เพจดังเปิดงานวิจัย การดูแลสุขภาพของคนไทย กับสิทธิบัตรทอง

Photo by Annie Spratt on Unsplash

เพจดังยกงานวิจัยสิทธิบัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรค ทำให้คนไทยไม่รักษาสุขภาพ ? ชี้เป็นเพียงมายาคติของบุคลากรทางการแพทย์ ไม่ใช่ข้อเท็จจริง

วันที่ 24 ตุลาคม 2565 จากกรณีการ แสดงความคิดเห็น ของหมอริท-เรืองฤทธิ์ ศิริพานิช ต่อกิจกรรมการกุศล “One Man and The River หนึ่งคนว่าย หลายคนให้” ที่นำโดย โตโน่-ภาคิน คำวิลัยศักดิ์ โดยมีช่วงหนึ่งของข้อความที่ระบุว่า สิทธิการรักษา 30 บาท รักษาทุกโรค ทำให้คนไทยไม่ใส่ใจสุขภาพ และกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์มาอย่างต่อเนื่องนั้น

ล่าสุด เฟซบุ๊กแฟนเพจ Drama-Addict โพสต์ข้อความ ระบุว่า ประโยค “30 บาทรักษาทุกโรคทำให้คนไทยไม่สนใจดูแลสุขภาพตัวเอง” เป็นวาทกรรมที่มีมานาน 10 กว่าปี น่าจะเกือบ 20 ปีละ ซึ่งเป็นความเชื่อของคนจำนวนหนึ่ง รวมถึงบุคลากรการแพทย์ด้วย ที่เชื่อว่าการมีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งช่วยรักษาคนไทยโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย หรือค่าใช้จ่ายถูกมาก

จะทำให้คนไทยคิดว่า โอ๊ย รักษามันฟรี มันถูก แบบนี้ฉันไม่ต้องดูแลสุขภาพ ไม่ต้องออกกำลังกาย ไม่ต้องเลิกเหล้า เลิกบุหรี่ก็ได้ ป่วยขึ้นมาก็รักษาฟรี ๆ นี่นา จริงดิ ?

แนวคิดแบบนั้นในทางสาธารณสุข เราเรียกว่า “Moral Hazard” ซึ่งเป็นแนวคิดในทางเศรษฐศาสตร์ ว่าคนที่ได้รับประกันสุขภาพ อาจละเลยการดูแลสุขภาพของตน เพราะมีคนจ่ายค่ารักษาแทนให้ (คือรัฐเป็นผู้จ่ายในกรณี 30 บาท)

แต่เวลาพูดถึงประเด็นพวกนี้ เราจะไม่พูดแค่ “ความเชื่อ” แต่ต้องมีการวิจัยศึกษาว่ามันจริงหรือไม่ ซึ่งปรากฏว่ามีคนศึกษาวิจัยประเด็นนี้ในบ้านเราเรียบร้อย

ผลปรากฏว่า การมี 30 บาทรักษาทุกโรคไม่ทำให้เกิด Moral Hazard นั่นคือ เมื่อเทียบสถิติพบว่าหลังมีระบบ 30 บาท หรือประกันสุขภาพถ้วนหน้า คนไทยก็ไม่ได้ดื่มเหล้าหรือสูบบุหรี่เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด และตัวเลขของเคสที่เกิดผลข้างเคียง หรือเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับการกินเหล้าสูบบุหรี่ เทียบกันก่อนและหลังมี 30 บาท ก็ไม่ได้แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญแต่ประการใด

และงานวิจัยบางตัวก็ระบุว่า การมี 30 บาทรักษาทุกโรค ทำให้คนไทยเข้าถึงหมอได้ง่ายขึ้น กลับทำให้คนไข้ได้รับข้อมูล และคำเตือนเรื่องการกินเหล้าสูบบุหรี่มากขึ้น ก็จะส่งผลต่อการช่วยให้เลิกเหล้าเลิกบุหรี่ได้มากขึ้น

เอาจริง ๆ ถ้าเคยไปใช้บริการ รพ.รัฐ ด้วยสิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า จะรู้ว่าการมานั่งรอแล็บ นั่งรอหมอเรียก นั่งรอคิวกันแต่เช้า เหนื่อยมาก ไม่น่าจะมีใครอยากมาหาหมอบ่อย ๆ เพราะเห็นว่าเป็นของฟรีหรอกครับ

เพราะนอกจากจะเสียเวลา เหนื่อยแล้ว ยังมีค่าใช้จ่ายแฝง พวกค่าเดินทางด้วย ยิ่งถ้าต่างจังหวัดนี่ยิ่งหนัก คนไข้บางคนขาย Follow up เพราะไม่มีเงินเดินทางมาหาหมอ ไม่มีรถประจำทางผ่านบ้าน จะมาทีต้องเหมารถมา ลำบากมาก

แต่ส่วนตัวขอเพิ่มเติมประเด็นว่า เคยเจอ Moral Hazard จากคนไข้ในลักษณะ อ้าว คนไข้มา รพ.รักษาโรคเรื้อรัง เบาหวาน ความดัน แล้วไหน ๆ ก็มาแล้ว ขอยาแถมไปหน่อย เอาไปตุนไว้ ยาแก้ปวด ยาแก้ไอ ยาธาตุน้ำแดง บลา ๆ ไรงี้ พอไม่จ่ายให้ก็บ่น เคสแบบนี้มีบ้าง แต่ไม่เยอะมาก ก็เอาเป็นว่า ฝากคนไข้ว่าเราจ่ายยาตามจำเป็นนะครับ อันไหนยังไม่จำเป็นนี่อย่าขอหมอเลย ไปซื้อเองละกัน

แต่ฝั่งบุคลากรการแพทย์ก็ต้องทำลายมายาคติเรื่อง “30 บาทรักษาทุกโรค ทำให้คนไทยไม่สนใจดูแลสุขภาพตัวเอง” ด้วยว่าไปตามข้อเท็จจริงครับ

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า งบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2566 ได้รับการจัดสรรงบประมาณรวม 161,602.66 ล้านบาท คิดเป็นงบประมาณรายหัวอยู่ที่ 3,385.98 บาท