CPN กำไรสุทธิปี’64 ตกลงเกือบ 40% อ่วมโควิดระลอก 3-4 เคาะจ่ายปันผล 0.60 บาท

CPN รีวิวแผนลงทุน กอดเงินสด-เฟ้น 10 โปรเจ็กต์ รอเศรษฐกิจฟื้น

“เซ็นทรัลพัฒนา” หรือ CPN กำไรสุทธิปี 2564 ตกลงเกือบ 40% รายได้รวมอ่วมผลกระทบโควิดระลอก 3-4 ต้องปิดศูนย์การค้าเกือบ 2 เดือน บอร์ดไฟเขียวชงที่ประชุมผู้ถือหุ้นอนุมัติจ่ายปันผล หุ้นละ 0.60 บาท

วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565 บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN รายงานตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ว่า ในปี 2564 บริษัทมีกำไรสุทธิเท่ากับ 3,380 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 39.4 จากปีก่อน (งวดไตรมาส 4 ปี 2564 เท่ากับ 1,693 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 5.0 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

โดยหลักมาจากผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งบริษัทมีรายได้รวม 25,558 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 8.1 จากปีก่อน (งวดไตรมาส 4 ปี 2563 เท่ากับ 8,168 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 0.1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน) โดยหลักมาจากการปิดศูนย์การค้าในเขตพื้นที่เสี่ยงสูงเป็นการชั่วคราวเป็นระยะเวลาเกือบ 2 เดือนและได้ยกเว้นค่าเช่า ปรับลดค่าเช่าเพื่อช่วยเหลือผู้เช่าได้รับผลกระทบ รวมถึงการงดจัดกิจกรรมและอีเวนต์ต่าง ๆ ในพื้นที่เสี่ยง

ขณะที่บริษัทมีต้นทุนรวม 14,784 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 1.7 จากปีก่อน (งวดไตรมาส 4 ปี 2564 เท่ากับ 4,320 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยหลักมาจากต้นทุนต่าง ๆ ที่ลดลงของศูนย์การค้าที่ได้รับผลกระทบและการบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพให้สอดคล้องไปในทิศทาง
เดียวกับรายได้ แต่ในไตรมาส 4 ต้นทุนที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลปลายปี

ด้านค่าใช้จ่ายในการบริหาร ได้แก่ ค่าใช้จ่ายบุคลากร ค่าโฆษณาประชาสyมพันธ์ ค่าเครื่องใช้สำนักงานและของใช้สิ้นเปลือง ค่าเช่าโรงแรม ฮิลตัน พัทยา ที่จ่ายให้ CPNREIT ค่าธรรมเนียมและค่าที่ปรึกษาต่าง ๆ รวมถึงค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายอุปกรณ์สำนักงานและสินทรัพย์ของโรงแรม บริษัทมีค่าใช้จ่ายในการบริหารปี 2564 เท่ากับ 5,499 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.1 จากปีก่อน (งวดไตรมาส 4 ปี 2564 เท่ากับ 1,621 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน) โดยหลักเป็นผลจากค่าใช้จ่ายการประชาสัมพันธ์เพื่อสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยร่วมมือกับภาครัฐและภาคเอกชน และเป็นช่วงเทศกาล

ส่งผลให้สัดส่วนค่าใช้จ่ายในการบริหารต่อรายได้รวมอยู่ที่ร้อยละ 21.5 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 18.5 จากปีก่อน (งวดไตรมาส 4 ปี 2564 อยู่ที่ร้อยละ 19.8 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 18.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากภาพรวมของรายได้ลดลงจากปีก่อนหน้า ในขณะที่ค่าใช้จ่ายในการบหารเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม บริษัทมีการควบคุมค่าใช้จ่ายการบริหารให้มีประสิทธิผลให้สอดคล้องกับรายได้เพื่อรักษาการดำเนินธุรกิจให้เป็นปกติในสภาวการณ์ปัจจุบัน

นอกจากนี้ บริษัทมีอัตรากำไรขั้นต้นไม่รวมรายได้อื่นสำหรับปี 2564 ร้อยละ 39.7 ลดลงจากร้อยละ 43.7 ในปีก่อนหน้า (งวดไตรมาส 4 ปี 2564 รวมอยู่ที่ร้อยละ 45.0 ลดลงจากร้อยละ 46.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนอัตรากำไรจากการดำเนินงานอยู่ที่ร้อยละ 20.6 ลดลงจากร้อยละ 27.3 ในปีก่อนหน้า (งวดไตรมาส 4 ปี 2564 รวมอยู่ที่ร้อยละ 27.2 ลดลงจากร้อยละ 29.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน) เนื่องจากผลกระทบทางด้านรายได้มากกว่าในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า จากการระบาดของ COVID-19 ระลอกที่ 3 และ 4 ทั้งนี้ บริษัทยังคงมีมาตรการการลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายการบริหารอย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกันที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีมติให้จ่ายเงินปันผลจากผลการดำเนินงานประจำปี 2564 ในอัตราหุ้นละ 0.60 บาท โดยกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นเพื่อสิทธิในการรับเงินปันผลในวันที่ 7 มีนาคม 2565 ซึ่งจะจ่ายเงินปันผลแก่ผู้ถือหุ้นในวันที่ 17 พฤษภาคม 2565 โดยมีมติให้จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2565 โดยกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นเพื่อสิทธิในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นในวันที่ 7 มีนาคม 2565

โดยจะประชุมในวันที่ 22 เมษายน 2565 เวลา 14.00 น. ในรูปแบบการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (E-AGM) อย่างไรก็ดี สิทธิในการรับเงินปันผลดังกล่าว ยังมีความไม่แน่นอน จนกว่าจะได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2565