เทคนิคดูแลสัตว์เลี้ยงแสนรักเมื่อสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย

ภาพจาก pixabay

ในงาน Pet Lover ที่จัดขึ้น ณ ลานรอยัล พาร์ค พลาซา พาราไดซ์ พาร์ค นอกจากเปิดพื้นที่เอาใจคนรักสัตว์ทั้งน้องหมาและน้องแมวกับแฟชั่นโชว์สุดเก๋ไก๋ และสัมผัสประสบการณ์แปลกใหม่กับเหล่าสัตว์ Exotic Pet แบบใกล้ชิด ยังมีกิจกรรมให้ความรู้ดี ๆ เกี่ยวกับการดูแลสัตว์เลี้ยงให้มีความสุขและสุขภาพดี แม้ว่าสภาพอากาศเมืองไทยจะเปลี่ยนแปลงบ่อยเหลือเกิน

นายสัตว์แพทย์ วสุธร ดังวัธนาวณิชย์ (หมอเตเต้) สัตวแพทย์ประจำสำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์ แนะวิธีสังเกตสัตว์เลี้ยงแสนรักในงานนี้ว่า เมื่อสภาพอากาศร้อนให้เจ้าของวัดจากความรู้สึกของตัวเองก่อนว่าเมื่ออากาศร้อนขึ้น เราจะรู้สึกอึดอัดและหงุดหงิดง่าย ซึ่งสัตว์เลี้ยงก็มีความรู้สึกแบบนั้นเช่นกัน บางตัวจึงแสดงออกด้วยอาการก้าวร้าว บางตัวมีอาการหอบ หายใจแรง  จากปกติที่จมูกของสัตว์จะมีความชื้นเล็ก ๆ แต่ไม่มีน้ำมูก หากผิดปกติจมูกจะแห้งและมีการหลั่งของน้ำลายที่เหนียวยืดออกมา และมีอัตราการเต้นของหัวใจที่เร็วขึ้น สูงขึ้น

“วิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นก่อนพาไปพบสัตว์แพทย์ เมื่อสังเกตเห็นความผิดปกติ เช่น อาการหอบ ขอแนะนำว่าเจ้าของควรมีปรอทวัดไข้สัตว์เลี้ยงไว้เก็บสักอัน จะช่วยได้มากโดยเฉพาะในช่วงหน้าร้อน เพราะจะรู้ได้ทันทีว่าอุณหภูมิร่างกายของสัตว์เลี้ยงเพิ่มสูงกว่าปกติ สามารถนำผ้าชุบน้ำเย็นมาเช็ดตัวให้ แต่จะไม่ใช้น้ำแข็งเย็นจัดมาราดตัวเด็ดขาด เพราะจะทำให้เส้นเลือดของสัตว์เลี้ยงจะหดตัว และกักเก็บความร้อนไว้ภายในร่างกาย เมื่อเช็คว่าอุณหภูมิร่างกายลดลงแล้ว ค่อยพาสัตว์เลี้ยงไปพบสัตว์แพทย์เพื่อทำการรักษาที่ถูกต้องต่อไป”

หมอเตเต้บอกว่า โรคที่มากับอากาศร้อนมีอยู่ 4 โรคหลัก ๆ ได้แก่ 1. โรคพิษสุนัขบ้า 2. โรคลมแดด หรือ ฮีทสโตรก 3. ไข้หวัด 4. พยาธิเม็ดเลือด ซึ่งมีพาหะนำโรคคือยุง ซึ่งยุงจะแพร่พันธุ์ได้รวดเร็วมากในช่วงหน้าร้อน หากสัตว์เลี้ยงไม่ได้รับการฉีดวัคซีนกระตุ้นสม่ำเสมอทุกปี จะมีโอกาสเสี่ยงเกิดโรคได้มากถึง 80 เปอร์เซ็นต์ เพราะสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากไวรัส ซึ่งสามารถป้องกันไวรัส ในเบื้องต้นด้วยการฉีดวัคซีน

ส่วนโรคพบบ่อยในหน้าฝนมี 5 โรคหลัก ๆ ได้แก่ 1. โรคฉี่หนู หรือ เลปโตสไปโรซิส (Leptospirosis) 2. โรคพยาธิหนอนหัวใจ 3. โรคพยาธิเม็ดเลือด ที่มีพาหะมาจากเห็บ 4. โรคทางระบบทางเดินหายใจ เช่น หวัด หลอดลมอักเสบ 5. โรคผิวหนังอย่างเชื้อรา

นอกจากนั้นหมอเตเต้แนะหลักการดูแลสัตว์เลี้ยงง่าย ๆ ดังนี้ 1. ให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม อากาศไม่ร้อนจัดหรือเย็นจัด 2. ระวังเรื่องการกินน้ำจากแหล่งสะสมเชื้อโรค เช่น แอ่งน้ำที่มีน้ำท่วมขัง 3. หมั่นกำจัดพาหะนำโรค อย่างพวกยุง หนู และเห็บ 4. ระวังเรื่องความเปียกชื้น เพราะถ้าขนของสัตว์ไม่แห้งสนิท จะทำให้เกิดเชื้อราที่ผิวหนังได้