
แพทย์ชี้โรคอ้วนไม่ใช่แค่ปัญหาสุขภาพส่วนตัว แต่เป็นวิกฤตระดับชาติที่กระทบเศรษฐกิจและระบบสาธารณสุข ประชากรโลกกว่า 988 ล้านคนเข้าข่ายโรคอ้วน ส่งผลให้งบประมาณรักษาโรคเบาหวาน-หัวใจ-มะเร็งพุ่งสูง ย้ำอย่าประเมินสุขภาพแค่ค่า BMI ต้องดู Body Fat และสัดส่วนร่างกายร่วมด้วย
นายแพทย์ชเนษฎ์ ศรีสุโข โรงพยาบาลศรีสุโข จังหวัดพิจิตร และผู้ก่อตั้งมาลิคลินิกเวชกรรม สีลม กล่าวว่า ข้อมูลจากสมาพันธ์โรคอ้วนโลกระบุว่า มีประชากรผู้ใหญ่ทั่วโลกกว่า 988 ล้านคนกำลังมีปัญหาโรคอ้วน ส่วนในประเทศไทย ข้อมูลผลสำรวจสุขภาพคนไทยโดยการตรวจร่างกาย
ล่าสุด (ปี 2562-2563) โดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข พบว่าผู้หญิงไทยร้อยละ 46.4 และผู้ชายไทยร้อยละ 37.8 มีภาวะอ้วน หรือมีค่า BMI ตั้งแต่ 25 ขึ้นไป ในขณะที่ผู้ชายไทยร้อยละ 27.7 และร้อยละ 50.4 ในหญิงไทยมีภาวะอ้วนลงพุง หรือมีรอบเอวตั้งแต่ 32 นิ้ว (80 เซนติเมตร) ขึ้นไปสำหรับผู้หญิง และตั้งแต่ 36 นิ้ว (90 เซนติเมตร) ขึ้นไปสำหรับผู้ชาย นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้หญิงในกรุงเทพมหานครมีความชุกภาวะอ้วนลงพุงสูงสุด
โรคอ้วนไม่เพียงแต่เป็นปัญหาสุขภาพส่วนบุคคล แต่ยังเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อระบบสุขภาพและเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ อย่างมาก นำมาซึ่งค่าใช้จ่ายในระบบสาธารณสุข ในการรักษาโรคที่เกี่ยวข้อง อย่างโรคเบาหวาน โรคหัวใจ และมะเร็งมีมูลค่ามหาศาล
โรคอ้วนเป็นโรคเรื้อรังที่ต้องการการรักษาเช่นเดียวกับโรคเรื้อรังอื่น ๆ แต่สิ่งที่น่ากังวลคือ คนที่เป็นโรคอ้วนยังถูกวินิจฉัยและได้รับการรักษาไม่เพียงพอ เพราะจากสถิติจากวิจัยในสหรัฐพบว่า จากจำนวนคนที่เผชิญกับโรคอ้วนทั้งหมดนั้น มีประมาณร้อยละ 40 ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคอ้วน และมีไม่ถึงร้อยละ 20 ที่ได้รับการรักษาโรคอ้วนด้วยวิธีที่มีข้อมูลศึกษาชัดเจน และมีเพียงร้อยละ 1.3 เท่านั้นที่ได้รับยาที่มีข้อบ่งใช้ในการรักษาโรคอ้วน
แนวทางแก้ปัญหาโรคอ้วนในระยะยาว
ประชาชนควรปรับเปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับโรคนี้ เนื่องจากล่าสุดมีการกำหนดนิยามโรคอ้วน และประเภทของโรคอ้วนทางการแพทย์ใหม่ โดยเน้นความสำคัญของ ‘Preclinical Obesity’ หรือภาวะก่อนเป็นโรคอ้วน ซึ่งควรได้รับการรักษา เช่น คนที่มีภาวะเนื้อเยื่อไขมันมากเกินไป (Excess Adiposity) แต่อวัยวะต่าง ๆ ยังทำงานได้ปกติ
“แม้ค่า BMI จะอยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่อาจเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงของร่างกายในทางไม่ดี และอาจมีอาการของโรคแทรกซ้อน เช่น ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง และเบาหวาน เป็นต้น แนวโน้มการรักษาโรคอ้วนควรเริ่มตั้งแต่ระยะแรก แม้ค่า BMI ยังไม่เกินมาตรฐาน ซึ่งค่าที่เหมาะสมสำหรับผู้หญิงไทยเฉลี่ยคือ 24.4 และชาวไทยคือ 23.1” นายแพทย์ชเนษฎ์กล่าว
การวินิจฉัยภาวะอ้วนรายบุคคลควรใช้เครื่องมือที่วัดสัดส่วนของไขมันในร่างกายเทียบกับน้ำหนักตัว (Body Fat) ที่ช่วยให้รู้รายละเอียดของมวลกล้ามเนื้อหรือมวลไขมันในร่างกายได้ดียิ่งขึ้น หรือหากไม่สามารถวัด Body Fat ได้ ก็อาจเลือกใช้วิธีวัดสัดส่วนของร่างกาย เช่น การวัดเส้นรอบเอว สำหรับผู้ชายถ้ามากกว่า 36 นิ้วถือว่าอ้วนลงพุง ส่วนผู้หญิงมากกว่า 32 นิ้ว นอกจากนี้ สามารถใช้การวัดเส้นรอบเอว (เมตร) หารด้วยเส้นรอบสะโพกที่ยาวที่สุด โดยผู้ชายถ้าเกิน 1.0 และผู้หญิงถ้าเกิน 0.8 ถือว่าอ้วนลงพุง
พฤติกรรมเสี่ยงโรคอ้วน
นายแพทย์ชเนษฎ์กล่าวว่า นอกจากกังวลเรื่องรูปลักษณ์ภายนอกที่เกิดจากภาวะอ้วนแล้ว คนเราควรต้องตระหนักถึงโรคอื่น ๆ ที่พ่วงมากับความอ้วนด้วย เพราะส่งผลเสียต่อสุขภาพอย่างมาก เพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร และมีค่าใช้จ่ายในการรักษาอีกมหาศาลสำหรับโรคเรื้อรัง
กลุ่มคนที่มีแนวโน้มเป็นโรคอ้วนเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดจะมีพฤติกรรม 1.ไม่ออกกำลังกาย 2.รับประทานอาหารไม่ดี เช่น มีน้ำตาลสูงเกินไป และรับประทานผัก ผลไม้ที่มีไฟเนอร์น้อยเกินไป 3.พักผ่อนไม่เพียงพอ หรือนอนไม่หลับ 4.คนที่ติดหน้าจออุปกรณ์มือถือตลอดเวลา 5.มีความเครียดและมีปัญหาโรคทางจิตใจ 6.กลุ่มคนที่ได้รับยาบางประเภท เช่น ยาสเตียรอยด์, ยาคุมประเภทฮอร์โมนเดียวแบบโปรเจสเตอโรน, ยากันชัก, ยาเบาหวานและความดันบางชนิด และคนที่มียีนโรคอ้วน
“หากใครรู้ว่าตัวเองอยู่ในกลุ่มเสี่ยงดังกล่าว ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดความเสี่ยง แต่หากเป็นปัจจัยทางพันธุกรรม หรือภาวะเจ็บป่วยอื่น ๆ ก็จำเป็นต้องปรึกษาแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกวิธี” นายแพทย์ชเนษฎ์ กล่าวทิ้งท้าย