ประวัติสรพงศ์ ชาตรี พระเอกดังค่ายท่านมุ้ย ผลงานแสดง 500 เรื่อง

สรพงษ์ ชาตรี

เปิดประวัติ “สรพงศ์ ชาตรี” จากตัวประกอบ สู่พระเอกดังในตำนาน พีกสุด 1 ปี มีผลงาน 61 เรื่อง รวม 40 ปีวงการบันเทิง แสดง 500 เรื่อง 

วันที่ 10 มีนาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เป็นอีกหนึ่งการสูญเสียครั้งใหญ่ของวงการบันเทิงกับการจากไปของนายสรพงศ์ ชาตรี นักแสดงอาวุโส พระเอกดังในตำนาน สิริรวมอายุ 71 ปี โดยนายสรพงศ์ เดิมป่วยเป็นโรคมะเร็งปอดและได้รับการรักษาตัวมาตลอด จนเกิดอาการสำลักขณะรับประทานกล้วยน้ำว้า จนต้องส่งตัวเข้าห้องไอซียู และเสียชีวิตในที่สุด

“ประชาชาติธุรกิจ” พาย้อนอ่านประวัติ และผลงานในวงการบันเทิงกว่า 40 ปี ที่เริ่มมีชื่อเสียงตั้งแต่ในช่วงยุคปลาย 70 จากการเป็นตัวประกอบ กระทั่งได้รับรางวัลศิลปินแห่งชาติ

ประวัติ “สรพงศ์ ชาตรี”

นายสรพงศ์ ชาตรี เดิมทีชื่อ “พิทยา เทียมเศวต” แต่มาเปลี่ยนชื่อที่ใช้ในปัจจุบันหลังจากเข้าสู่วงการบันเทิง โดยผู้ตั้งชื่อให้คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ และหม่อมอุบล ยุคล ณ อยุธยา

นายสรพงศ์เกิดเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2493 ที่อำเภอมหาราช จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จบการศึกษาชั้น ป.4 แล้วบวชเรียนตั้งแต่อายุ 8 ขวบ ที่วัดเทพสุวรรณ พระนครศรีอยุธยา และวัดดาวดึงส์ บางยี่ขัน ธนบุรี จนกระทั่งลาสิกขาบทเมื่อ พ.ศ. 2512

ในปี พ.ศ. 2552 ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ศิลปศาสตร์ สาขาสังคมศาสตร์เพื่อการพัฒนา จากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา

อีกทั้งดำรงตำแหน่งประธานมูลนิธิสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) เมตตาบารมี อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (จากผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านศิลปะร่วมสมัย) สาขาศิลปะการแสดงในคณะกรรมการส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย

กระทั่งในวันที่ 10 มีนาคม 2565 เวลา 15.51 น. นายสรพงศ์ได้เสียชีวิตลงในวัย 71 ปี ด้วยอาการป่วยเป็นโรคมะเร็งปอด

40 ปี สร้างผลงานผ่านจอเงิน

นายสรพงศ์เริ่มเข้าสู่วงการบันเทิง เมื่ออายุ 19 ปี หลังจากพบกับหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิมยุคล หรือท่านมุ้ย ผู้กำกับชื่อดัง โดยเริ่มแสดงละครครั้งแรกปี 2512 รับบทตัวประกอบ และเป็นเด็กยกของในกองละคร เรื่อง นางไพรตานี ฉายทางช่อง 7 และเล่นเป็นตัวประกอบในละคร ห้องสีชมพู และหมอผี ซึ่งหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล เป็นผู้กำกับหลังจากเดินทางกลับจากเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกา

ผลงานภาพยนตร์เรื่องแรกเป็นตัวประกอบในภาพยนตร์เรื่อง สอยดาว สาวเดือน เมื่อ พ.ศ. 2512 รับบทเป็นลูกน้องนักเลงที่มีเรื่องกับ ชนะศรีอุบล ที่รับบทสมิง ซึ่งเป็นพระรองของเรื่องในร้านเหล้าโดยที่ออกมาฉากเดียวและไม่มีบทพูดและถูกสมิงยิงตาย

จากนั้นมีผลงานภาพยนตร์ออกมาอย่างต่อเนื่อง และได้รับบทในภาพยนตร์ของหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล หรือท่านมุ้ย แทบทุกเรื่อง ทั้งบทพระเอก พระรอง และเป็นผู้ช่วยผู้กำกับในบางครั้ง รวมผลงานการแสดงกว่า 500 เรื่อง

“แสดงภาพยนตร์มา 500 กว่าเรื่อง ได้รางวัลตุ๊กตาทอง จากเรื่อง สัตว์มนุษย์, ชีวิตบัดซบ, ถ้าเธอยังมีรัก, มือปืน, เสียดาย, สาละวิน รวม 6 ตุ๊กตาทอง, 1 รางวัลดาราทอง, 3 รางวัลสุพรรณหงส์ และรางวัลอื่นๆ รางวัลจากภาพยนตร์ผมถือว่าเป็นรางวัลจากอาชีพ แต่ศิลปินแห่งชาตินั้นรวมหมด ทั้งผลงานและการทำประโยชน์ให้กับสังคม” หนึ่งในสัมภาษณ์ของนายสรพงศ์

สรพงษ์ ชาตรี

ผลงานและรางวัลจากการแสดง

ด้วยผลงานและความสามารถทำให้นายสรพงศ์ ได้รับรางวัลตุ๊กตาทอง จากเรื่อง สัตว์มนุษย์, ชีวิตบัดซบ, ถ้าเธอยังมีรัก, มือปืน, เสียดาย, สาละวิน รวม 6 ตุ๊กตาทอง, 1 รางวัลดาราทอง, 3 รางวัลสุพรรณหงส์ และรางวัลอื่น ๆ และยังมีชื่อเสียงในต่างประเทศจากเรื่อง แผลเก่า (พ.ศ. 2520) กำกับโดยเชิด ทรงศรี นับว่าประสบความสำเร็จสูงสุด

อีกทั้งยังได้รับรางวัลทางการแสดงจากหลายสถาบัน เช่น รางวัลตุ๊กตาทองพระสุรัสวดี ดารานำชายยอดเยี่ยม จากเรื่อง สัตว์มนุษย์ ชีวิตบัดซบ มือปืน มือปืน 2 สาละวิน เสียดาย 2 รางวัลสุพรรณหงส์ ดารานำชายยอดเยี่ยม จากภาพยนตร์เรื่อง ถ้าเธอยังมีรัก มือปืน และนักแสดงประกอบชายจากเรื่อง องค์บาก 2 ส่วนรางวัลชมรมวิจารณ์บันเทิง นักแสดงชายยอดเยี่ยม จากเรื่อง มือปืน 2 สาละวิน

สรพงษ์ ชาตรี

สถิติผลงาน 1 ปี แสดง 61 เรื่อง

“ประชาชาติธุรกิจ” ย้อนดูข้อมูลผลงานการแสดงทั้งหมดของนายสรพงศ์ ในช่วงปี 2520-2532 รวมกว่า 12 ปี ซึ่งเป็นช่วงปลายยุค 70 ถึงกลางยุค 80 พบว่า ใน 1 ปีได้สร้างสรรค์ผลงานการแสดงไม่ต่ำกว่า 30 เรื่อง โดยในปี 2526 มีผลงานสูงสุดถึง 61 เรื่อง เช่น มนต์รักก้องโลก, พยัคฆ์ทมิฬ, พระจันทร์เปลี่ยนสี และอีกมากมาย

นักแสดง นักบุญที่ยิ่งใหญ่

นายสรพงศ์เป็นอีกหนึ่งบุคคลที่ชอบทำบุญ เขาได้ระดมทุนสร้างวัดสรพงศ์ หรือที่เรียกว่า มูลนิธิสมเด็จพุฒาจารย์ โต พรหมรังสี ที่ จ.นครราชสีมา มีรูปหล่อหลวงปู่โตที่ใหญ่ที่สุดในโลก ตั้งอยู่ริมถนนมิตรภาพ (ทางหลวงหมายเลข 2) อำเภอสีคิ้ว ห่างจากตัวเมืองนครราชสีมาประมาณ 42 กิโลเมตร

สำหรับรูปหล่อองค์สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) มีหน้าตักกว้าง 8 เมตร 1 นิ้ว สูง 13 เมตร หนัก 61 ตัน ค่าก่อสร้าง 9 ล้านบาทเศษ และได้จัดสร้างมหาวิหารเป็นแบบกุฎาคาร (เรือนยอดเจดีย์เพื่อประดิษฐานพระพุทธรูป) ขึ้นถวาย พร้อมทั้งซื้อที่ดินประมาณ 150 ไร่ และจัดภูมิทัศน์ส่วนต่าง ๆ ตามความเหมาะสม เช่น สระน้ำ สวนหิน สวนต้นไม้ อีกทั้งได้จัดบริการด้านอาหาร และห้องน้ำห้องสุขาฟรี


สรพงษ์ ชาตรี