เป็นไข้เลือดออก ไม่ให้ช็อก !

ไข้เลือดออก
ไข้เลือดออก
คอลัมน์ : สุขภาพดีกับรามาฯ
ผู้เขียน : ผศ.นพ.ชนเมธ เตชะแสนศิริ สาขาวิชาโรคติดเชื้อ 
ภาควิชากุมารเวชศาสตร์คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล

ไข้เลือดออกจัดเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกิ มีอยู่ 4 สายพันธุ์ มียุงลายเป็นพาหะ แบ่งเป็น 3 ระยะ ดังนี้

1.ระยะแรกจะมีไข้สูง 5-7 วัน อาจปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ มีผื่น หรือจุดแดงตามร่างกาย แขน ขา บางรายอาจเบื่ออาหาร มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน

2.ระยะวิกฤตต้องระวังมากที่สุด จะมีอาการเพลียและซึม ปัสสาวะออกน้อย มีอาการปวดท้องบริเวณชายโครงขวา มีเลือดออกผิดปกติ เช่น เลือดกำเดาไหล อาเจียนเป็นเลือด หรืออุจจาระเป็นสีดำ ระยะนี้ไข้จะเริ่มลดลง มือเท้าเย็น ความดันโลหิตต่ำ อาจเกิดอาการช็อกจนเสียชีวิตได้

3.ระยะฟื้นตัว คนไข้เริ่มมีอาการดีขึ้น ความดันโลหิตเริ่มคงที่ ปัสสาวะออกมากขึ้น เริ่มกลับมามีความอยากอาหาร มีอาการปวดท้อง ท้องอืดลดลง รู้สึกมีเรี่ยวแรงขึ้น โดยระยะเวลาทั้งหมดของไข้เลือดออกนั้นจะอยู่ที่ 7-10 วัน

ข้อแนะนำในการดูแลผู้ป่วย ขณะอยู่ที่บ้าน

– เช็ดตัวเพื่อลดไข้ ใช้ผ้าเช็ดตัวชุบน้ำบิดหมาด ๆ แล้วเริ่มเช็ดที่ใบหน้า คอ หลังหู จากนั้นจึงประคบตามซอกคอ รักแร้ ขาหนีบ ข้อพับต่าง ๆ

– ดื่มน้ำมาก ๆ ในรายที่อาเจียนแนะนำให้จิบน้ำเกลือแร่ เพื่อบรรเทาอาการอ่อนเพลีย ไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ

– ให้ยาพาราเซตามอลเพื่อลดไข้ แต่ห้ามใช้ยาลดไข้ที่มีส่วนผสมของแอสไพริน หรือ ibuprofen

– ติดตามดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด หากมีอาการรุนแรง เช่น อาเจียน ปวดท้องบริเวณชายโครงขวามาก มีเลือดออกรุนแรง ตัวเย็น มือเท้าเย็น ไม่ปัสสาวะนานกว่า 6 ชั่วโมง หรือซึมลง และไม่ค่อยรู้สึกตัว ให้รีบพามาพบแพทย์ทันที

อาการไข้เลือดออกมีวิธีรักษาอย่างไร

ปัจจุบันยังไม่มียาที่รักษา หรือต้านเชื้อไวรัสเดงกิได้โดยตรง เพราะฉะนั้น การรักษาโรคไข้เลือดออกจึงเป็นการรักษาตามอาการ โดยให้ยาลดไข้ได้ ใช้พาราเซตามอลร่วมกับการเช็ดตัวลดไข้ แต่ห้ามใช้ยาลดไข้ประเภทอื่น เช่น ยาจำพวกแอสไพริน (aspirin) หรือ ibuprofen การพาผู้ป่วยไปพบแพทย์เพื่อรักษาอย่างทันท่วงทีจะดีต่อผู้ป่วยมากที่สุด เพราะหากได้รับการวินิจฉัยโรคอย่างถูกต้องตั้งแต่ระยะแรก เมื่ออยู่ในระยะวิกฤต แพทย์จะสามารถติดตามอาการได้อย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันภาวะช็อก

วิธีป้องกันไข้เลือดออก

เนื่องจากยังไม่มีวัคซีนรักษาได้โดยตรง การป้องกันตัวเองจึงดีสุดโดยไม่ให้ถูกยุงลายกัดป้องกันโดย 1.สวมเสื้อผ้าที่มิดชิด นอนในมุ้งหรือมุ้งลวด ใช้ยาทากันยุงชนิดทาผิว 2.กำจัดแหล่งพาหะ ภาชนะเก็บน้ำต้องมีฝาปิดเสมอ เปลี่ยนน้ำในแจกัน หรือกระถางทุก 7 วัน ฉีดพ่นสารเคมี

3.วัคซีนแนะนำให้ฉีดในรายที่เคยเป็นแล้ว เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นซ้ำ ซึ่งจะลดความรุนแรงได้

โรคไข้เลือดออกเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัยการดูแลผู้ป่วยนั้นควรดูแลใกล้ชิด เพื่อไม่ให้เกิดอาการช็อก ในกรณีที่ผู้ป่วยเริ่มมีอาการรุนแรงควรรีบพบแพทย์ทันที