ปัญหาสิ่งแวดล้อม ดัน 3 กลุ่มงาน Green Job อัตราการจ้างงานสูง คาดปี 2030 ทั่วโลกต้องการคนรุ่นใหม่ และผู้เชี่ยวชาญไม่น้อยกว่าร้อยล้านคน โอกาสเด็กไทยพัฒนาทักษะ อัพเงินเดือนให้สูงขึ้น
วันที่ 7 มีนาคม 2567 จากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้กระแสการดูแลสิ่งแวดล้อมถูกพูดถึงในหลากหลายวงการ ทำให้เกิดเทรนด์งานที่เรียกว่า Green Job ขึ้นมา ซึ่งหมายถึงงานที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งก็คืองานต่าง ๆ ที่ให้ความสำคัญและตระหนักถึงเรื่องของสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ครอบคลุมทั้งงานด้านเกษตรกรรม การผลิต การวิจัย การพัฒนา บริหารจัดการต่าง ๆ
ศาสตราจารย์ ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล รองคณบดีด้านยุทธศาสตร์นวัตกรรมและความยั่งยืน และผู้อำนวยการสถาบันคาร์บอนเพื่อความยั่งยืน คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ย้อนกลับไปประมาณ 2 ปีก่อน สภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ได้รายงานว่า กระแสของ Sustainability เรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ, Carbon Neutrality และ Net Zero เป็นที่พูดถึงอย่างมาก จึงทำให้ทุกภาคอุตสาหกรรม ต้องหันกลับมามอง Value Chain ของธุรกิจทั้งหมด เปลี่ยนกระบวนการทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ต้องการคนที่เข้าไปลงมือทำ คิดใหม่ทำใหม่ในแต่ละจุด จำนวนมาก
จากการที่เรามีการตั้งเป้าหมายร่วมกันว่าภายในปี 2030 คาร์บอนจะต้องลดลงไปประมาณ 40% โดยเฉลี่ย ส่งผลต่อความต้องการงานด้าน Green Job ทั่วโลกเพิ่มขึ้นสูงประมาณ 66% ซึ่งจำนวนนี้สะท้อนออกมาในงาน 3 กลุ่มใหญ่ ๆ ดังนี้
กลุ่มแรก งานที่เกี่ยวข้องกับการผลิตสินค้า หรือกระบวนการการผลิตในโรงงานจะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น สินค้าต่าง ๆ ก็จะเป็นผลิตภัณฑ์ที่รักษ์โลก
กลุ่มงานที่สอง จะเกี่ยวข้องกับเรื่องของข้อมูล เป็นงานที่ต้องจัดเก็บข้อมูล รายงานผล ที่เรียกว่า Measurable, Reportable and Verifiable (MRV)
กลุ่มที่สาม เป็นกลุ่มที่ทำงานด้าน Strategy Research Innovation การที่เรามีเป้าหมายลดคาร์บอน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก องค์กรต่าง ๆ จึงต้องมีกลยุทธ์ใหม่ ๆ รายงานใหม่ ๆ มีการพัฒนาอะไรใหม่ ๆ รวมถึงการมีนวัตกรรมเข้ามา ซึ่งงานกลุ่มนี้จะมีความสำคัญมาก
โอกาสเด็กไทย
ศาสตราจารย์ ดร.พิสุทธิ์กล่าวต่อว่า ผมมองว่านี่คือโอกาสของเด็กไทย ทั่วโลกมีดีมานด์คนทั้ง 3 กลุ่มงานเพิ่มสูงขึ้น 66% น่าจะประมาณร้อยล้านกว่าคน และสะท้อนกลับมาที่อัตราการจ้างงานก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย เพราะในทุกอุตสาหกรรมจะมีการลงทุนมุ่งสู่เศรษฐกิจสีเขียวมากขึ้น และอะไรที่ต้องใช้การเปลี่ยนผ่าน คาดทั่วโลกน่าจะไม่น้อยไปกว่า 8 ล้านล้านบาท ส่วนโอกาสของเด็กไทย ผมมองว่ามี 2 มิติ
1.ความพร้อมของสถาบันการศึกษาไทย หลายมหาวิทยาลัยมีภาควิชา หรือสาขาที่สอดคล้องกับองค์ความรู้ที่พอจะไปต่อยอดในสามกลุ่มงานดังกล่าวได้ อีกทั้งเด็กไทยเริ่มสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
2.บริษัทหลายแห่งต้องการคนด้านนี้แน่นอน ถ้าเราพัฒนาทักษะ มีทัศนคติที่ดี ก็มีโอกาสจะได้งาน และรายได้ที่สูงขึ้น
Green Job ครอบคลุมอีกหลายสายงาน
อย่างไรก็ตาม ในแต่ละอุตสาหกรรมต่างก็ต้องการคนทำงานที่มีคุณลักษณะต่างกัน เพราะนอกจาก 3 กลุ่มงานดังกล่าวแล้ว โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme-UNEP) ยังระบุว่า Green Job ยังมีงานที่เกี่ยวข้องกับ ด้านวิทยาศาสตร์ ต้องการแรงงานที่มีพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์เป็นทุนเดิม เพื่อต่อยอดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น นักสิ่งแวดล้อม นักชีวเคมี หรือนักอุทกวิทยา เน้นทักษะการวัดผลติดตาม การจัดการโครงการและการปกป้องทรัพยากรทางสิ่งแวดล้อม เช่น ที่ดินหรือแหล่งน้ำ
หรืองานด้านสถาปัตยกรรม งานเกี่ยวกับโครงสร้างอาคารที่ต้องมีฟังก์ชั่นสามารถใช้พลังงานหมุนเวียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เทคนิคการก่อสร้างอาคารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีความรู้เรื่องกฎระเบียบทางสิ่งแวดล้อมมาออกแบบควบคู่กัน
งานด้านวิศวกรรม งานนี้เน้นเชี่ยวชาญทางเทคนิคเฉพาะตัว เช่น การออกแบบ ซ่อมแซม และบำรุงรักษาระบบพลังงานสะอาด งานด้านเกษตรกรรม การเปลี่ยนระบบการผลิตที่ทำลายสิ่งแวดล้อมน้อยลง และบริหารจัดการที่ดิน รวมไปถึงงานด้านรักษาความยุติธรรม เพื่อไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิการทำงานของคน เชื้อชาติ และสิ่งแวดล้อมเสียหายตามมา เป็นต้น