เทียบฟอร์ม “อัศวิน-สุชัชวีร์-สกลธี” ศึกเลือกตั้งผู้ว่ากทม. ปี 2565

สุชัชวีร์
คอลัมน์ : รายงานพิเศษ

ผู้เขียน : ณิชมน พุ่มยี่สุ่น

นับถอยหลังจนกว่าจะมีการเดินเข้าคูหาโหวตเลือกผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนใหม่ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2565

ในระหว่างนี้ บรรยากาศการหาเสียงคนกรุงเป็นไปอย่างเข้มข้น “ประชาชาติธุรกิจ” สำรวจนโยบายหาเสียง 3 ตัวเต็งที่เริ่มมาแรงในระยะหลัง สะท้อนจากผลสำรวจครั้งที่ 3 ของสำนักงานศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือโพล มธ.

ได้แก่ “ดร.เอ้-สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์” เต็ง 2 ได้คะแนนร้อยละ 18.3 ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์, “บิ๊กวิน-พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง” เต็ง 4 ได้คะแนนร้อยละ 11.3 ผู้สมัครอิสระ และ “จั๊ม-สกลธี ภัททิยกุล” เต็ง 5 ได้คะแนนร้อยละ 6.7 ผู้สมัครอิสระ

3 ผู้สมัครตัวเต็ง-ต่างที่มา

หากโฟกัสประวัติของผู้สมัคร 3 ราย ถือว่าสูสีกันไม่น้อย โดย “ดร.เอ้ สุชัชวีร์” เป็นอดีตอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ที่เข้ารับตำแหน่งด้วยอายุน้อยที่สุดเพียง 43 ปี และอดีตนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ หรือ วสท.

ส่วน “พล.ต.อ.อัศวิน” อดีตนายตำรวจมือฉมัง ที่ผันตัวมาเป็นรองผู้ว่าฯ กทม. ในยุค ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร เรียนรู้งานการดูแล กทม. ก่อนจะถูกแต่งตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม. และครองตำแหน่งนานถึง 5 ปี 5 เดือน 5 วัน

อัศวิน

ด้าน “สกลธี” ถือว่าไม่ธรรมดา เป็นบุตรของ พล.อ.วินัย ภัททิยกุล อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม เจ้าตัวเป็นอดีตรองผู้ว่าฯ กทม. อดีตแกนนำ กปปส. และอดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์

ประชันกึ๋นแก้น้ำท่วม-จราจร

ทั้งนี้ โฟกัสนโยบายหาเสียงแบ่งออกเป็น 5 หัวข้อหลัก ประกอบด้วยโครงสร้างพื้นฐานของเมือง สิ่งแวดล้อม การรักษาพยาบาล เทคโนโลยียุคดิจิทัลดิสรัปชั่น และด้านเศรษฐกิจ-การหารายได้ (ดูตารางประกอบ)

โดยปัญหาโครงสร้างพื้นฐาน กทม. เป็นโจทย์ใหญ่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา กทม.ได้ทุ่มงบประมาณ 6.7 หมื่นล้านบาท แก้ไขปัญหาน้ำท่วมและน้ำเสียอย่างจริงจัง ล่าสุดปีงบประมาณ 2565 สำนักการระบายน้ำได้จัดสรรงบฯสูงสุด 7 พันล้านบาท

เริ่มจาก “พล.ต.อ.อัศวิน” เสนอนโยบายแก้ไขปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากอีก 9 จุดที่เหลือรอบกรุงเทพฯ หลังจากสมัยดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. ได้สกัดจุดน้ำท่วมไปแล้วกว่า 15 จุด จาก 24 จุด ซึ่งเป็นการสานต่อนโยบายเดิม

ขณะที่ “สกลธี” เลือกเสนอนโยบายบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ ทำโครงการก่อสร้างท่อระบายน้ำด้วยวิธีดันท่อลอด pipe jacking เพิ่มเติม เพื่อเสริมประสิทธิภาพการระบายน้ำ และอุโมงค์ระบายน้ำใน กทม. ซึ่งจะว่าไปแล้วการทำ pipe jacking ไม่ใช่เรื่องใหม่ มีมาตั้งแต่ปี 2560 โดย กทม.นำร่องระบบดันท่อลอดใต้ดินหรือท่อทางด่วนระบายน้ำไปแล้ว 11 จุด งบประมาณ 2 พันล้านบาท

ส่วน “สุชัชวีร์” ดึงโมเดลทำแก้มลิงใต้ดินแบบกรุงโตเกียว สร้างแอ่งเก็บน้ำใต้ดินขนาดใหญ่ไว้ที่สวนสาธารณะรอบกรุง และใช้เครื่องสูบน้ำขนาดเล็กเพื่อระบายน้ำออกไปยังอุโมงค์ใต้ดินที่อยู่ใกล้เคียง ก่อนระบายออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาในช่วงเวลาที่น้ำทะเลหนุนไม่สูง และทำประตูกั้นน้ำแบบเนเธอร์แลนด์ ช่วยให้กรุงเทพฯไม่จมน้ำในระยะยาว โดยนโยบายดังกล่าวเคยเสนอแนวคิดนี้ตั้งแต่ช่วงปี 2562 สมัยยังเป็นนายก วสท.

ในด้านการคมนาคม “สกลธี-พล.ต.อ.อัศวิน” เสนอนโยบายสอดคล้องกันในเรื่องการเชื่อมระบบเดินทาง “รถ ราง เรือ” ให้เป็น 1 เดียว เพื่อลดปัญหารถติด “สุชัชวีร์” เสนอใช้ระบบสัญญาณจราจรอัตโนมัติควบคุมด้วย AI โมเดลต้นแบบจากสิงคโปร์ โตเกียว ลอนดอน และเพิ่มทางจักรยานลอยฟ้า รองรับพฤติกรรมคนรุ่นใหม่ กับนโยบายนำสายไฟฟ้าลงใต้ดินทุกถนน

3คน ผู้ว่า กทม.

โหวตเตอร์ครึ่งหนึ่ง 18-53 ปี

สำหรับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้ ทิ้งห่างจากการเลือกตั้งครั้งที่แล้วนานถึง 9 ปี ทำให้ในปี 2565 เกิดฐานเสียงคนรุ่นใหม่อายุ 18 ปีขึ้นไปที่เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งแรกมากถึง 7 แสนคน และกลุ่มเจน X เจน Y อายุ 21-53 ปีอีกกว่า 2 ล้านคน จากประชากรในกรุงเทพฯที่มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด 5 ล้านคน

ซึ่งเป็นกลุ่มที่สามารถพลิกความได้เปรียบในสนามเลือกตั้งได้ ศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ปี 2565 จึงมีนโยบายแข่งขันน่าสนใจเพื่อดึงดูดความสนใจให้มากที่สุด

ในด้านการศึกษา “พล.ต.อ.อัศวิน” เสนอยกระดับ กทม.เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ทั้งวิชาการและวิชาชีพ ตรึงนโยบายค่าอาหารเด็ก 40 บาท/คน/วัน “สกลธี” เสนอการศึกษาฟรีตั้งแต่เด็กยันผู้ใหญ่ ตั้งโรงเรียนสาธิตขึ้นทุกเขต เช่นเดียวกับ “สุชัชวีร์” ที่เน้นพัฒนาโรงเรียนในสังกัด กทม. ให้มีคุณภาพทัดเทียมกัน

จุดร่วมที่คล้ายคลึงกันของ “สกลธี” ผู้สมัครที่มีความเป็นคนรุ่นใหม่สูง กับ “สุชัชวีร์” ผู้คร่ำหวอดในการบริหารสถานศึกษา มีนโยบายไปทางเดียวกัน คือ เพิ่มหลักสูตร 2 ภาษา และจัดตั้งหลักสูตร-โรงเรียนเฉพาะทาง หรือโรงเรียนรูปแบบผสมที่เปิดให้มีการเรียนวิชาที่ตอบสนองความต้องการมากขึ้น เช่น วิชาการเขียนโค้ดดิ้ง ควอนตัม โปรแกรมเมอร์ AI ภาพยนตร์ เป็นต้น

สกลธี ภัททิยกุล

โฟกัสสิ่งแวดล้อม-สาธารณสุข

ในด้านสิ่งแวดล้อม นโยบายที่เสนอมีทั้งเพิ่มพื้นที่สีเขียวใน กทม. 10 ตร.ม./คน นำเรืออีวีพลังงานสะอาดมาใช้ ของ “พล.ต.อ.อัศวิน”, การสร้างสวนสาธารณะขนาดย่อมทั่วกรุง นำรถเมล์ไฟฟ้าให้บริการ ติดตั้งเสาไฟฟ้าอัจฉริยะโซลาร์เซลล์ เครื่องวัดค่าฝุ่น PM 2.5 ของ “สุชัชวีร์” และการผลักดัน กทม.สู่ net zero ทำสวนสาธารณะ 50 เขต สนับสนุนปลูกต้นไม้หักภาษีทั่วเมืองของ “สกลธี”

ในด้านสาธารณสุข “สุชัชวีร์” เสนอผลักดันศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. 69 แห่งอัพเกรดเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ มีเครื่องมือแพทย์ เครื่องฟอกไตทุกศูนย์ใกล้บ้าน เพิ่มสวัสดิการดูแลรักษาพยาบาลตั้งแต่ตั้งครรภ์จนถึงสูงวัย

“สกลธี” เน้นเพิ่มศักยภาพโรงพยาบาลในสังกัด กทม.ให้เป็นโรงพยาบาลเฉพาะทาง ส่วน “พล.ต.อ.อัศวิน” เสนอสร้างโรงพยาบาลสี่มุมเมือง และโครงการพบแพทย์ใน 60 นาที ลดความเหลื่อมล้ำด้านการรักษาพยาบาล

เทคโนโลยีพลิกโฉม กทม.

ปัจจุบันกับยุคเทคโนโลยีดิสรัปชั่น “สกลธี” เลือกนำเสนอนโยบาย Quantum Infrastructure เตรียมเมืองเข้าสู่ความปลอดภัยสูงสุดทางไซเบอร์ เปิดให้ใช้ WiFi ฟรีทุกชุมชนและพื้นที่สาธารณะ ทำแพลตฟอร์ม BKK one-online service ในการขออนุญาตต่าง ๆ จบในที่เดียวภายในเวลาไม่เกิน 30 วันด้วยระบบ AI

ด้าน “สุชัชวีร์” เปิดช่องทางเทคโนโลยีเตือนภัยพลเมือง อาทิ ฝนตก น้ำท่วม ค่าฝุ่น PM 2.5 และ “พล.ต.อ.อัศวิน” แข่งขันด้วยนโยบายผลักดันกรุงเทพฯ สู่การเป็นเมืองดิจิทัลทุกมิติ

มิติด้านเศรษฐกิจและการหารายได้ “สกลธี” เสนอสร้างมูลค่าเพิ่มจากสินทรัพย์ เช่น เปิดให้เอกชนเช่าพื้นที่ กทม. ตั้งกองทุน Social Impact Fund ชวนนักลงทุนต่างชาติมาลงทุนเพื่อผลตอบแทนทางสังคมซึ่งเป็นเมกะเทรนด์ของโลกในขณะนี้ รวมไปถึงจัดกิจกรรมท่องเที่ยวถนนคนเดิน 50 เขตดึงอัตลักษณ์ชุมชนเป็นกิมมิก

ฟาก “พล.ต.อ.อัศวิน” เสนอโครงการพัฒนาคลองเน่าเสียให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ โดยมีตัวแบบ “คลองโอ่งอ่างโมเดล” วงเงินลงทุน 200 ล้านบาท เปลี่ยนโฉมคลองกลายเป็นแหล่งกระจายรายได้สู่ชุมชน

บทสรุปสุดท้าย นโยบายที่ดีที่สุดอาจไม่ชนะ แต่นโยบายที่โดนใจคนกรุงที่สุดจะเป็นคำตอบสุดท้ายสำหรับศึกเลือกตั้งปีเสือ