สมบัติ เมทะนี : ประวัติ ผลงาน ความทรงจำ และการดูแลสุขภาพถึงวัย 85 ปี

สมบัติ เมทะนี

ประวัติและผลงานการแสดงของสมบัติ เมทะนี พระเอกตลอดกาลเสียชีวิตในวัย 85 ปี ผ่านการโลดแล่นในวงการบันเทิง เป็นทั้งนักแสดง-ผู้กำกับ และเข้าสู่วงการเมือง โดดเด่นเรื่องการดูแลสุขภาพจนวาระสุดท้าย

วันที่ 18 สิงหาคม 2565 สมบัติ เมทะนี ได้จากไปอย่างสงบโดยการนอนหลับ ในวัย 85 ปี “ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมประวัติ เส้นทางชีวิต และผลงานของดาราภาพยนตร์ มีผลงานการแสดงที่รับบทเป็นพระเอกมากที่สุดในประวัติศาสตร์นักแสดงไทยและระดับโลก เขาจึงได้ฉายา “พระเอกตลอดกาล” ผ่านผลงาน 617 เรื่อง

แอ๊ด-สมบัติ เมทะนี เกิดเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2480 เป็นบุตรของนายเสนอ เมทะนี กับนางบุญมี เมทะนี เกิดที่จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นถิ่นฐานเดิมของแม่ แต่เมื่ออายุได้เพียง 7 วัน ครอบครัวได้ย้ายมาอยู่ที่แยกสะพานอ่อน ในปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ตามพ่อซึ่งเป็นข้าราชการกรมรถไฟ โดยสมบัติจบจากวิทยาลัยเทคนิคทุ่งมหาเมฆ

ในส่วนชีวิตครอบครัว สมบัติ เมทะนี สมรสกับกาญจนา เมทะนี เมื่อปี 2502 มีบุตรด้วยกันทั้งหมด 5 คน เป็นบุตรชาย 4 คน ธิดา 1 คน คือ สิรคุปต์ เมทะนี (อั๋น), เกียรติศักดิ์ เมทะนี (อั้ม), ศตวรรษ เมทะนี (เอ้), พรรษวุฒิ เมทะนี (อุ้ม) และสุดหทัย เมทะนี (เอ๋ย)

เส้นทางบันเทิงของพระเอกตลอดกาล

จากนั้นเข้าสู่วงการบันเทิงเมื่อปี 2503 โดยการชักนำของ “นำดี วิตตะ” หัวหน้าคณะละครโทรทัศน์พจนาภิรมย์ ที่ให้สมบัติแสดงละครเรื่อง หัวใจปรารถนา คู่กับวิไลวรรณ วัฒนพานิช เป็นครั้งแรก และแสดงเป็นพระเอกภาพยนตร์เรื่องแรกคือ รุ้งเพชร ภาพยนตร์ 16 มม.ของน้อย กมลวาทิน คู่กับรัตนาภรณ์ อินทรกำแหง เข้าฉายวันที่ 30 พฤศจิกายน 2504 ที่โรงภาพยนตร์เอ็มไพร์ จากนั้นก็เป็นพระเอกคู่กับรัตนาภรณ์ให้กมลศิลป์ภาพยนตร์อีก 4 เรื่อง คือ สกาวเดือน (2505) สิงห์สั่งป่า (2506) สมิงสาว (2506) งามงอน (2506)

ขณะที่สมบัติ แสดงภาพยนตร์อยู่กับกมลศิลปภาพยนตร์ได้ 2 เรื่อง มารุต ผู้สร้างผู้กำกับก็ดึงตัวสมบัติ มาแสดงภาพยนตร์ 35 มม. เสียงในฟิล์มเรื่อง ตะวันหลั่งเลือด คู่กับบุศรา นฤมิตร เป็นภาพยนตร์แนวบู๊ สร้างในระบบ 35 มม. เรื่องแรกของสมบัติ ได้รับคำชมว่าแสดงได้ทุกรูปแบบ ทำให้ โดม แดนไทย ขอตัวสมบัติมาประกบกับไชยา สุริยัน ในภาพยนตร์แนวบู๊เรื่องเก้ามังกร (2506)

ต่อมานำดี วิตตะ สร้างภาพยนตร์แนวบู๊ ดุเดือด เรื่องสิงห์ล่าสิงห์ ซึ่งมีมิตร ชัยบัญชา เป็นพระเอกและให้สมบัติมาแสดงประกบ ทำให้ต้องออกจากสังกัดกมลศิลป์ภาพยนตร์ เมื่อภาพยนตร์เข้าฉายที่โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุง ในวันที่ 15 ตุลาคม 2507 ก็ทำให้ชื่อเสียงของสมบัติโด่งดังยิ่งขึ้น จากนั้นในเวลาต่อมาสมบัติจึงรับงานแสดงภาพยนตร์ได้โดยไม่สังกัดค่าย

สมบัติได้รับพระราชทานรางวัลตุ๊กตาทองครั้งแรกในฐานะดารานำฝ่ายชายยอดเยี่ยมจากเรื่องศึกบางระจัน (2509 พิศมัย) ของสุพรรณ พราหมณ์พันธุ์ ทำให้มีงานแสดงเพิ่มมากขึ้น กระทั่งสิ้นยุค มิตร ชัยบัญชา เมื่อเข้าสู่ปี 2514 สมบัติก็ได้แสดงเป็นพระเอกมากถึงปีละ 40 เรื่อง

ภาพจากข่าวสด

สวมบทบาทผู้กำกับภาพยนตร์

ในเวลาต่อมา สมบัติลงทุนสร้างและกำกับภาพยนตร์ด้วยตนเองครั้งแรกในชื่อเมทะนีฟิล์ม โดยมี กาญจนา เมทะนี ภรรยาเป็นผู้อำนวยการสร้าง เริ่มจากภาพยนตร์ 35 มม. เรื่องไม่มีคำตอบจากสวรรค์ (2516 สมบัติ-อรัญญา) แต่รายได้ไม่ค่อยดีนัก จึงเปลี่ยนมาสร้างแนวบู๊เอาใจตลาดในยุคนั้น

เริ่มจากเรื่องนักเลงเทวดา (2518 สมบัติ-อรัญญา) ท้ามฤตยู (2519 สมบัติ-อรัญญา) แหย่หนวดเสือ (2520 สมบัติ-อรัญญา) มหาภัยพันหน้า (2521 สมบัติ-อรัญญา) สลักจิต (2522 สมบัติ-จารุณี) ในจำนวนนี้ นักเลงเทวดา ถือเป็นภาพยนตร์ที่สร้างชื่อเสียงและแจ้งเกิดด้านการกำกับการแสดงให้แก่สมบัติเป็นผลสำเร็จ แต่ภาพยนตร์ที่ทำรายได้มากที่สุดคือเรื่องสลักจิต

ขณะเดียวกัน สมบัติยังรับกำกับภาพยนตร์ให้ผู้สร้างรายอื่นอีก เช่นเรื่องปล้นอเมริกา (2520 สมบัติ-อรัญญา) หนักแผ่นดิน (2520 สมบัติ-นัยนา) นักเลงตาทิพย์ (2523 จตุพล-จารุณี) ลูกสาวกำนัน (2524 ทูน-จารุณี) แม่แตงร่มใบ (2525 ทูน-จารุณี) นักเลงคอมพิวเตอร์ (2525 สรพงศ์-ทูน) นักฆ่าจากเจ้าพระยา (2525 สมบัติ-ทูน) ลูกสาวกำนัน ภาค 2 (2526 ทูน-จารุณี) น.ส.ลูกหว้า (2527 เกรียงไกร-จารุณี) คู่สร้างคู่สม (2530 พงษ์พัฒน์-ชไมพร) ฯลฯ

ตลอดระยะเวลาการแสดงภาพยนตร์ สมบัติผ่านการแสดงคู่กับนางเอกภาพยนตร์ไทยและต่างประเทศมาแล้วกว่า 80 คน แม้กระทั่งเมื่อถึงยุคของพระเอกรุ่นน้อง สมบัติก็ยังคงแสดงประกบกับพระเอกรุ่นน้องอีกหลาย ๆ คน ไม่ว่าจะเป็นยุคของกรุง สรพงศ์ นาท ฯลฯ

กระทั่งกินเนสส์บุ๊กออฟเวิลด์เรกคอร์ค บันทึกไว้ว่า สมบัติเป็นดาราที่แสดงภาพยนตร์ไว้มากที่สุดถึง 617 เรื่อง (ขณะนั้น) ซึ่งปัจจุบัน สมบัติก็ยังคงมีผลงานปรากฏให้เห็นอยู่เนือง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์หรืองานโฆษณาสินค้าต่าง ๆ

เคล็ดลับดูแลสุขภาพ ฉบับสมบัติ เมทะนี

นอกจากนี้ เมื่อปี 2563 สมบัติ เมทะนี พร้อมด้วย ตุ๊ “กาญจนา เมทะนี” ภรรยาที่อยู่เคียงข้างกันมานานกว่า 60 ปี ได้ให้สัมภาษณ์กับ “มติชนสุดสัปดาห์” ว่า แม้จะมีอายุ 83 แล้ว (ขณะนั้น) สุขภาพตอนนี้ก็ยังคงแข็งแรง เนื่องจากออกกำลังกายมาตลอดตั้งแต่เป็นวัยรุ่น ซึ่งที่หน้าบ้านก็จะมีบาร์เบล ดัมบ์เบลให้เล่น

แต่สมบัติมีปัญหาเรื่องสายตา ซึ่งเป็นผลกระทบมาจากงานแสดงที่ต้องโดนแสงเยอะ และการใช้ยาหยอดตา รวมทั้งหูข้างซ้ายที่มีปัญหาการได้ยินบ้าง หลังเล่นฉากบู๊ที่สมัยก่อนใช้เอฟเฟ็กต์ต่าง ๆ

สำหรับเคล็ดลับการดูแลสุขภาพ นอกจากออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ สิ่งสำคัญคือกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ ขณะที่ในปี 2557 สมบัติเข้ารักษาตัวอยู่ห้องไอซียูเป็นเวลา 8 วัน เหตุเกิดจากไปนวดกดจุดแล้วไม้ที่กดจุดมาโดนผิวเป็นแผลถลอกที่ตาตุ่ม แล้วไม่ได้ทำแผลเลยติดเชื้อในกระแสเลือด

ชีวิตในวงการบันเทิง

สมบัติเล่าถึงเทคนิคในการแสดงว่า ส่วนมากจำตอนที่พ่อพาไปดูหนัง โดยเฉพาะหนังฝรั่งยุคเก่า ๆ จะดูว่าเขาฟันดาบอย่างไร เขาเข้าพระเข้านางอย่างไร นอกจากนี้ ในช่วงที่อยู่ในวงการบันเทิง สมบัติไม่เคยมีประวัติด่างพร้อยในเรื่องชู้สาว และได้ชื่อว่าเป็นคนรักเดียวใจเดียว รักครอบครัว

“ผมระวังตัวเรื่องนี้มาก เพราะมันล่อแหลมพอสมควร ถ้าพลาดท่าก็หมด คือเราก็มีภรรยาแล้ว แต่สมัยก่อนมันเปิดเผยไม่ได้ ถ้าเราไปยุ่งกับหลาย ๆ คน เราเสีย ถ้าไปยุ่งเราก็หนีไม่พ้น อย่างที่รู้ว่าหูตานักข่าวนี่… (หัวเราะ) เราต้องระวังตัวเรื่องนี้ ผมซื่อสัตย์มั่นคงกับภรรยา มันช่วยให้ครอบครัวเรามีสุข และทำให้เราไม่เหลวไหล”

ทั้งนี้ สมบัติยังได้กล่าวถึงวงการบันเทิงในยุคนี้ว่า “เด็กรุ่นใหม่เขาก็โอเค เท่าที่ผมได้ดู เขาแสดงเก่ง มีความสามารถดี ผมว่าเขาเอาตัวรอดสบาย ถ้าเทียบกับวงการบันเทิงยุคก่อน ยุคนี้มีอิสระในการดำรงชีพมากกว่า และเปิดเผยเรื่องคู่ครองได้มากกว่า ไม่เหมือนสมัยก่อนที่ต้องปิดบัง เพื่อให้ตัวเราไม่เสื่อมความนิยม อย่างไรก็ตาม การที่เรามีคู่ชีวิตที่ดีอยู่แล้วก็ประคองชีวิตของเราให้ราบรื่นจะดีกว่า ผมเชื่อว่าการซื่อสัตย์สุจริตต่อกันดีที่สุด”

เป็นผู้สมัคร ส.ส.พรรคเพื่อไทย


นอกจากนี้ สมบัติยังเคยเล่นการเมือง โดยเข้าเป็นสมาชิกพรรคประชาราช ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นรองหัวหน้าพรรค และลงสมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2550 แบบสัดส่วน กลุ่มที่ 6 สังกัดพรรคประชาราช ลำดับที่ 1 แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง จากนั้นสมัครเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย และลงสมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2554 แบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคเพื่อไทย ลำดับที่ 102 แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง