รมว.ศธ. ติดตามสถานการณ์สารกัมมันตรังสี ซีเซียม 137 ณ โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 93

รมว.ศธ.

วันที่ 20 มีนาคม 2566 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รมว.ศธ. นายรณรงค์ นครจินดา ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการ กพฐ. นพ.สุรินทร์ สืบซึ้ง สาธารณสุขจังหวัดปราจีนบุรี พ.ต.อ.กฤตปนิธิ พุทธศิริ ผกก.สภ.สระบัว พร้อมด้วย ผอ.เขต รอง ผอ.เขต ผู้บริหารสถานศึกษา คณะครู ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและสร้างความรับรู้ความเข้าใจกรณีวัสดุกัมมันตรังสี ซีเซียม – 137 หลุดจากที่ติดตั้ง ณ โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 93 จ.ปราจีนบุรี

จากกรณีวัสดุสารกัมมันตรังสีซีเซียม 137  ได้หายไปจาก บริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ แพลนท์ 5 เอ ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังไอน้ำ ตั้งอยู่ ต.ท่าตูม อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี เบื้องต้นทราบว่าวัสดุดังกล่าวหลุดจากที่ติดตั้ง 23 ก.พ. 66 ทราบเรื่องเมื่อ 10 มี.ค. 66 โดยศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี สำนักงานปรมาณูเพื่อนสันติ (ปส.) ได้รับแจ้งเหตุกรณีวัสดุกัมมันตรังสีสูญหาย มีขนาดกว้าง 12.7 ซม. ยาว 20 ซม. หนัก 25 กก. นั้น

เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2566 ห้องศูนย์การเรียนรู้ ณ ศาลากลางจังหวัดปราจีนบุรี นายรณรงค์ นครจินดา ผู้ว่าราชการจังหวัดราจีนบุรี ได้แถลงข่าวถึง การตรวจพบ ซีเซียม-137 ณ โรงงาน เค.พี.พี.สตีล จำกัด ตั้งอยู่บ้านเลขที่ 111 ตำบลหาดนางแก้ว อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี แต่ยังไม่ยืนยันว่าเป็นซีเซียมก้อนเดียวกับวัสดุสารกัมมันตรังสี จากซีเซียม ซึ่งหายไปจากบริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ แพลนท์ 5 เอ ขณะนี้อยู่ระหว่างการสืบหาข้อมูลเส้นทางของก้อนกัมมันตรังสี ซีเซียม-137

ทั้งนี้ผู้เชี่ยวชาญของ ปส. ได้ควบคุมและตรวจสอบพื้นที่โรงงานโดยรอบ พบว่าโลหะที่ได้จากกระบวนการผลิต ไม่พบการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีซีเซียม-137 เมื่อตรวจวัดปริมาณรังสีโดยรอบพื้นที่โรงงานพบว่า ระดับปริมาณรังสีอยู่ในระดับปกติตามปริมาณรังสีในธรรมชาติ นอกจากนี้ได้มีการตรวจสอบคุณภาพอากาศ น้ำ บริเวณโดยรอบโรงงานพบว่า ระดับรังสีอยู่ในระดับปกติตามปริมาณรังสีในธรรมชาติ ไม่มีการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสีในสิ่งแวดล้อม

สำหรับการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ในฝุ่นแดง เกิดขึ้นจากโรงงานหลอมโลหะรีไซเคิล ที่รับซื้อเศษโลหะมือสองที่มีการปะปนของวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 เข้าไปในกระบวนการหลอมโลหะ และเมื่อวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 เข้าไปในกระบวนการหลอม ซีเชียม-137 จะถูกหลอมและระเหยกลายเป็นไอกระจายอยู่ในเตาหลอม ซึ่งจะมีระบบการกรองของเสียจากกระบวนการผลิต และเป็นการทำงานในระบบปิดทั้งหมด ซึ่งฝุ่นปนเปื้อนเหล่านี้จะมีระบบกรอง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการฟุ้งกระจายออกสู่สิ่งแวดล้อม และถูกจัดเก็บ ควบคุมอยู่ในระบบปิดทั้งหมด

ดังนั้น ฝุ่นโลหะปนเปื้อนได้ถูกระงับการเคลื่อนย้าย และจำกัดไม่ให้ออกนอกบริเวณโรงงาน ปส.ได้ดำเนินการตรวจวัดการเปรอะเปื้อนทางรังสีนอกร่างกายของผู้ปฏิบัติงานทั้งหมดภายในโรงงาน ผลการตรวจสอบไม่พบการเปรอะเปื้อนทางรังสีของผู้ปฏิบัติงานแต่อย่างใด และไม่เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่โดยรอบและบริเวณใกล้เคียง

นางสาวตรีนุช กล่าวว่า จากกรณีดังกล่าวตนมีความห่วงใยในความปลอดภัยของนักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษา จึงได้ลงพื้นที่เร่งด่วน พร้อมกับท่านผู้ว่าราชการจังหวัด สาธารณสุขจังหวัด ผู้บริหาร สพฐ.

เพื่อตรวจเยี่ยมให้กำลังใจ พร้อมทั้งกำชับให้ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาฯ เฝ้าระวังและมีมาตรการป้องกันวัสดุกัมมันตรังสี ซีเซียม-137 โดยแจ้งให้สถานศึกษาในสังกัดติดตามข่าวสารสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งให้เฝ้าระวังความปลอดภัย และให้รีบรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบโดยด่วน นอกจากนี้ให้เร่งทำแผนเผชิญเหตุคือให้เชื่อมโยงกันในเรื่องของการสร้างการรับรู้ ว่าอาการต่างๆ ที่พึงจะเกิดขึ้นเมื่อได้รับสารต่างๆ เหล่านี้ ให้มีการสังเกตการณ์ตัวเอง สร้างการรับรู้ผ่านโรงเรียน ตลอดจนผู้ปกครองด้วย ซึ่งก็เป็นโอกาสที่ดีในการสร้างการรับรู้ในพื้นที่ให้กับประชาชนเช่นเดียวกัน ว่าการที่จะเรียนรู้สังเกตุอาการเบื้องต้น เพื่อไม่ให้เกิดอาการวิตกจนเกินไป หรือต้องปฏิบัติตัวอย่างไรถ้าเกิดมีอาการ จะต้องส่งตัวเด็กหรือส่งผู้ปกครองไปอย่างไร จึงให้รีบทำแผนร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ และภูมิภาค เขตพื้นที่ ร่วมกับสาธารณสุขจังหวัด หากเกิดเหตุการณ์ใดขึ้นครูจะสามารถเชื่อมต่อกับสาธารณสุขจังหวัด และระดับอำเภออย่างไร ให้สามารถดูแลกับเหตุการณ์นี้โดยเร็วที่สุด