ดราม่า #เรียกเงินคืนโครงการรัฐ รัฐซ้ำเติมประชาชนหรือไม่ ? สศค.ตอบแล้ว !

ชาวเน็ตแสดงความเห็นผ่านแฮชแท็ก #เรียกเงินคืนโครงการรัฐ หลังพ่อค้าแม่ค้าแชร์หนังสือถูกเรียกเงินคืนสูงสุด 17 ล้าน 

วันที่ 11 ตุลาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว พ่อค้าแม่ค้าจำนวนหนึ่งที่เข้าร่วมโครงการเราชนะ ได้แชร์หนังสือเรียกคืนเงินจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ที่ระบุว่า พ่อค้าแม่ค้าเหล่านี้มีพฤติการณ์ที่เข้าข่ายไม่ปฏิบัติตามหรือฝ่าฝืนหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขของโครงการ และไม่ได้จัดส่งเอกสารชี้แจงได้แย้งมาภายในระยะเวลาที่กำหนด

ดังนั้นเพื่อเป็นไปตามความยินยอมที่ท่านได้ให้ไว้ขณะเข้าร่วมโครงการ จึงขอให้ท่านดำเนินการคืนเงินที่ท่านได้รับจากโครงการ ให้ สศค. ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือฉบับนี้

หลายสื่อ ซึ่งรวมถึงเพจเฟซบุ๊ก สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว รายงานตรงกันว่า ยอดที่ผู้ประกอบการโดนเรียกคืนสูงสุด มีมูลค่ามากถึง 17 ล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา กระทรวงการคลังตรวจพบธุรกรรมที่เข้าข่ายฝ่าฝืนหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขของโครงการเราชนะ ในวันที่ 11 มิถุนายน 2564 จึงได้ระงับสิทธิชั่วคราวการเข้าร่วมโครงการของผู้ประกอบการ จำนวน 120 ราย และขอให้ผู้ประกอบการที่ถูกระงับสิทธิดังกล่าว ชี้แจงข้อเท็จจริงมายัง สศค. พร้อมระบุว่า หากพ้นระยะเวลาดังกล่าวแล้วกระทรวงการคลังจะดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

สำหรับพฤติกรรมผู้ประกอบการที่เข้าข่ายผิดหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขของโครงการเราชนะ ที่พบบ่อยสุดคือ การรับแลกวงเงินเป็นเงินสด

#เรียกเงินคืนโครงการรัฐ

ขณะที่ในโลกออนไลน์ ชาวเน็ตพากันแสดงความเห็นเรื่องนี้ผ่านแฮชแท็ก #เรียกเงินคืนโครงการรัฐ โดยความเห็นแตกเป็นสองส่วน บางส่วนมองว่าโครงการนี้รัฐบาลแก้ไขไม่ตรงจุดตั้งแต่แรก ให้เหตุผลว่าประชาชนต้องการเงินสด ดังนั้นการที่รัฐบาลจ่ายเงินผ่านโครงการนี้จึงเป็นการแก้ไขไม่ตรงจุด จึงนำไปสู่การทำผิดเงื่อนไขของผู้ประกอบการ นอกจากนี้ยังตั้งข้อสังเกตถึงการตรวจสอบของรัฐบาล พร้อมถามหาหลักฐานการกระทำผิดเงื่อนไขทั้งหมด

บางส่วนยังสงสัยว่าการเรียกเงินคืนจากผู้ประกอบการที่ได้รับความเดือดร้อนจากโควิด เหมือนเป็นการซ้ำเติมประชาชนที่เดือดร้อนหรือไม่ ?

ส่วนผู้ที่เห็นด้วยกับรัฐบาล มองว่า ผู้ประกอบการที่ทำผิดเงื่อนไขควรได้รับโทษตามจริง แต่หากผู้ประกอบการยืนยันว่าไม่ได้ทำผิดก็สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ เพราะมีกฎให้ยื่นอุทธรณ์ภายใน 15 วัน

สศค.ตอบ เอาเปรียบหรือเป็นธรรม ?

ล่าสุด นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการ สศค. ชี้แจงเกี่ยวกับประเด็นนี้ว่า โครงการได้ระงับสิทธิถาวรผู้ประกอบการที่ฝ่าฝืนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการแล้ว จำนวน 2,099 ราย และได้ออกหนังสือประทับตราแจ้งผู้ประกอบการที่ฝ่าฝืนหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และความยินยอมสำหรับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ “เราชนะ” เพื่อคืนเงินที่ได้รับ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการเปิดให้ผู้ประกอบการขออุทธรณ์ได้ ภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือประทับตรา (ขั้นตอนตามข้อ 2)

ดังนั้น เพื่อเป็นการรักษาสิทธิของท่าน จึงขอให้ผู้ประกอบการชี้แจงเหตุผล พร้อมยื่นเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องต่อ สศค. ภายในระยะเวลาที่กำหนด (เช่น ใบเสร็จรับเงินเพื่อแสดงต้นทุนสินค้า หลักฐานการจัดส่งสินค้า เอกสารแสดงสินค้าคงคลัง รวมถึงภาพถ่ายสถานประกอบการ เป็นต้น) เพื่อนำสู่กระบวนการพิจารณาของคณะทำงาน และกระบวนการขั้นตอนตามกฎหมายต่อไป

นอกจากนี้ นายพรชัย ให้ข้อมูลด้วยว่า สศค. ได้กำหนดแนวทางเพื่อควบคุมและป้องกันการกระทำผิดวัตถุประสงค์ของโครงการอย่างเข้มงวด เพื่อรักษาสิทธิของประชาชนที่ได้รับในโครงการ และเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ในโครงการที่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และคำยินยอม (Consent) ที่ได้ตกลงไว้ จึงได้จัดตั้งคณะทำงานพิจารณาตรวจสอบข้อมูลและเรื่องร้องเรียนสำหรับโครงการเราชนะ (คณะทำงาน) เพื่อติดตามตรวจสอบการกระทำที่เข้าข่ายฝ่าฝืนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการอย่างใกล้ชิด”

พร้อมกันนี้ ในกรณีที่พบการกระทำที่ฝ่าฝืน เช่น การรับแลกวงเงินสิทธิเป็นเงินสด เป็นต้น ก็จะดำเนินการระงับสิทธิการเข้าร่วมโครงการ และร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เป็นต้น ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงและขยายผลการสืบสวนสอบสวนต่อไป

ทั้งนี้ โครงการได้ระงับสิทธิถาวรผู้ประกอบการที่ฝ่าฝืนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการแล้ว จำนวน 2,099 ราย และได้ออกหนังสือประทับตราแจ้งผู้ประกอบการที่ฝ่าฝืนหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และความยินยอมสำหรับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ “เราชนะ” เพื่อคืนเงินที่ได้รับ

ข้อห้ามสำหรับผู้ประกอบการ

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สำนักประชาสัมพันธ์เขต 1 กรมประชาสัมพันธ์ ได้แจ้งเตือนผ่านเพจเฟซบุ๊กสำหรับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการชนะ ระบุว่า

“เราชนะ” ห้ามซื้อสินค้าโดยการสแกนออนไลน์ ห้ามแลกเป็นเงินสด หากตรวจสอบย้อนหลังพบกระทำผิด ท่านจะมีความผิดทั้งร้านค้าและประชาชน

โดยเฉพาะผู้ใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่ส่งภาพบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและรหัส 6 หลัก ไปให้ร้านค้าผู้รับจ้าง แนะนำให้ท่านรีบเปลี่ยนรหัส 6 หลัก ถ้าเงินเข้ารอบต่อไป ท่านอาจจะไม่ได้ใช้เงิน

กรณีพบร้านค้ากระทำดังกล่าว ลูกค้าสามารถแจ้งเบาะแสได้ที่เว็บไซต์คนละครึ่ง ([email protected])หรือ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โทร. 0-2273 9020 ต่อ 3697, 3527, 3548, 3509 (เวลาราชการ) หรือ ธนาคารกรุงไทย โทร.0-2111-1144 ตลอด 24 ชั่วโมง

หลักเกณฑ์และเงื่อนไขสำหรับผู้ประกอบการเราชนะ

1.ผู้ประกอบการต้องปฏิบัติตามสาระสำคัญของโครงการ รวมถึงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการ

2.ห้ามผู้ประกอบการปฏิเสธการใช้สิทธิตามโครงการ ของลูกค้า เว้นแต่เป็นความผิดของลูกค้าหรือเป็นเหตุสุดวิสัยอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

3.ห้ามผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ กระทำการใด ๆ ที่สร้างความเข้าใจผิดต่อมาตรการและ/หรือโครงการของรัฐ หรือก่อให้เกิดอุปสรรคต่อการดำเนินโครงการ หรือมาตรการอื่น ๆ ของรัฐ

4.ในกรณีที่มีการจ่ายเงินตามโครงการ ให้แก่ผู้ไม่มีสิทธิได้รับอันเนื่องมาจากการไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขของผู้ประกอบการ ผู้ประกอบการจะต้องจ่ายเงินคือให้แก่รัฐภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งถึงการจ่ายเงินผิดพลาดดังกล่าว โดยจ่ายเงินคืนผ่านช่องทางที่กระทรวงการคลังกำหนด

5.หากผู้ประกอบการไม่ปฏิบัติตามหรือฝ่าฝืนหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขของโครงการ ผู้ประกอบการจะต้องจ่ายเงินที่ได้รับจากโครงการ คืนให้แก่รัฐภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งถึงการกระทำดังกล่าว โดยจ่ายเงินคืนผ่านช่องทางที่กระทรวงการคลังกำหนด

6.กระบวนการพิจารณาและดำเนินการตามข้อ 4 และ 5 ให้เป็นไปตามที่กระทรวงการคลังกำหนด