CPN ลงทุนแสนล้านต่อจิ๊กซอว์อสังหา โปรโมตที่อยู่อาศัย 46 โปรเจ็กต์ใหม่

CPN
คอลัมน์ : รายงานพิเศษ
ผู้เขียน : เมตตา ทับทิม, อโนชา อ่วมภักดี

CPN ประกาศแผนธุรกิจ 5 ปี (2565-2569) ลงทุน 4 ธุรกิจหลัก มูลค่า 1.2 แสนล้านบาท จำนวนรวม 180 โครงการ

ในจำนวนนี้ มีการโปรโมตธุรกิจที่อยู่อาศัย ซึ่งบ่มเพาะ 8 ปีเต็มในช่วงที่ผ่านมา ปัจจุบันมีโครงการสะสม 22 โครงการ มูลค่า 30,000 ล้านบาท

เป้าหมายแผน 5 ปี ภายในปี 2569 จะมีการลงทุนที่อยู่อาศัยเพิ่มอีก 46 โครงการ รวมเป็น 68 โครงการ ซึ่งจะเป็นหนึ่งในจิ๊กซอว์สำคัญเพื่อตอกย้ำการเป็นผู้นำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เบอร์หนึ่งของเมืองไทย

วิสัยทัศน์ CPN โตก้าวกระโดด

“วัลยา จิราธิวัฒน์” กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN ย้อนไทม์ไลน์ในปี 2525 ที่มีการลงทุนโครงการมิกซ์ยูสแห่งแรกของเซ็นทรัลกรุ๊ปที่ “เซ็นทรัล ลาดพร้าว” จนถึงปีปัจจุบัน 2565 แผนธุรกิจที่สุกงอมมีการต่อยอดการลงทุนโปรเจ็กต์มิกซ์ยูสเป็นแกนหลักเหมือนเดิม สิ่งเพิ่มเติมคือจัดระเบียบการลงทุนเป็น 4 ธุรกิจหลัก

ประกอบด้วย “ค้าปลีก-ที่อยู่อาศัย-สำนักงาน-โรงแรม” เป้าหมายท้าทายมีการลงทุนเพิ่มเป็น 180 โครงการด้วยกันภายในแผน 5 ปีดังกล่าว กระจายทำเลไม่ต่ำกว่า 30 จังหวัดทั่วประเทศไทย ผ่านโมเดลธุรกิจ “Retail-Led Mixed-Use Development” ที่สมบูรณ์แบบ

แผนภาพใหญ่ 180 โครงการใหม่ มาจากธุรกิจช็อปปิ้งเซ็นเตอร์ 50 โครงการ, คอมมิวนิตี้มอลล์ 16 โครงการ คิดเป็นพื้นที่รีเทลรวม 2.7 ล้านตารางเมตร, ที่อยู่อาศัย 68 โครงการ, โรงแรม 37 แห่ง จำนวน 4,000 ห้อง และออฟฟิศบิลดิ้ง 13 โครงการ พื้นที่รวม 5 แสนตารางเมตร เขย่าพอร์ตธุรกิจรีเทลมีสัดส่วน 72% กับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อื่น ๆ (non retail) 28%

สอดคล้องกับสถานการณ์ที่รัฐบาลมีนโยบายเปิดประเทศเพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจจากผลกระทบโควิด (2563-2564-ครึ่งปีแรก 2565) ซึ่ง CPN ปรับกลยุทธ์จัดตั้งแผนกใหม่ล่าสุด “บิสซิเนส ทรานส์ฟอร์ม & ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์ม” รองรับพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน โจทย์ธุรกิจเปลี่ยน

“หลังยุคโควิดเราก็มีความมุ่งหวังเซ็นทรัลพัฒนาจะเติบโตก้าวกระโดด แข็งแกร่งยิ่งกว่าเดิม การที่รัฐบาลตัดสินใจเปิดประเทศ เราก็มีความยินดีจะเห็นได้ว่าเปิดเซ็นทรัล ภูเก็ต มีผู้มาใช้บริการเกิน 90% มีชาวต่างชาติเข้ามาใช้บริการมากมาย เราก็มีความคาดหวังว่าธุรกิจของเซ็นทรัลพัฒนาจะกลับมาเหมือนเดิมก่อนยุคโควิด ภายในก่อนสิ้นปี 2565 แน่นอน”

ร.อ.กรี เดชชัย
ร.อ.กรี เดชชัย

เปิดตัวผู้บริหารยกแผง

ควบคู่กับมีการเปิดตัวผู้บริหารรายธุรกิจ ประกอบด้วย “ชนวัฒน์ เอื้อวัฒนะสกุล” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานพัฒนาธุรกิจและโครงการ ดูแลส่วนพัฒนาโครงการ, “วุฒิเกียรติ เตชะมงคลาภิวัฒน์” Head of Community Mall Business ดูแลคอมมิวนิตี้มอลล์และการลงทุนในต่างประเทศ

“ร.อ.กรี เดชชัย” President of Residential Business ผู้บุกเบิกธุรกิจที่อยู่อาศัยตั้งแต่วันแรกจนปัจจุบันลงทุนมาแล้ว 8 ปี, “ภูมิ จิราธิวัฒน์” Head of Hotel Property ดูแลธุรกิจโรงแรม และ “นภารัตน์ ศรีวรรณวิทย์” CFO และรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ดูแลธุรกิจสำนักงานและการลงทุนธุรกิจใหม่ ๆ

Q4/65 เปิดมาร์เช่ทองหล่อ

วิสัยทัศน์การลงทุนของซีอีโอ CPN ที่ว่า “…การพัฒนาโครงการมิกซ์ยูสของเราไม่ได้มองแค่การเป็นช็อปปิ้งเซ็นเตอร์เท่านั้น แต่เรามองไปถึงการเริ่มต้นชีวิตที่บ้าน คิดไปถึงการทำงานที่ที่ทำงาน และการไปพักผ่อนที่โรงแรมด้วย” นำมาสู่รายละเอียดการพัฒนา 4 ธุรกิจหลัก

เริ่มจาก “วุฒิเกียรติ เตชะมงคลาภิวัฒน์” Head of Community Mall Business กล่าวว่า ประเดิมด้วยไตรมาส 4/65 เตรียมเปิดบริการ “Marche Thonglor” ตั้งเป้าเป็นสมอลล์รีเทลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในซอยทองหล่อ (สุขุมวิท 55) ขนาด 30,000-40,000 ตารางเมตร

บุกพรีเมี่ยมบัดเจตโฮเทล

“ภูมิ จิราธิวัฒน์” Head of Hotel Property ระบุว่า โรงแรมเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ CPN มีความเชี่ยวชาญ ยกตัวอย่าง บริหารโรงแรมเซ็นทารา อุดรธานี กับฮิลตัน พัทยา เกิน 10 ปีมาแล้ว โดยมุ่งตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าในแต่ละพื้นที่ภายใต้ 3 แบรนด์ “Centara” เจาะลูกค้าระดับอัพสเกล พ่วงบริการสัมมนาและจัดเลี้ยง, “Lifestyle Midscale” เจาะลูกค้าทำงานและพักผ่อน และ “Premium budget” เฟ้นทำเลโดดเด่น สะดวก สะอาด ปลอดภัย ค่าห้องพักคืนละ 700-1,000 บาท

“ทั้งนี้ เราจะพัฒนาโรงแรมที่ได้ระดับมาตรฐาน คุณภาพและการให้บริการ ภายใต้การบริหารเชนโรงแรมให้กับทุกจังหวัด โดยมีแผนเปิดในศูนย์การค้าของเซ็นทรัลพัฒนาในจังหวัดต่าง ๆ และพัฒนาร่วมกับศูนย์การค้าในเซ็นทรัลกรุ๊ปด้วย”

ปักหมุด 13 ออฟฟิศบิลดิ้ง

“นภารัตน์ ศรีวรรณวิทย์” CFO และรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กล่าวว่า CPN มีประสบการณ์ในธุรกิจออฟฟิศให้เช่าเกิน 4 ทศวรรษ สามารถรักษาอัตราการเช่า (occupency rate) มากกว่า 90% ทำให้เห็นสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ มีจุดแข็งมุ่งมั่นพัฒนาโครงการระดับ LEED Green Building ภายใต้วิสัยทัศน์ธุรกิจเติบโตยั่งยืน

สำหรับปี 2565 มีการลงทุนรีโนเวต “The Offices at centralwOrld” ควบคู่แผนลงทุนโครงการอนาคต อาทิ “เซ็นทรัล พาร์ค ออฟฟิศ” ภายในโครงการดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค หัวมุมถนนสีลมตัดถนนพระราม 4 และออฟฟิศใหม่ในโครงการ GLAND ย่านพระราม 9 ซึ่งเป็นย่าน New CBD

บูมธุรกิจที่อยู่อาศัยทั่วไทย

“ร.อ.กรี เดชชัย” President of Residential Business กล่าวว่า ธุรกิจ residential เป็นหนึ่งในธุรกิจที่สร้างความแข็งแกร่งให้กับเซ็นทรัลพัฒนามากกว่า 8 ปี วันนี้พร้อมก้าวสู่การเป็น Top Developer พัฒนาโครงการที่มีคุณภาพ ครอบคลุมทั้งแนวราบและแนวสูง

โดยมีสูตรพัฒนาบ้านและคอนโดมิเนียมต่อยอดกับโลเกชั่นศูนย์การค้า ร่วมมือกับเครือกลุ่มเซ็นทรัล และพัฒนาโครงการเดี่ยว โฟกัสการลงทุนที่บรรทัดสุดท้ายต้องการส่งมอบโครงการคุณภาพภายใต้ 6 แบรนด์หลัก ทั้งคอนโดมิเนียม บ้านเดี่ยว ทาวน์โฮม โฮมออฟฟิศ

ปัจจุบันธุรกิจที่อยู่อาศัยมีพอร์ตสะสม 22 โครงการ มูลค่า 30,000 ล้านบาท มียอดโอนแล้ว 10,000 ล้านบาท ยอดรอรับรู้รายได้ (แบ็กล็อก) 3,700 ล้านบาท มีลูกบ้านเซ็นทรัลเกิน 10,000 ราย

ทั้งนี้ ในช่วงบุกเบิกธุรกิจที่อยู่อาศัยใต้ร่มเงา CPN 8 ปีที่ผ่านมาจำนวน 22 โครงการ เฉลี่ยลงทุนปีละ 2-3 โครงการแผนธุรกิจ 5 ปี มีเป้าหมายภายในปี 2569 เพิ่มเป็น 68 โครงการ นั่นหมายความว่านับจากนี้รับเป้าเปิดตัวใหม่ 46 โครงการ มีอัตราเร่งเฉลี่ยปีละ 9-10 โครงการ มูลค่า 60,000 ล้านบาท

โดยแบ่งทำเลการลงทุนกระจายตามศูนย์การค้าเครือเซ็นทรัลที่เปิดใหม่ในต่างจังหวัด 60-65% ลงทุนโซนกรุงเทพฯ-ปริมณฑล 35-40%

แผนรายได้คาดว่ามาจากคอนโดฯ 65% ผ่าน 3 แบรนด์หลัก “ESCENT-Belle-Phyll” และบ้านแนวราบ 35% จาก 3 แบรนด์หลัก “นิรติ-นินญา-นิยาม” เจาะกำลังซื้อระดับ B, B+, A ในแต่ละทำเล

“จุดแข็งธุรกิจที่อยู่อาศัย CPN 1.ติดศูนย์การค้าเครือเซ็นทรัลหรือทำเลใกล้เคียง ทำให้เป็นแอสเสทที่มีมูลค่าเพิ่มในอนาคต 2.มุ่งมั่นเรื่องคุณภาพโปรดักต์และคุณภาพชีวิตการพักอาศัย 3.ซินเนอร์ยีโปรแกรมสิทธิประโยชน์ในกลุ่มเซ็นทรัล บัตรเดอะวันการ์ด เพื่อสร้างการจดจำการเป็นลูกบ้านเซ็นทรัลแตกต่างด้วยคุณภาพการอยู่อาศัยที่ดี ลงทุนก็มั่นคง”