น้ำพระทัย “ในหลวง” ด้านการแพทย์-สาธารณสุข เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎร

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ​สยามมกุฎราชกุมาร พร้อม​ด้วย​พระเจ้าหลานเธอ พระองค์​เจ้​พัช​รกิ​ติ​ยา​ภา ทรง​จักรยาน​ใน​กิจกรรม"Bike for Mom ปั่น​เพื่อ​แม่" หลังจาก​นั้น​ทรง​ทอดพระเนตร​คอนเสิร์ต"บทเพลง​เพื่อ​แม่" บริเวณ​สนาม​เสือป่า วัน​ที่ 16 สิงหาคม 2558

“เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” พระปฐมบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณฯ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคมที่ผ่านมา

ความหมายของพระปฐมบรมราชโองการนี้ คือ การสืบสานและต่อยอดพระราชกรณียกิจนานัปการที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ทรงงานอย่างหนักมาตลอดรัชสมัย ซึ่งเมื่อพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เสด็จขึ้นครองราชย์ต่อจากพระบรมชนกาธิเบศรฯ พระองค์ทรงตั้งพระทัยอย่างเปี่ยมล้นที่จะดำเนินตามรอยเบื้องพระยุคลบาทของรัชกาลที่ 9 ที่ทรงสร้างประโยชน์สุขให้พสกนิกรมาอย่างยาวนาน

งานด้านหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงให้ความสำคัญอย่างยิ่ง คือ งานด้านการแพทย์-สาธารณสุข ที่พระองค์ทรงให้การสนับสนุนทั้งโดยการพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ และทรงมีพระราชดำริจัดตั้งโครงการเพื่อส่งเสริมสุขภาพของเหล่าพสกนิกรตั้งแต่เมื่อครั้งที่พระองค์ยังทรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร

เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณฯ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 67 พรรษา ในวันที่ 28 กรกฎาคมนี้ “ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” จึงรวบรวมพระราชกรณียกิจของพระองค์ท่านด้านการสาธารณสุขที่ทรงมีพระเมตตาห่วงใยราษฎรของพระองค์มาโดยตลอด

โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช 21 แห่งทั่วประเทศ

ย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2515 ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงสถาปนาในหลวงรัชกาลที่ 10 เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ เป็น “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร” และทางคณะรัฐมนตรีในขณะนั้น นำโดย ศ.ธานินทร์ กรัยวิเชียร นายกรัฐมนตรี ได้มีการประชุมคณะรัฐมนตรีและมีมติเห็นสมควรอย่างยิ่งในการเทิดพระเกียรติพระองค์โดยการจัดสร้างโรงพยาบาลในถิ่นทุรกันดาร เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้ทั่วทุกพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการ พลเรือน รวมถึงผู้มีรายได้น้อยที่ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาตามโรงพยาบาลประจำจังหวัดได้

โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชถูกจัดสร้างขึ้นมากถึง 21 แห่งทั่วประเทศ แบ่งออกเป็น ภาคเหนือ 6 แห่ง ได้แก่ รพ.สมเด็จพระยุพราชเชียงของ จ.เชียงราย, รพ.สมเด็จพระยุพราชตะพานหิน จ.พิจิตร, รพ.สมเด็จพระยุพราชปัว จ.น่าน, รพ.สมเด็จพระยุพราชนครไทย จ.พิษณุโลก, รพ.สมเด็จพระยุพราชหล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์, รพ.สมเด็จพระยุพราชเด่นชัย จ.แพร่

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 9 แห่ง ได้แก่ รพ.สมเด็จพระยุพราชเดชอุดม จ.อุบลราชธานี, รพ.สมเด็จพระยุพราชท่าบ่อ จ.หนองคาย, รพ.สมเด็จพระยุพราชกระนวน จ.ขอนแก่น, รพ.สมเด็จพระยุพราชกุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์, รพ.สมเด็จพระยุพราชธาตุพนม จ.นครพนม, รพ.สมเด็จพระยุพราชสว่างแดนดิน จ.สกลนคร, รพ.สมเด็จพระยุพราชเลิงนกทา จ.ยโสธร, รพ.สมเด็จพระยุพราชบ้านดุง จ.อุดรธานี, รพ.สมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย จ.เลย

ภาคตะวันออก 1 แห่ง ได้แก่ รพ.สมเด็จพระยุพราชสระแก้ว จ.สระแก้ว

ภาคกลาง 1 แห่ง ได้แก่ รพ.สมเด็จพระยุพราชจอมบึง จ.ราชบุรี

และภาคใต้ 4 แห่ง ได้แก่ รพ.สมเด็จพระยุพราชฉวาง จ.นครศรีธรรมราช, รพ.สมเด็จพระยุพราชสายบุรี จ.ปัตตานี, รพ.สมเด็จพระยุพราชเวียงสระ จ.สุราษฎร์ธานี และ รพ.สมเด็จพระยุพราชยะหา จ.ยะลา

การเกิดขึ้นของโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ยังนับว่าเป็นการระดมทุนครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งด้วย ซึ่งการระดมทุนในการจัดสร้างดำเนินไปได้ด้วยดีจากแรงศรัทธาของพสกนิกรทุกหมู่เหล่าที่มีการบริจาคทั้งเงินและที่ดิน เพื่อสมทบทุนในการก่อสร้างโรงพยาบาล

หลังการก่อสร้างแล้วเสร็จ ศ.ธานินทร์ กรัยวิเชียร ได้ขอพระบรมราชานุญาตนำทรัพย์ส่วนพระองค์ที่เหลือ จัดตั้งมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช โดยมีสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ในขณะนั้น ดำรงตำแหน่งเป็นองค์นายกกิตติมศักดิ์ กว่า 40 ปีที่มีการก่อตั้งโรงพยาบาลทั้ง 21 แห่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงติดตามความก้าวหน้าของโรงพยาบาลอย่างสม่ำเสมอ โดยพระองค์ทรงมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับสิ่งอำนวยความสะดวก และความเป็นอยู่ของผู้ป่วยมากกว่าการเพิ่มจำนวนโรงพยาบาล ทรงกำชับกับ ศ.ธานินทร์ ให้ดูแลความเรียบร้อย คุณภาพ และการเข้าถึงบริการของประชาชนให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ พระองค์ยังเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมโรงพยาบาลในเครืออยู่บ่อยครั้ง และทรงเน้นย้ำถึงมาตรฐานของโรงพยาบาล จนทำให้ปัจจุบันโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชพัฒนาเป็นโรงพยาบาลระดับอำเภอที่มีมาตรฐานทั้งการรักษา อุปกรณ์ทางการแพทย์ และบุคลากรที่มีความพร้อมในการดูแลรักษาพยาบาลพสกนิกรของพระองค์

พระราชทานทรัพย์ 3 พันล้านบาท เพื่อการสาธารณสุข

เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม หลังแล้วเสร็จพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพุทธศักราช 2562 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ พระบรมราชินี พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้แก่ผู้อำนวยการโรงพยาบาล ผู้อำนวยการวิทยาลัยแพทย์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยพยาบาล และผู้อำนวยการสถานพยาบาล จำนวน 27 แห่ง เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท รับพระราชทานเงินสำหรับจัดซื้อเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์

เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงห่วงใย และทรงคำนึงถึงการดูแลรักษาพยาบาลสุขภาพร่างกายของประชาชน ตลอดจนประสิทธิภาพด้านการให้บริการทางการแพทย์อยู่เสมอ พระองค์ทรงเล็งเห็นว่า อุปกรณ์การแพทย์ในสถานพยาบาลหลายแห่งยังขาดแคลนอย่างหนัก โดยเฉพาะตามโรงพยาบาลใหญ่ ๆ ที่มีประชาชนเข้ารับการรักษาจำนวนมาก พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานเงินส่วนที่ประชาชนทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเมื่อครั้งงานพระราชพิธีพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทั้งหมด และรายได้ส่วนหนึ่งจากการจัดงาน “อุ่นไอรัก คลายความหนาว สายน้ำแห่งรัตนโกสินทร์” แก่ 27 สถานพยาบาล เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 2,407,144,487.59 บาท

นอกจากสถานพยาบาลทั้ง 27 แห่งแล้ว เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2562 พระองค์ยังพระราชทานเงินจำนวน 631 ล้านบาท ให้แก่โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 11 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลราชวิถี, โรงพยาบาลสงฆ์, สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี, โรงพยาบาลหัวหิน, โรงพยาบาลน่าน, โรงพยาบาลศูนย์สกลนคร, โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์, โรงพยาบาลศูนย์ยะลา, โรงพยาบาลศูนย์ปัตตานี, โรงพยาบาลสุไหงโก-ลก และโรงพยาบาลท่าวังผา จังหวัดน่าน ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้น้อมรับและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ และกระทรวงสาธารณสุขบอกว่าจะดำเนินตามพระบรมราโชบายอย่างเต็มที่ โดยนำเงินพระราชทานที่ได้ไปจัดสรรซื้อเครื่องมือ-อุปกรณ์การแพทย์ตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระเมตตา

Bike For Mom นำคนไทยออกกำลังกาย

งานด้านการสาธารณสุขเป็นสิ่งที่ในหลวงรัชกาลที่ 10 ทรงเล็งเห็นและให้ความสำคัญมาอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากเมื่อปี พ.ศ. 2558 เมื่อครั้งพระองค์ยังดำรงพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงดำริโครงการ Bike For Mom “ปั่นเพื่อแม่” ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา และในปีเดียวกันนั้น พระองค์ได้ต่อยอดโครงการจาก Bike For Mom สู่โครงการ Bike For Dad “ปั่นเพื่อพ่อ” เฉลิมพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา พ.ศ. 2558

ทั้ง 2 โครงการนอกจากจะเป็นการเฉลิมพระเกียรติแก่ทั้งสองพระองค์แล้ว ยังเป็นการส่งเสริมสุขภาพ-พลานามัยแก่พสกนิกรชาวไทยด้วย โดยพระองค์ได้ทรงจักรยานพระที่นั่งนำประชาชนทั่วประเทศปั่นจักรยานในกิจกรรม Bike For Mom เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2558 จากกิจกรรมครั้งนั้นที่จัดต่อเนื่องมา ทำให้ประชาชนหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพโดยการทำกิจกรรมใกล้ตัว อย่างการปั่นจักรยานมากขึ้น จำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล และส่วนภูมิภาคในปี 2558 มีจำนวนมากถึง 919,334 คน และล่าสุดในงาน “Bike อุ่นไอรัก” เมื่อปี 2561 ก็มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งสิ้น 638,601 คน