เผยที่มาคลิป พายุงวงช้าง เกิดหน้าตลาดกำแพงเพชร พ่อค้าแม่ค้าเจอทุกปี

วันที่ 8 มกราคม 2566 จากคลิปที่แชร์กันในโลกโซเชียล  เป็นนาทีเกิดพายุงวงช้าง บริเวณตลาดนัด มีเสียงคนถ่าย ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ส่งเสียงร้องด้วยความตระหนกนั้น ต่อมาทราบรายละเอียดว่า เป็นพายุที่เกิดด้านหน้าวัดศรีโยธินวนาราม .ที่ 7 บ้านศรีโยธิน ตำบลหนองปลิง อำเภอเมือง .กำแพงเพชร เมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2566

บริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่โล่งประมาณ 4-5 ไร่  ช่วงที่เกิดพายุงวงช้าง สภาพอากาศท้องฟ้าก็เป็นปกติ แต่แล้วจู่ ๆ ก็เกิดลมหมุนขึ้นแล้วค่อย ๆใหญ่ขึ้น แรงขึ้นและสูงขึ้นเป็นลำดับ

ลมหมุนทำให้ฝุ่นตลบขึ้นไปบนท้องฟ้าเป็นลำยาวสูงกว่า 50 เมตร และแรงลมปั่นเอาสิ่งกรีดขวางที่อยู่ในทางลมปลิวไปด้วย

เจ้าของคลิปภาพเผยว่า พายุงวงช้างจะมาให้เห็นเกือบทุกปี บางครั้งจะเกิดขึ้นในช่วงที่พ่อค้าแม่ค้าตั้งแผงจำหน่ายสินค้าแล้ว จึงทำให้เก็บข้าวของแทบไม่ทัน จึงเกิดความเสียหาย แต่ในครั้งนี้โชคดีที่พายุงวงช้างเกิดขึ้นก่อนขณะที่พ่อค้าแม่ค้ากำลังจะมาตั้งแผงจำหน่ายสินค้า จึงไม่ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด

ข้อมูลจาก บัญชา ธนบุญสมบัติ ผู้เขียน All about Clouds เล่มนี้มีเมฆมาก สำนักพิมพ์มติชน กล่าวถึงลมงวงพายุงวง ว่า ในวันที่ฟ้าใสแดดจ้า เหนือพื้นร้อนๆ อาจเกิดลมงวงหอบฝุ่นทรายสูงขึ้นไป ฝรั่งเรียกว่า dust devil (ดัสต์ดีวิล) หรือ dust whirl (ดัสต์เวิร์ล)

เมื่อพื้นดินร้อนเพราะโดนแดดแผดเผา ก็จะทำให้อากาศเหนือพื้นร้อนตามไปด้วย ผลก็คือก้อนอากาศร้อน ๆ จะลอยตัวสูงขึ้น ทีนี้หากมีลมเฉือนพัดในแนวระดับ ก็จะทำให้อากาศที่ลอยสูงขึ้นนี้หมุนวนเป็นเกลียว

สังเกตว่า ดัสต์เวิร์ลไม่มีเมฆอยู่ด้านบน คนอีสานจึงเรียกว่า ลมหัวกุด คนใต้เรียกว่า ลมหัวด้วน คนเหนือเรียกว่า ลมกิดกิว ลมบิดกิว หรือ ลมปลิดปลิว ส่วนคนภาคกลางเรียกว่า ลมบ้าหมู

หากอากาศร้อนจัดเริ่มต้นจากไฟ ซึ่งอาจเป็นไฟป่า ไฟจากฟ้าผ่า ไฟจากการทิ้งระเบิด ก็อาจเกิดงวงไฟเป็นลำในแนวดิ่ง เรียกว่า fire devil (ไฟร์ดีวิล) หรือ fire whirl (ไฟร์เวิร์ล) บ่อยครั้งเรียกง่ายๆ ว่า fire tornado (ทอร์นาโดไฟ) หรือ firenado (ไฟร์นาโด)

….