“สิ่งใดเกิดขึ้นแล้ว สิ่งนั้นดีเสมอ” บทสรุปจากคนที่เคยโดดจากตึกชั้น 5

ผู้รอดชีวิตและรักษาจิตใจจากโรคซึมเศร้า เขียนเล่าเรื่องราวของตนเองด้วยมุมมองตรงไปตรงมาและเป็นแง่คิด

วันที่ 8 กันยายน 2565 เพจ มนุษย์กรุงเทพฯ เผยแพร่ข้อเขียนในโครงการ Mind Voice (เสียงความคิด) ของอดีตช่างภาพนิตยสารแพรว บัณฑิตสถาปัตย์ จุฬาฯ ผู้ฝ่าฟันช่วงเวลาที่จิตใจชอกช้ำ ร่างกายบาดเจ็บสาหัส และผ่านการรักษาโรคซึมเศร้าโดยไม่ต้องพบแพทย์แล้ว

Mind Voice เป็นโปรเจ็กต์ที่ต้องการสร้างความตระหนักและให้ความรู้เรื่องสุขภาพจิต เพื่อให้คนในสังคมไทยมีความเข้าใจเรื่องโรคซึมเศร้าและสังเกตสัญญาณเพื่อป้องกันการฆ่าตัวตายของคนใกล้ตัว รวมถึงวิธีการช่วยเหลือต่าง ๆ เพื่อให้ทุกคนมีสุขภาพจิตที่ดีและใช้ชีวิตในสังคมร่วมกันอย่างมีความสุข

และนี่คือเรื่องเล่าที่มนุษย์กรุงเทพฯ ทำงานร่วมกับ Mind Voice เพื่อสื่อสารถึงปัญหาสุขภาพจิตและปัญหาการฆ่าตัวตาย เนื่องใน “วันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก” (วันที่ 10 กันยายนของทุกปี)

จุดเริ่มต้น

“ผมได้รับการเลี้ยงดูจากพ่อแม่มาเป็นอย่างดี ชีวิตไม่ได้มีปัญหาอะไร ผมเรียนจบคณะสถาปัตย์ จุฬาฯ หลังจากนั้นก็ทำงานเป็นช่างภาพอยู่นิตยสารแพรว เริ่มจากถ่ายอีเวนต์จนได้ถ่ายปก จนกระทั่งอายุ 30 ผมที่ไม่เคยมีแฟนได้เจอกับผู้หญิงคนหนึ่งในที่เที่ยวกลางคืน รูปร่างหน้าตาของเขาคือนางแบบเลย

ช่วงนั้นผมพยายามจีบเขา ใช้ทั้งความรักและเงิน จนได้เป็นแฟนกัน ผมใช้ชีวิตอยู่บ้านมาตลอด พ่อเสียชีวิตตอนผมเรียนมหาวิทยาลัย หลังจากนั้นผมก็อยู่กับแม่ ผมมีความรู้สึกว่าชีวิตไม่ค่อยมีอิสระ เลยขอแม่ซื้อคอนโดฯแล้วย้ายออกมาอยู่กับแฟน ช่วงนั้นแฟนไม่ได้ทำงานอะไร ผมก็ให้สัญญาว่าจะเป็นคนดูแลเขาเอง

“แฟนคนนั้นคือรักครั้งแรก ผมเลยทุ่มเททุกอย่าง เขาติดยาเสพติด แม้ว่าผมไม่ได้เสพด้วย แต่ก็ยอมจ่ายเงินซื้อให้ เวลาผ่านไปสักระยะ เราสองคนเริ่มมีปัญหากัน ความขัดแย้งมักเกิดขึ้นตอนเขาเล่นยาหนัก ๆ แล้วหลอน นอยด์ได้ทุกเรื่อง คิดไปเองว่าผมมีผู้หญิงคนอื่น

ผมต้องคอยรายงานว่า ตอนนี้อยู่ไหน ทำอะไรอยู่ บางครั้งต้องพาเขาไปทำงานด้วยกัน พอถึงจุดหนึ่งเขาก็เริ่มใช้ความรุนแรงกับผม ไม่ใช่แค่ยาเสพติดอย่างเดียว เขาเล่นการพนันด้วย พอเสียมา ผมก็ต้องช่วยจ่าย บางครั้งถึงขนาดต้องหยิบยืมคนอื่น เราทะเลาะกันเป็นประจำ จนผมเริ่มไม่มีสมาธิในการทำงาน บางคืนไม่ได้นอน บางวันไปทำงานสาย

ไม่อยากมีชีวิตอยู่

“ผมเหมือนเด็กที่ไม่มีประสบการณ์ชีวิต ไม่รู้ว่าการบอกเลิกแฟนต้องเริ่มยังไง อีกอย่างเราเคยสัญญาว่าจะเป็นคนดูแลเขาด้วย เลยไม่ได้ก้าวขาออกจากความสัมพันธ์ ผมไม่กล้าเล่าปัญหาให้ใครฟัง ความเครียดเลยยิ่งเพิ่มขึ้น จนถึงจุดที่ผมกรีดข้อมือตัวเอง ผมเคยคิดเรื่องแขวนคอ เคยอยากโดดลงจากคอนโดฯ แต่ก็ยังไม่ได้ทำ

วันหนึ่งผมต้องไปทำงานต่างจังหวัด เลยชวนเขาไปด้วยกัน เขารออยู่ในห้อง ผมลงไปทำงานข้างล่างสักหนึ่งชั่วโมง พอกลับขึ้นมา ปรากฏว่าเขาอาละวาดจนข้าวของเสียหาย เพราะคิดว่าผมพาผู้หญิงคนอื่นมาพักอีกห้อง ผมไม่อยากให้อาชีพเสียหายเลยไปขอลาออก แต่หัวหน้าก็ไม่ให้ออก

“ช่วงนั้นผมเริ่มไม่อยากมีชีวิตอยู่แล้ว หลังจากเหตุการณ์นั้นไม่นาน ผมนอนอยู่ที่คอนโดฯ เพื่อนร่วมงานผู้หญิงโทร.มาคุยธุระบางอย่าง แฟนของผมก็อาละวาดอีก ผมพยายามอธิบายก็ไม่ฟัง ตอนนั้นผมรู้สึกว่า ‘ไม่ไหวแล้วว่ะ !’ เหนื่อยทั้งกาย เหนื่อยทั้งใจ ชีวิตพังไปหมด ไม่รู้จะอยู่ไปทำไมแล้ว

ผมเดินไปที่ระเบียงแล้วกระโดดลงมาจากชั้น 5 รู้ตัวอีกทีผมอยู่ในห้องไอซียู มีสายอะไรไม่รู้เต็มไปหมด ทั้งกระดูกส้นเท้าแตก เส้นเลือดหัวใจขาด ปอดฉีก กระดูกสันหลังหักทับเส้นประสาท ฯลฯ ต้องผ่าตัดหลายครั้ง พอออกจากไอซียูก็พักฟื้นที่วอร์ดอีกสักระยะถึงได้กลับบ้าน ระหว่างนั้นก็ทำกายภาพอยู่ตลอด

ผมคงเป็นโรคซึมเศร้า

“ช่วงแรกที่ผมรักษาร่างกาย หมอวิทยา (นพ.วิทยา วันเพ็ญ) เข้ามาหาเป็นประจำ เขามาพูดว่า ‘สวัสดีครับคุณกำพล วันนี้เป็นยังไงบ้าง’ พอรู้ว่าเขาเป็นจิตแพทย์ ผมที่ไม่ค่อยพูดอยู่แล้วยิ่งไม่พูด อาย ไม่กล้าเล่า แต่เขาก็มาแบบเดิมทุกวัน ทุกวัน ทุกวัน เป็นผู้ชายหน้ายิ้ม ๆ ดูใจดี จนผมเริ่มเล่าบ้าง พอได้เล่าแล้วเหมือนเขื่อนแตก ผมระบายว่าเจออะไรบ้างตลอดระยะเวลา 11 เดือนในความสัมพันธ์

หมอไม่ได้บอกว่าผมเป็นโรคอะไร ซึ่งผมไม่ได้ต้องการคำวินิจฉัยหรอก หมอให้กินยาอะไรก็กิน สิ่งที่ผมต้องการคือเพื่อน ต้องการกำลังใจ ต้องการรู้ว่า มีปัญหาแล้วมาหาหมอได้ แต่ถ้าจะนิยามจริง ๆ ผมคงเป็นโรคซึมเศร้า

“ช่วงแรกที่ผมกลับมาอยู่บ้านยังต้องนั่งวีลแชร์ ผมเคยนัดแฟนมาที่บ้าน แล้วถามเขาตรง ๆ ว่า ‘ถ้าผมพิการแบบนี้ ทำงานไม่ได้แล้ว เราจะยังคบกันไหม’ คำพูดของเขาคือ ‘เราก็ต้องอยู่กับความเป็นจริง’ พอได้ยินแบบนั้น มุมหนึ่งก็รู้สึกแย่ แต่อีกมุมก็รู้สึกโล่ง โอเค จบสักที

สิ่งใดเกิดขึ้นแล้ว สิ่งนั้นดีเสมอ

ผมตั้งใจทำกายภาพ ขาของผมเคยอ่อนแรงทั้งสองข้าง เวลาผ่านไปขาขวาก็เริ่มมีแรงมากขึ้น แต่ผมยังต้องนั่งวีลแชร์เหมือนเดิม พอชีวิตที่เปลี่ยนไป ผมกลายเป็นคนหงุดหงิดง่าย พอเข้าปีที่สองแล้วผมยังต้องนั่งวีลแชร์ จิตใจย่ำแย่ ไม่ทำงานทำการ หายใจไปวัน ๆ ตื่น กินข้าว นอน เล่นคอม นอน วนเวียนอยู่แบบนี้ บางช่วงไม่อาบน้ำเป็นอาทิตย์เลย

“ผมไปหาหมอวิทยาอยู่ตลอด นัดถี่บ้างห่างบ้าง การมีคนรับฟังช่วยได้มาก ๆ คำพูดของหมอที่มีผลมาก ๆ คือ ‘สิ่งใดเกิดขึ้นแล้ว สิ่งนั้นดีเสมอ’ มันคือชื่อหนังสือเล่มหนึ่ง คำนี้ทำให้ผมคิดได้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเลวร้ายแหละ แต่อย่างน้อยเรายังไม่ตาย อย่างน้อยได้รู้ว่าผู้หญิงคนนั้นไม่รักเรา และได้รู้ว่าคนที่รักเราคือแม่และเพื่อน

อีกเหตุการณ์ที่เปลี่ยนความคิดคือ พอผมใช้ขาขวาได้บ้างก็ขับรถเกียร์ออโต้เอาวีลแชร์ไปซ่อมที่ร้าน ภาพที่ผมเห็นคือ คนพิการขาขาดเข็นวีลแชร์มาเปิดประตูท้ายรถ แล้วยกวีลแชร์ของผมลงมาเข็นไปซ่อม เฮ้ย อะไรวะเนี่ย ! ร่างกายของเขาหนักกว่าผมอีก แต่เขายังพยายามใช้ชีวิต ผมกำลังทำอะไรอยู่

“พอร่างกายเป็นแบบนี้ ผมไม่สามารถถ่ายรูปแบบเดิมได้แล้ว แต่ผมยังใช้คอมพิวเตอร์ทำงานได้ เลยเปิดหางานสำหรับคนพิการ แล้วได้งานเป็นผู้ดูแลเว็บไซต์ มันโอเคแหละ แต่ยังไม่ใช่สิ่งที่ชอบ เวลาผ่านไปสักระยะ ผมเลยลองจัดเวิร์กช็อปถ่ายภาพแฟชั่นแบบมืออาชีพ เช่าสตูดิโอ มีช่างแต่งหน้าช่างทำผม มีสไตลิสต์ และจ้างนางแบบที่มีชื่อเสียง

เวิร์กช็อปไม่ได้สร้างรายได้เยอะขนาดนั้น แต่ผมได้ทำในสิ่งที่ชอบ ได้ความรู้สึกของการออกกอง ได้เจอพี่ ๆ น้อง ๆ ในวงการ ได้เจอคนรุ่นใหม่ที่มาเรียนเพราะอยากเป็นช่างภาพอาชีพ ผมก็อยากสอนให้เขามีพอร์ตดี ๆ ไปใช้งานต่อได้ จนถึงปัจจุบันก็ทำมาเป็นสิบปีแล้ว

รักตัวเองให้มากกว่านี้

“เหตุการณ์นั้นผ่านมาสิบกว่าปีแล้ว ทุกวันนี้ขาซ้ายของผมยังอ่อนแรง ส่วนขาขวาใช้ได้สัก 80 เปอร์เซ็นต์ ยังทำกายภาพอยู่ตลอด นักกายภาพตั้งเป้าไว้ว่า ต่อไปจะเปลี่ยนจากเดินด้วยไม้เท้าสองข้างเป็นไม้เท้าข้างเดียว ไม่รู้ว่าจะเป็นไปได้แค่ไหน

ผมเคยโกรธเกลียดผู้หญิงคนนั้นมาก แต่สุดท้ายก็มองว่า เขาไม่ได้ผลักเราลงจากตึกสักหน่อย ปัญหาของเรื่องนี้คือ ผมรักผู้หญิงคนนั้นมากจนไม่รักตัวเอง จนวันหนึ่งก็ไม่อยากมีชีวิตอยู่ แล้วตัดสินใจทำแบบนั้น

ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ ผมควรรักตัวเองให้มากกว่านี้ เปลี่ยนจากโดดลงข้างล่างมาเดินออกทางประตู (เงียบ) ถ้าความสัมพันธ์นั้นไม่ไหวจริง ๆ เราก็แค่เลิกกัน

“หลังจากรักษาโรคซึมเศร้าอยู่สักระยะ ผมก็ไม่ต้องไปหาจิตแพทย์แล้ว พอผมเคยผ่านเรื่องหนัก ๆ เพื่อนหลายคนก็มาขอคำปรึกษา สิ่งที่ผมทำคือการรับฟัง มันช่วยได้มากจริง ๆ แต่เพื่อนก็ไม่สามารถฟังได้ทุกเรื่องและทุกครั้ง การไปหาจิตแพทย์ก็เป็นอีกวิธีที่ช่วยได้ มันคือการรับฟังด้วยวิชาชีพ เราจะได้รักษาอย่างต่อเนื่องด้วย

สมัยก่อนการไปหาจิตแพทย์ถูกมองว่าเป็นคนบ้า แต่จริง ๆ ไม่ใช่เลย ไม่ว่าใครก็ไปหาได้ เราต้องรักตัวเองให้มาก ไม่ปล่อยให้ตัวเองจมอยู่กับความทุกข์ ไม่ปล่อยให้ตัวเองโดนทำร้าย ไม่ปล่อยให้ตัวเองเจ็บปวด

ผมกลับไปแก้ไขเรื่องในอดีตไม่ได้แล้ว แต่อย่างน้อยวันนี้ยังไม่ตาย อย่างน้อยก็รู้ว่าใครรักเราบ้าง เหมือนคำพูดที่หมอวิทยาเคยบอกว่า สิ่งใดเกิดขึ้นแล้ว สิ่งนั้นดีเสมอ”

……………………………..

โปรเจ็กต์ Mind Voice ยังได้รวบรวมทุกคำถามที่คนทั่วไปอยากรู้เกี่ยวกับโรคซึมเศร้า วิธีรับมือ และการช่วยเหลือ ในรูปแบบคลิปสั้น ๆ ที่ฟังง่ายและเข้าถึงง่าย ใครที่สนใจลองเข้าไปรับชมได้ที่ TikTok ของ กรมสุขภาพจิต

อีกอีเวนต์ที่สำคัญคือ Mind Voice LIVE on FACEBOOK เป็น Special Talk ในบรรยากาศสบาย ๆ ที่จะพาคุณไปสำรวจทุกแง่มุมของโรคซึมเศร้า และเหตุผลเบื้องหลังของใครสักคนที่จะนำไปสู่การเสี่ยงฆ่าตัวตาย โดยร่วมพูดคุยกับจิตแพทย์จากชมรมความผิดปกติทางอารมณ์และกรมสุขภาพจิต รวมไปถึงศิลปิน นักร้อง และอินฟลูเอนเซอร์

ติดตามได้ที่เพจ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เริ่ม LIVE เวลา 10 โมง วันศุกร์ที่ 9 กันยายนนี้