รู้จัก โรคหมอนรองกระดูก อาการแฝงคนวัยทำงาน อันตรายแค่ไหน

โรคหมอนรองกระดูก

โรคหมอนรองกระดูก อีกหนึ่งภัยร้ายที่แฝงมากับพฤติกรรมประจำวัน ที่หลายคนอาจมองข้าม โดยเฉพาะกลุ่มวัยทำงาน 

วันที่ 24 มีนาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สร้างกังวลใจให้กับนักร้องหนุ่ม นายวรยศ บุญทองนุ่ม หรือ แพท พาวเวอร์แพท อยู่ไม่น้อย หลังทราบว่า ตนเองป่วยเป็นโรคหมอนรองกระดูก และต้องเข้ารับการผ่าตัดครั้งใหญ่ ซึ่งแพทย์ได้เปิดเผยว่า เป็นอาการเรื้อรังที่สะสมมาตั้งแต่อยู่ในเรือนจำ และอาจเสี่ยงเป็นอัมพฤกต์อัมพาตได้

“ประชาชาติธุรกิจ” พาผู้อ่านรู้จักกับโรคหมอนรองกระดูก ว่าแท้จริงแล้วมีอันตรายแค่ไหน อาการของโรคเป็นอย่างไร และจะรักษาอย่างไรเมื่อรู้ตัวว่าเป็นโรคดังกล่าว (ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค)

โรคหมอนรองกระดูก คืออะไร

โรคหมอนรองกระดูก หมอนรองกระดูกสันหลังเป็นอวัยวะสำคัญที่ช่วยคั่นกลางรอยต่อ ระหว่างกระดูกสันหลังแต่ละคู่โดยหมอนรองกระดูก นี้มีลักษณะยืดหยุ่นเพื่อช่วยให้สันหลังเคลื่อนไหวได้ แต่ในบางคนอาจมีการเคลื่อนตัวของหมอนรองกระดูก ไปรบกวนหรือไปกดทับถูกรากประสาทดังกล่าว ทำให้เป็นโรคหมอนรองกระดูกเคลื่อน หรือที่เรียกว่า “รากประสาทถูกกด”

อายุเท่าไร ถึงพบอาการ

กลุ่มคนที่พบเป็นโรคหมอนรองกระดูก มักพบในวัยทำงาน อายุตั้งแต่ 30-40 ปี อาการมักจะเกิดจากการใช้งานมาก เช่น ยกของหนัก นั่งผิดท่า นั่งขับรถนาน ๆ หรือ น้ำหนักตัวมากก็มีผลเช่นกัน

อีกกลุ่มอายุที่พบ คือ ผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป โดยอาการของโรคมักเกิดจากการเสื่อมสภาพของหมอนรองกระดูกตามวัย

โรคหมอนรองกระดูกอันตรายแค่ไหน

โรคหมอนรองกระดูก มีระดับความรุนแรงของลักษณะกระดูกที่เกิดขึ้นแบ่งเป็น 4 ระยะ  และมีการแสดงอาการที่แตกต่างกันในแต่ละระดับ ดังนี้

ระยะที่ 1 

  • ลักษณะกระดูกสันหลัง : ส่วนโค้งเริ่มเสียสมดุล
  • อาการ : ยังไม่ค่อยมีอาการ

ระยะที่ 2

  • ลักษณะกระดูกสันหลัง : มีกระดูกปูดนูนตรงข้อต่อกระดูก
  • อาการ : ปวดหลังเป็น ๆ หาย ๆ

ระยะที่ 3

ลักษณะกระดูกสันหลัง : หมอนรองกระดูกเคลื่อน หรือปลิ้นมาทับเส้นประสาท
อาการ : ปวดร้าวลงแขนและขา เกิดอาการแขนขาชา หรืออ่อนแรง

ระยะที่ 4 

ลักษณะกระดูกสันหลัง : หมอนรองกระดูกตีบแคบลง ข้อต่อกระดูกแข็ง
อาการ : ปวดหลังรุนแรง ก้มหรือแอ่นไม่ค่อยได้ ต่อไปจะเริ่มเดินลำบาก

ทำอย่างไร เมื่อเป็นโรคหมอนรองกระดูก

ผู้ที่เริ่มมีอาการ ควรไปพบแพทย์ตั้งแต่ระยะที่ 1-2 ดีที่สุด ส่วนผู้ที่มีอาการในระยะที่ 3 อาจยังพอรักษาได้ด้วยการกายภาพบำบัดได้ แต่ถ้าปล่อยไว้จนถึงระยะที่ 4 อาจต้องเข้ารับการผ่าตัดรักษาต่อไป

การป้องกันโรค


อย่างไรก็ตาม หากไม่อยากเป็นโรคหมอนรองกระดูก สามารถป้องกันการเกิดโรคโดยการหลีกเลี่ยง ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคทั้งหมด เช่น ไม่ยกของหนัก ยกของในท่าที่ถูกต้อง ไม่ยกของหนักเป็นเวลานาน ปรับเปลี่ยนอิริยาบถ สำหรับการนั่งทำงานบ่อย ๆ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และออกกำลังกายเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหลัง และหน้าท้องอยู่เป็นประจำ