
คอลัมน์ : สุขภาพดีกับรามาฯ ผู้เขียน : ผศ.นพ.สหภูมิ ศรีสุมะ สาขาวิชาเภสัชวิทยาและพิษวิทยาคลินิก ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
น้ำเป็นส่วนประกอบสำคัญมากในร่างกาย เพราะร่างกายมีน้ำเป็นส่วนประกอบกว่า 70% และยังเป็นส่วนประกอบสำคัญของทุกเซลล์ในร่างกาย ช่วยนำของเสียออกจากร่างกาย ช่วยลำเลียงอาหารที่ย่อยแล้วไปยังส่วนต่าง ๆ และช่วยควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย ดังนั้น การดื่มน้ำจึงเป็นสิ่งที่ต้องทำ
หน้าที่ของน้ำในร่างกาย จึงมีทั้งเป็นองค์ประกอบส่วนใหญ่ของเซลล์, เป็นส่วนประกอบของเลือด น้ำเหลือง น้ำดี น้ำย่อยอาหาร เหงื่อ ปัสสาวะ และน้ำต่าง ๆ ทั่วร่างกาย, ละลายอาหารที่ย่อยแล้วและแพร่ผ่านผนังหลอดเลือดที่ลำไส้เล็กเข้าสู่กระแสเลือด, เป็นตัวกลางนำอาหารและออกซิเจนไปเลี้ยงเซลล์, นำของเสียออกจากร่างกายผ่านทางอวัยวะต่าง ๆ เช่น ปอด ผิวหนัง ไต, ช่วยหล่อลื่นอวัยวะต่าง ๆ ให้มีการเคลื่อนไหวได้ดีและทำงานได้ตามปกติ เช่น น้ำในข้อต่อ ช่องท้อง ช่องปอด และทำหน้าที่ควบคุมอุณหภูมิของร่างกายให้คงที่ตลอดเวลา รวมทั้งทำให้ร่างกายสดชื่น
ดื่มน้ำเพื่อชดเชยน้ำที่เสียไป
แต่ละวันร่างกายต้องสูญเสียน้ำประมาณ 2 ลิตร มากน้อยขึ้นกับกิจกรรมที่ทำ ช่วงอายุ และน้ำหนักของแต่ละคน ซึ่งขับออกมาทางปัสสาวะ เหงื่อ หรือลมหายใจ ดังนั้น จึงต้องดื่มน้ำเพื่อชดเชยอย่างน้อยวันละ 2 ลิตรเช่นกัน ร่างกายอาจสูญเสียน้ำมากกว่าปกติได้ เช่น ท้องเสีย อากาศร้อนมากจนมีการระเหยน้ำทางลมหายใจและเสียเหงื่อมากขึ้น
ควรดื่มน้ำเปล่าในปริมาณที่เหมาะสมเพื่อทดแทนน้ำที่ร่างกายสูญเสียไป โดยมาตรฐานการดื่มน้ำวันละ 8 แก้ว ก็เพียงพอต่อการทำงานของร่างกายของบุคคลทั่วไป แต่ก็ยังมีปัจจัยอื่นร่วมด้วย เช่น กิจกรรมที่ทำในแต่ละวัน เพศ อายุ โรคประจำตัว ความร้อนในสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีส่วนกำหนดความเหมาะสมต่อการดื่มน้ำในแต่ละวันด้วยเช่นกัน
ผู้มีโรคประจำตัวควรปรึกษาแพทย์เรื่องดื่มน้ำ
สำหรับผู้มีโรคประจำตัว อาจต้องมีการจำกัดน้ำ เนื่องจากร่างกายขับน้ำส่วนเกินได้น้อย เช่น กลุ่มผู้ป่วยโรคไต โรคหัวใจ ผู้มีโรคประจำตัวควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับปริมาณการบริโภคน้ำที่เหมาะสมกับตนเอง หากดื่มมากหรือน้อยเกินไปก็จะส่งผลต่อร่างกายได้ เมื่อร่างกายขาดน้ำ การทำงานของระบบอวัยวะต่าง ๆ จะติดขัด เมื่อร่างกายได้รับน้ำมากเกินไปจนเกิดภาวะน้ำเป็นพิษ
เกิดการเสียสมดุลระหว่างน้ำในเซลล์และนอกเซลล์ ทำให้ความเข้มข้นของเลือดลดลง ร่างกายต้องขับแร่ธาตุบางชนิดออกจากเซลล์เพื่อปรับสมดุลของน้ำ อีกทั้งยังขาดความสมดุลของแร่ธาตุชนิดนั้นแทน ส่งผลให้เกิดความผิดปกติขึ้นในกระบวนการทำงานของเซลล์ ซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้
เลือกน้ำดื่มสะอาด ปลอดภัย
น้ำดื่มที่สะอาดจะช่วยลดการเกิดนิ่วชนิดออกซาเลตในไต บรรเทาการอักเสบของทางเดินปัสสาวะ ลดอาการท้องผูก น้ำสะอาดจะเร่งการขับสารพิษและของเสียออกไป เมื่อดื่มน้ำที่เพียงพอต่อร่างกาย น้ำจะไปช่วยหล่อลื่นข้อกระดูกต่าง ๆ ลดอาการปวดข้อ ปวดหลัง และปวดเอว
น้ำดื่มในปัจจุบันมีหลากหลายแบบ จึงควรเลือกน้ำดื่มที่ผลิตจากบริษัทที่มีมาตรฐาน มีฉลากติดที่ขวด และมีสัญลักษณ์หมายเลข อย., มีสัญลักษณ์ Good Manufacturing Practice (GMP), ตรามาตรฐาน Hazards Analysis and Critical Points (HACCP) ซึ่งเป็นมาตรฐานระดับสากล
สำหรับเครื่องดื่มชนิดอื่น ๆ เช่น น้ำอัดลม ชา กาแฟ เหล้า เบียร์ จะทำให้เกิดการขับน้ำออกจากร่างกายมากยิ่งขึ้น เพราะกาเฟอีนจะกระตุ้นการขับปัสสาวะ ทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำมากขึ้น และน้ำตาลที่เป็นส่วนผสมในเครื่องดื่มเหล่านี้เป็นสาเหตุของระดับน้ำตาลในเลือดสูง อาจนำไปสู่โรคเบาหวานได้ ในผู้ป่วยเบาหวานที่ระดับน้ำตาลในเลือดสูงมากจะมีปัญหาการขับปัสสาวะมากกว่าปกติได้
ผู้ป่วยด้วยภาวะต่าง ๆ เช่น ข้อเข่าเสื่อม กลั้นปัสสาวะไม่ได้ สมองเสื่อม มีความลำบากในการลุกเข้าห้องน้ำทำให้ไม่อยากดื่มน้ำ ผู้ป่วยกลุ่มนี้ควรดื่มน้ำตามปกติ โดยอาจจัดเวลาดื่มน้ำเน้นในช่วงเวลากลางวัน และจัดสถานที่ปัสสาวะให้สะดวกมากขึ้น