
ชี้ครูต้องเป็นผู้นำการเรียนรู้ จุดประกายสร้างแรงบันดาลใจ สร้างทัศนคติที่ดี เติมเต็มความรู้ พัฒนาผู้เรียนให้ไปในทางที่ถูกต้อง
16 มกราคม 2566 / กระทรวงศึกษาธิการ โดยคุรุสภา จัดงานวันครู ครั้งที่ 67 ประจำปี 2566 ภายใต้แนวคิด “พลังครู คือ หัวใจของการพลิกโฉมคุณภาพการศึกษา” Teacher’s Power is the Heart of Transforming the Educational Quality ในรูปแบบผสมผสาน ทั้ง Onsite และ Online ระหว่างวันที่ 16-17 มกราคม 2566 พร้อมกันทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เพื่อประกอบพิธีระลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์ ส่งเสริมสามัคคีธรรมระหว่างครู และความเข้าใจอันดีระหว่างครูกับประชาชน และส่งเสริมยกย่องเชิดชูเกียรติผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาที่ประกอบคุณงามความดีหรือทำคุณประโยชน์ต่อวงการศึกษาให้เป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชน และเป็นแบบอย่างให้เยาวชนรุ่นหลังได้ยึดถือปฏิบัติตาม โดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบคำขวัญวันครู ครั้งที่ 67 พ.ศ. 2566 ว่า “ครูดี ศิษย์ดี มีอนาคต”
- เช็กเงื่อนไขกู้ “ออมสิน” ปลดหนี้นอกระบบ คุณสมบัติผู้กู้ต้องมีอะไรบ้าง ?
- เช็กเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท เข้าบัญชีวันนี้ 5 จังหวัด
- วิธีเช็กเงินช่วยเหลือชาวนา ไร่ละ 1,000 บาท chongkho.inbaac.com
สำหรับกิจกรรมงานวันครู ณ หอประชุมคุรุสภา ได้จัดพิธีบำเพ็ญกุศลอุทิศให้แก่ครูผู้วายชนม์ พิธีทำบุญเพื่อความเป็นสิริมงคล และพิธีบูชาบูรพาจารย์ โดยมี ดร.อรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ อ่านโองการอัญเชิญบูรพาจารย์ นายสุภัทร จำปาทอง ครูอาวุโสนอกประจำการ กล่าวนำสวดฉันท์ระลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์ และ นายมนัส เจียมภูเขียว ครูอาวุโสในประจำการ นำกล่าวคำปฏิญาณตนของครูและบุคลากรทางการศึกษา
จากนั้น พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินทางมายังหอประชุมคุรุสภา เป็นประธานงานวันครู มีพิธีคารวะครูอาวุโสของนายกรัฐมนตรี สำหรับในปีนี้ ครูนายกรัฐมนตรี ได้แก่ พลเอก เกษม นภาสวัสดิ์ ครูที่เคยสอนวิชาคณิตศาสตร์ ชั้นปีที่ 1 โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า พร้อมมอบรางวัลผู้มีคุณูปการต่อการศึกษาของชาติ ประจำปี 2566 และรางวัลคุรุสภา ประจำปี 2565 “ระดับดีเด่น” รวมจำนวน 17 ราย
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวคำปราศรัยตอนหนึ่งว่า หน้าที่อันยิ่งใหญ่ของครูทุกคน คือ การสร้างสรรค์ปั้นแต่งเด็กให้มีคุณลักษณะที่ดี เป็นพลเมืองดี เป็นคนที่มีคุณภาพของสังคม ซึ่งคำขวัญวันครูปีนี้ได้ให้ไว้ว่า “ครูดี ศิษย์ดี มีอนาคต” ทั้งนี้ไม่ใช่ของเด็กอย่างเดียว แต่เป็นอนาคตของประเทศชาติด้วย เชื่อมั่นว่าพลังครูทุกคนจะเป็นหัวใจของการเปลี่ยนแปลงคุณภาพการศึกษา เพราะเด็กนั้นเปรียบเหมือนผ้าสีขาวที่พร้อมจะให้ใส่ลวดลายสีสันให้สวยงาม จึงอยากให้มองว่าจะทำอย่างไรให้เด็กสนใจเรื่องการศึกษา และการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เพิ่มเติมด้วยเทคโนโลยี การเจริญเติบโตทางด้านดิจิทัลอย่างมากมาย หากยังไม่เตรียมตัวเพื่อรับมือกับสิ่งเหล่านี้ ก็จะมีผลกระทบตนเอง ครอบครัว และประเทศชาติโดยรวมทั้งหมด ดังนั้นครูจะต้องเป็นคนที่นำการเรียนรู้ กระตุ้นสร้างแรงบันดาลใจ สร้างทัศนคติที่ดีให้กับผู้เรียน เติมเต็มความรู้ พัฒนาผู้เรียนให้ไปในทางที่ถูกต้อง ซึ่งเป็นหน้าที่ของครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกคนที่จะต้องจุดประกายให้ผู้เรียนรู้จักคิดเป็น แล้วแก้ไขปัญหาได้ ถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุด
ขณะที่โลกก้าวล้ำด้วยเทคโนโลยีทันสมัย เราทุกคนจำเป็นต้องพัฒนาตนเองให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง โดยเน้นการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา ให้มีสมรรถนะในการออกแบบการเรียนรู้ที่เป็นลักษณะการเรียนรู้แบบมีปฏิสัมพันธ์ (Active Learning) จัดการเรียนรู้ที่ทำให้นักเรียนมีทักษะการคิด ทักษะทางภาษา ทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น ทักษะการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างรู้เท่าทัน ทักษะการใช้ชีวิตในโลกอนาคต รับผิดชอบต่อสังคม ครอบครัว รู้จักรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ขณะเดียวกันต้องดำเนินการยกระดับคุณภาพการศึกษาทั้งระบบให้ดีขึ้น โดยสิ่งสำคัญ คือ ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา จะต้องให้ความสำคัญกับเปลี่ยนแปลงในระดับห้องเรียน และต้องใช้ปัญหาการเรียนรู้ของนักเรียนเป็นตัวตั้ง ดังนั้นคุณภาพของครูผู้สอนจึงเป็นสิ่งสำคัญ ที่ครูจะต้องได้รับการพัฒนาให้มีศักยภาพสูงสุดในทุกมิติ ควบคู่ไปกับการมีมาตรฐานและจรรยาบรรณของวิชาชีพ เพื่อให้เป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่ผู้เรียน และสร้างผู้เรียนให้มีคุณภาพเพื่อเป็นกำลังสำคัญของชาติต่อไป
จากนั้น เป็นพิธียกย่องเชิดชูเกียรติผู้ที่ได้รับรางวัลของคุรุสภา จำนวน 9 รางวัล รวมจำนวน 176 ราย และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการจำนวน 2 หน่วยงาน ได้แก่ รางวัลพระพฤหัสบดี ระดับประเทศ ของ สกสค. จำนวน 9 ราย และรางวัลครูดีในดวงใจ ของ สพฐ. จำนวน 237 ราย รวมทั้งสิ้น 11 รางวัล 422 ราย
นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวตอนหนึ่งว่า โลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วด้วยบทบาทและความสำคัญของเทคโนโลยี รูปแบบการศึกษาก็ปรับเปลี่ยนเป็นการศึกษายุคดิจิทัล “ครู” จึงต้องปรับเปลี่ยนบทบาทของตนด้วย เพราะผู้เรียนสามารถแสวงหาความรู้ได้จากสื่อต่าง ๆ ได้ด้วยตนเอง ครูต้องฝึกทักษะให้ผู้เรียนสามารถสังเคราะห์ความรู้ จากข้อมูลข่าวสารที่แสวงหามา และครูยังมีบทบาทในการสรรสร้างช่วยแนะนำและออกแบบกิจกรรม ให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้และเข้าใจเรื่องต่าง ๆ ได้อย่างถ่องแท้ยิ่งขึ้น
ซึ่งการเป็นครูในยุคการศึกษาดิจิทัลนั้น ไม่ใช่แค่ทำหน้าที่สอนเพียงอย่างเดียว แต่จำเป็นต้องเพิ่มความสามารถของตัวเองในการสร้างเนื้อหาการเรียนการสอนในสื่อต่าง ๆ มากขึ้น เพื่อเป็นช่องทางช่วยเหลือให้ผู้เรียนได้เกิดความเข้าใจและแก้ปัญหาด้วย เพราะเราไม่สามารถทราบได้ว่าสื่อออนไลน์ที่ผู้เรียนศึกษามานั้นจะถูกต้องและสร้างสรรค์ ดังนั้น ในบทบาทของการเป็น “ครู” จึงต้องสร้างแหล่งข้อมูลสารสนเทศให้มากขึ้นผ่านเทคโนโลยีเว็บไซต์ และสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อประโยชน์ต่อผู้เรียนที่จะได้เข้าใจและทบทวน เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ แก้ปัญหา สำหรับการสร้างอนาคตของผู้เรียนต่อไป
หลังจากนั้น มีการปาฐกถาหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ครั้งที่ 6 เรื่อง “พลังครู คือ หัวใจของการพลิกโฉมคุณภาพการศึกษา” Teacher’s Power is the Heart of Transforming the Educational Quality โดย นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้ก่อตั้งมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และการเสวนาพิเศษ เรื่อง “พลังครูสู่การเปลี่ยนแปลง : ความหวัง และความท้าทาย”
อนึ่ง ในช่วงเช้า ศธ.จัดพิธีทำบุญตักบาตรเนื่องในโอกาสวันครู โดยพระสงฆ์และสามเณร 68 รูป รับบิณฑบาตร พิธีเจริญพระพุทธมนต์ และพิธีเททองนำฤกษ์หล่อตราเสมาธรรมจักร โดยเจ้าพระคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ กรรมการมหาเถรสมาคม และเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานฝ่ายฆราวาส พร้อมด้วยผู้บริหาร ศธ. ข้าราชการ และบุคลากรในสังกัด ศธ. เข้าร่วมพิธี ณ บริเวณสนามหญ้ากระทรวงศึกษาธิการ