“เศรษฐา ทวีสิน” ตั้งคำถามที่มา 250 ส.ว. “ความเท่าเทียมอยู่ตรงไหน”

เศรษฐา ทวีสิน

“เศรษฐา ทวีสิน” แห่งแสนสิริ ตั้งคำถามถึงความเท่าเทียมด้านสิทธิทางการเมือง และที่มาของ 250 ส.ว. หลังรัฐสภามีมติเห็นชอบให้ตั้ง คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาก่อนรับหลักการร่างแก้รัฐธรรมนูญแทนการลงมติเมื่อวานนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อคืนที่ผ่านมา (24 ก.ย.) นายเศรษฐา ทวีสิน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ได้ทวีตข้อความผ่านบัญชีทวิตเตอร์ส่วนตัว @Thavisin ตั้งคำถามถึงความเท่าเทียมด้านสิทธิทางการเมืองและที่มาของ ส.ว. 250 คน

“38 ล้านคนเลือก สส 500 คน…..10 คนคัดเลือก สว 250 คน…สิทธิ์ของคน 38 ล้านคนน้อยกว่า 10 คนผู้คัดเลือก สว กี่เท่า ? 250 สว มีสิทธิ์เลือกนายกอีกด้วย ความเท่าเทียมอยู่ตรงไหน?” นายเศรษฐา เขียนผ่านทวิตเตอร์

ข้อความดังกล่าวมีผู้ร่วมแสดงความเห็นบนทวิตเตอร์เป็นจำนวนมากและถูกรีทวีตไปแล้วกว่า 26.9 หมื่นครั้ง

“คิดมุมไหน กลับไปกลับมา กลับหัวกลับหาง จะกี่รอบก็ตาม ไม่มีเหตุผลใดๆจะมาหักล้างได้ว่าคนที่เห็นว่าควรมี สว มีความเชื่อเรื่อง หนึ่งเสียง หนึ่งสิทธิ์ หรือ เชื่อในความเท่าเทียมกัน…” เขากล่าวเสริมในทวีตต่อมา

ประเด็นถกเถียงถึงที่มาและการปฏิบัติหน้าที่ของ ส.ว. กลับมาเป็นที่พูดถึงในวงกว้างอีกครั้ง หลังจากเมื่อวานนี้ รัฐสภา มีมติเห็นด้วย 431 ต่อ 255 เสียง ให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ก่อนรับหลักการร่างแก้รัฐธรรมนูญ ภายในระยะเวลา 30 วัน หลังจากใช้เวลากว่า 2 วันพิจารณาหลักการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

มติดังกล่าว สร้างความไม่พอใจให้กับกลุ่มผู้ชุมนุมที่ปักหลักอยู่ที่บริเวณหน้ารัฐสภา ซึ่งมองว่าเป็นการ “ไม่สนใจเสียงของประชาชนและได้ส่งเสียงแสดงความไม่พอใจขณะ ส.ว. และ ส.ส. เดินทางออกจากรัฐสภา โดยมีรายงานว่า สมาชิกรัฐสภาบางคนได้เดินทางด้วยเรือเพื่อหลีกเลี่ยงฝูงชนด้วย

เสนอตั้ง คกก. ร่วม

ในที่ประชุมวานนี้ นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.พลังประชารัฐ ประธานวิปรัฐบาล ได้อภิปรายสรุปว่า จากข้อสังเกตว่าในการประชุมตลอด 2 วันที่ผ่านมา มีการใช้วาจาเสียดสีกันระหว่างสมาชิกรัฐสภา เป็นเพราะไม่มีช่องทางให้พูดคุยหารือ จึงเสนอให้ใช้ข้อบังคับการประชุมฯ ข้อที่ 121 วรรคสาม เพื่อตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อให้ได้ศึกษาและพูดคุยกันก่อน

“หากจะช้าไป 1 เดือนก่อนที่จะนำกลับเข้าสู่การประชุมร่วมรัฐสภาสมัยหน้า เพราะถ้าวันนี้เดินหน้าแล้วคว่ำจะทำอย่างไร ซึ่งต้องยอมรับว่าเสียงของ ส.ว.เป็นเสียงที่มีความสำคัญ ดังนั้น หากมีความจำเป็นในการเปิดประตู ม.256 โดยเปิดโอกาสให้พวกเราทั้ง ส.ส.และ ส.ว.ได้คุยกันบ้าง เพื่อให้เห็นสอดคล้องกันบ้าง โดยใช้เวลาไม่เกิน 30 วัน คิดว่าคุ้ม” นายวิรัช กล่าว

ด้านนายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน อภิปรายไม่เห็นด้วยกับมติดังกล่าว โดยระบุว่า ไม่มีความจำเป็นตั้งต้อง กมธ. ดังกล่าว เพราะเป็นเป็นการเสียเวลาเปล่าเนื่องจากเคยมี คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ศึกษาไว้แล้ว

“ดังนั้น จะตกวันนี้หรือจะตกวันหน้าก็เหมือนกัน ดีกว่าหลอกให้เราศึกษาอีก 1 เดือน สุดท้ายก็ตกอยู่ดี หากสภา สมัยหน้าลงมติตกแล้ว จะเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ไม่ได้ด้วย แต่ถ้าตกวันนี้ สมัยหน้าเรายังยื่นญัตติใหม่ได้” นายสุทินกล่าวต่อประธานรัฐสภา

ประธานวิปฝ่ายค้านยังแสดงความกังวลด้วยว่า หากญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญตกไปในสมัยหน้า อาจทำให้ร่างของโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ไอลอว์ ซึ่งมีผู้ลงชื่อกว่า 1 แสนคนและมีเนื้อหาคล้ายกัน อาจต้องตกไปด้วย

ทั้งนี้ หลังรัฐสภามีมติดังกล่าว ส.ส.ฝ่ายค้าน ได้ประกาศไม่เข้าร่วมสังฆกรรมและเดินออกจากที่ประชุม เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วย