจ่ายเต็มจำนวน

สำหรับข้อเสนอเอกชนที่ขอแบ่งจ่าย 10 งวดเป็นเวลา 10 ปีนั้น ทางบอร์ดการรถไฟฯ และบอร์ด EEC ไม่ได้ให้ความเห็นชอบในเรื่องนี้ และมอบหมายให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องร่วมกันพิจารณาความเหมาะสม จากนั้นให้เสนอให้บอร์ดพิจารณาอีกครั้ง

โดยกลุ่ม ซี.พี.ให้เหตุผลว่าได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด ทำให้ปริมาณผู้โดยสารแอร์พอร์ตลิงก์ลดลง 70-80% จากคาดการณ์มีปริมาณผู้โดยสารวันละ 80,000-90,000 เที่ยวคน/วัน มีปริมาณผู้โดยสารใช้บริการจริงเฉลี่ยวันละ 30,000 เที่ยวคน/วัน ดังนั้น การจ่ายค่าใช้สิทธิ์เต็มจำนวน 10,671 ล้านบาท เพียงก้อนเดียว จึงเป็นความเสี่ยงต่อการขาดทุน และขอผ่อนจ่ายออกเป็น 10 งวดดังกล่าว เพื่อให้แผนธุรกิจสะท้อนผลประกอบการที่แท้จริง

ลงนาม MOU ก่อน 24 ต.ค.

แหล่งข่าวกล่าวว่า ถึงแม้บอร์ด EEC และบอร์ดการรถไฟฯเห็นชอบให้สามารถแบ่งชำระค่าใช้สิทธิ์แอร์พอร์ตลิงก์ได้ แต่ในทางปฏิบัติ สัญญาสัมปทานกำหนดให้จ่ายทันที 10,671 ล้านบาท ดังนั้น นโยบายให้สามารถแบ่งจ่ายจึงขัดกับสัญญาสัมปทานเดิม จึงต้องมีการแก้ไขเพื่อเปิดทางให้สามารถทำได้ และต้องนำเสนอร่างแก้ไขสัญญาสัมปทานเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อให้ความเห็นชอบต่อไป

ในระหว่างนี้ การรถไฟฯ, บอร์ด EEC และผู้รับสัมปทานกลุ่ม ซี.พี. มีกำหนดลงนามข้อตกลง MOU ก่อนวันที่ 24 ต.ค.นี้ เพื่อให้คู่สัญญาทั้งฝ่ายรัฐและเอกชนร่วมกันพิจารณาและดำเนินการแก้ไขสัญญาสัมปทาน เบื้องต้นกำหนดระยะเวลาข้อตกลง MOU 3 เดือน หากกระบวนการแก้ไขสัญญาไม่ทันก็อาจจะเสนอขอต่อเวลาออกไปได้อีกในอนาคต

“การขอผ่อนจ่ายค่างวดจะไม่ส่งผลต่อการให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์แต่อย่างใด ในเบื้องต้นบริษัทลูก รฟฟท. ยังดูแลสิทธิ์ในการบริหารการเดินรถไฟฟ้าไปก่อน ส่วนการทำงานต่าง ๆ กลุ่ม ซี.พี.ซึ่งได้เตรียมความพร้อมด้านบุคลากรที่จะมารับช่วงต่อในการเดินรถก็ได้ส่งคนเข้ามาเรียนรู้งานระบบบ้างแล้ว รวมทั้ง รฟฟท.เริ่มทรานส์ฟอร์มการทำงานบางแผนกให้กลุ่ม ซี.พี.ดำเนินการแล้ว จึงมั่นใจว่าจะไม่เกิดรอยต่อและกระทบกับการให้บริการประชาชน”

ยืดเวลาส่ง NTP 150 วัน

นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะทำงานเร่งรัดการรื้อย้าย ส่งมอบพื้นที่รถไฟเชื่อม 3 สนามบิน กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า วันที่ 24 ตุลาคม 2564 คาดว่าการรถไฟฯจะส่งมอบพื้นที่ช่วงสุวรรณภูมิ-สนามบินอู่ตะเภา ระยะทาง 170 กิโลเมตร 5,521 ไร่ ให้กับกลุ่ม ซี.พี.เปิดไซต์ก่อสร้างได้ทันกำหนดแน่นอน

ประเด็นเดียวกันนี้ แหล่งข่าวการรถไฟฯกล่าวว่า การส่งมอบพื้นที่ช่วงสุวรรณภูมิ-สนามบินอู่ตะเภามีการปรับแผนส่งมอบใหม่ วิธีการจะทำหนังสือแจ้งส่งมอบพื้นที่บางส่วนตามปกติ แต่จะยังไม่ส่งมอบหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (NTP-notice to proceed) เนื่องจากต้องเคลียร์ระบบสาธารณูปโภคที่กีดขวางแนวเส้นทางก่อน โดยใช้เวลาดำเนินการ 150 วัน นับจากวันที่ 24 ต.ค. 2564

รื้อย้ายไฟฟ้า-ประปา 3 จุด

สำหรับระบบสาธารณูปโภคที่ติดค้างมี 3 จุด แบ่งเป็นบริเวณศูนย์ซ่อมบำรุงและสถานีไฮสปีดฉะเชิงเทรา 2 จุด คืองานท่อประปาของการประปาส่วนภูมิภาค กับสายส่งไฟฟ้าแรงสูงของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) อีก 1 จุดอยู่บริเวณสถานีอู่ตะเภา งานระบบไฟฟ้าของกิจการไฟฟ้าสวัสดิการสัมปทาน กองทัพเรือ ซึ่งจะต้องรื้อย้ายเพื่อออกแบบสถานีและจุดเชื่อมต่อกับโครงการมอเตอร์เวย์ต่อขยายช่วงมาบตาพุด-สนามบินอู่ตะเภา ระยะทาง 7 กิโลเมตรของกรมทางหลวง (ทล.)

อีกทั้งในพื้นที่ดังกล่าวยังติดปัญหาการจ่ายค่าเวนคืนให้กับประชาชนบางส่วน คิดเป็น 25% จากจำนวนผู้ถูกเวนคืนทั้งหมด ซึ่ง ร.ฟ.ท.ได้รับงบประมาณสำหรับใช้เป็นค่าวางทรัพย์ที่ธนาคารของรัฐ และกรมบังคับคดีแล้ว วงเงิน 200-300 ล้านบาท ซึ่งจะต้องดำเนินการในส่วนนี้ให้เรียบร้อยด้วย

เคลียร์พื้นที่บางซื่อ-ดอนเมือง

ขณะที่การส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างไฮสปีดเทรน 3 สนามบิน ช่วงพญาไท-บางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 22 กิโลเมตรนั้น แหล่งข่าวระบุว่า เฟสแรกในช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 10 กิโลเมตร มีโครงสร้างทับซ้อนกับโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน กำลังเจรจากับฝั่งโครงการไฮสปีดเทรนไทย-จีน เพื่อให้ได้ข้อสรุปในการก่อสร้างโครงสร้างร่วมของทั้ง 2 โครงการ รวมถึงการรื้อถอนโครงสร้างตอม่อโฮปเวลล์ด้วย วางไทม์ไลน์การส่งมอบพื้นที่ในส่วนนี้ภายในเดือน มี.ค. 2565

กับเฟส 2 ช่วงบางซื่อ-พญาไท ระยะทาง 12 กิโลเมตร วางแผนส่งมอบภายในปี 2566 เพราะเป็นพื้นที่ที่มีระบบสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ขวางแนวเส้นทาง 2 จุด คือ 1.คลองไซฟอนของกรุงเทพมหานคร (กทม.) บริเวณสามเสน 2.ท่อน้ำมันของบริษัทขนส่งน้ำมันทางท่อ (FPT) ซึ่งทั้งสองหน่วยได้ทำเรื่องของบฯกลางประจำปีงบประมาณ 2565 เพื่อดำเนินการแล้ว