รู้จักโรคเชื้อรา ป้องกันอย่างไรไม่ให้ลุกลาม

คอลัมน์ สุขภาพดีกับรามา ฯ โดย อ.พญ.สาลินี โรจน์หิรัญสกุล สาขาวิชาโรคผิวหนัง 

หลายคนมักจะแสดงท่าทีรังเกียจคนที่เป็นโรคเชื้อรา เพราะดูสกปรก โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กนักเรียนที่หากว่าใครเป็นโรคนี้ก็จะโดนเพื่อน ๆ ล้ออยู่เสมอ วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับเจ้าเชื้อรานี้กันว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร สามารถป้องกันและรักษาได้โดยวิธีใดได้บ้าง

โรคเชื้อราที่ผิวหนัง แบ่งออกเป็น โรคผิวหนังชั้นตื้น คือการติดเชื้อราผิวหนังส่วนบนในชั้นขี้ไคล กับเชื้อราในผิวหนังชั้นลึกลงมาคือชั้นหนังแท้ ชั้นไขมันของเรา โดยกลุ่มเชื้อราที่พบบ่อยคือ กลุ่มที่เป็นชนิดตื้น ที่พบได้บ่อยมากคือ กลาก เกลื้อน และการติดเชื้อยีสต์แคนดิดา ซึ่งแต่ละชนิดจะมีลักษณะเฉพาะดังนี้

– โรคกลาก สามารถพบได้ทั่วตัวตั้งแต่หัวจดเท้า มีลักษณะผื่นเป็นวงขอบแดง มีขุยหรือสะเก็ดเด่นที่ขอบ ส่วนผิวตรงกลางมักจะปกติ มักจะมีอาการคันมาก

– โรคเกลื้อน เป็นแผ่นราบสีขาว ชมพู พบบ่อยในบริเวณอก หลัง ต้นแขน ใบหน้า มักไม่ค่อยมีอาการ คนที่เป็นจะสังเกตได้จากสีผิวที่เปลี่ยนไป

– โรคผิวหนังจากการติดเชื้อยีสต์แคนดิดา มักจะพบเป็นปื้นสีแดง ที่มักจะมีจุดแดง ๆ กระจายอยู่โดยรอบ ดังรูปประกอบ บางครั้งพบตุ่มหนองร่วมด้วย มักพบตามบริเวณซอกต่าง ๆ เช่น ขาหนีบ รักแร้ ใต้ราวนม ในคนอ้วนพบได้ตามชั้นของหน้าท้อง คนที่เป็นมักจะมีอาการคันมาก

การรักษาเชื้อราที่ผิวหนังส่วนใหญ่จะใช้ยาทา ยกเว้นเชื้อราที่ติดที่ผมและเล็บ จะต้องใช้ยากิน หรือในคนที่ติดเชื้อราเป็นบริเวณกว้าง หรือกลุ่มคนที่มีภูมิต้านทานต่ำที่หากไม่รีบรักษาจะติดเชื้อในกระแสเลือดได้ โดยการทายานั้นจะต้องทายาให้สม่ำเสมอ และนานพอตามคำแนะนำของแพทย์และเภสัชกร

ส่วนวิธีการป้องกันการติดโรคเชื้อรามีดังนี้

– พยายามรักษาความสะอาดของร่างกาย ไม่ให้ผิวชื้นแฉะ หากออกกำลังมีเหงื่อออกมากควรอาบน้ำแล้วเช็ดตัวซับให้แห้ง หลีกเลี่ยงการใส่เสื้อผ้าซ้ำโดยเฉพาะเสื้อผ้าที่เปียกชื้นมาก่อน เพราะจะมีการสะสมและเจริญเติบโตของพวกเชื้อราได้ดี

– ผ้าเช็ดตัว เครื่องนอน แยกใช้ต่างหาก ไม่ปนกับผู้อื่น

– ถุงเท้าควรซักให้สะอาด ตากแดดให้แห้ง

– รองเท้าควรมีสับเปลี่ยน และนำออกตากแดดเพื่อฆ่าเชื้อ

– คนที่มีสัตว์เลี้ยง ไม่ควรเข้ามานอนคลุกคลีตามพื้นบ้าน โต๊ะรับแขก รวมทั้งในห้องนอน เนื่องจากในบางครั้งเชื้อราที่ติดอยู่ในสัตว์เลี้ยงไม่ได้ก่อให้เกิดอาการ แต่สามารถแพร่เชื้อมาที่คนได้

 


หมายเหตุ : อ.พญ.สาลินี โรจน์หิรัญสกุล สาขาวิชาโรคผิวหนังภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล