“ตามสั่ง-ตามส่ง” สั่งอาหารในชุมชน ส่งโดยพี่วินแถวบ้านคุณ

ในสถานการณ์ที่เราต้องกักตัวอยู่ในบ้าน ลดความเสี่ยงที่จะติดโรคโควิด-19 แพลตฟอร์มบริการส่งอาหารเข้ามาเป็นตัวช่วยได้มากให้เราไม่ต้องออกจากบ้านไปซื้อหาอาหารเอง แต่ก็ต้องแลกกับราคาที่สูงกว่าที่ต้องจ่ายในภาวะปกติ เพราะบางแบรนด์คิดค่าส่งสูง และยังมีการเพิ่มราคาอาหาร เพื่อที่จะได้หักส่วนแบ่งจากราคาอาหารอีกด้วย


ขณะที่คนขับรถส่งอาหารเข้ามามีบทบาทในชีวิตของเรามากขึ้น หลายคนอาจไม่ได้นึกถึงคนกลุ่มหนึ่งที่เคยมีบทบาทเป็นที่พึ่งของเราเป็นประจำทุกวัน หรือสำหรับบางคนอาจจะเฉพาะในบางเวลาที่เร่งรีบ นั่นก็คือ คนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง หรือ “พี่วิน” ที่เสียลูกค้าและรายได้ไป เพราะคนส่วนมากไม่ได้ออกจากบ้านไปไหน

จากการที่ได้เห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นกับคนที่ประกอบอาชีพมอเตอร์ไซค์รับจ้าง เป็นตัวกระตุ้นให้กลุ่มนักวิจัยที่นำโดย นายอรรคณัฐ วันทนะสมบัติ นักวิจัยจากสถาบันเอเชียศึกษา และทีมจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกิดแนวคิดการหาทางผลักดันสร้างโอกาสและความมั่นคงทางอาชีพ-รายได้ให้กับวินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง

ประจวบเหมาะกับทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มีมาตรการเร่งด่วนให้งบฯวิจัยแก่นักวิจัยสำหรับหาทางออกยุคโควิด-19 ในการสร้างโอกาสและความมั่นคงให้กับบรรดาวินมอเตอร์ไซค์ และผู้ประกอบการร้านอาหารรายย่อย คณะนักวิจัยกลุ่มนี้จึงทำโครงการ “ตามสั่ง-ตามส่ง” ขึ้นมา

โครงการตามสั่ง-ตามส่ง เป็นอีกตัวเลือกหนึ่งของผู้บริโภคในยุคที่เราต้องการคนไปสั่งอาหารที่ร้านและนำมาส่งให้เรา ณ ที่ที่เราต้องการ โดยโครงการจะเป็นสื่อกลางรับบริการสั่งอาหารผ่านเว็บไซต์ www.ตามสั่ง-ตามส่ง.com และไลน์ออฟฟิเชียล @Tamsang-tamsong จากนั้นทางโครงการจะประสานสั่งอาหารกับทางร้าน และให้วินมอเตอร์ไซค์ไปรับอาหารที่ร้าน แล้วนำไปส่งอาหารตามที่อยู่ที่ผู้สั่งระบุ โดยที่โครงการไม่ได้คิดค่าบริการหรือส่วนแบ่งเปอร์เซ็นต์ใด ๆ วินมอเตอร์ไซค์รับจ้างและร้านอาหารจะได้รับไปเต็ม ๆ ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมให้แก่โครงการ

นายอรรคณัฐให้ข้อมูลขั้นตอนการทำงานหลังบ้านของโครงการนี้ว่า ทีมตามสั่ง-ตามส่งจะใช้วินมอเตอร์ไซค์เป็นศูนย์กลางในการรับส่งอาหาร ผู้โดยสาร และรับส่งของอื่น ๆ โดยใช้แพลตฟอร์มง่าย ๆ อย่าง Line รับ และแจ้งข้อมูลให้กับวินมอเตอร์ไซค์ ISharing ดูพิกัดของวินมอเตอร์ไซค์ และ Zello ซึ่งคล้ายกับวิทยุสื่อสารในการติดต่อระหว่างทีมโครงการและวินมอเตอร์ไซค์

ตอนนี้ “ตามสั่ง-ตามส่ง” ยังคงเป็นโครงการนำร่อง ซึ่งพื้นที่ที่ทีมวิจัยเลือกสำหรับโครงการนำร่องนี้ คือ พื้นที่ลาดพร้าว ซอย 101 ซึ่งหัวหน้าทีมวิจัยอธิบายว่า ที่เลือกย่านนี้เพราะกลุ่มวินมอเตอร์ไซค์ที่นำโดยนายเฉลิม ชั่งทองมะดัน นายกสมาคมผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์แห่งประเทศไทย มีความเหนียวแน่นและมีการจัดการที่ดี นอกจากนี้ พื้นที่ลาดพร้าว 101 มีชุมชนรายล้อมกว่าหลายสิบแห่ง และมีร้านอาหารในชุมชนที่โครงการสำรวจแล้วพบว่ามีมากกว่า 60 ร้าน

ถ้ามองในมุมของผู้บริโภค “ตามสั่ง-ตามส่ง” เป็นตัวเลือกที่น่าเลือกใช้บริการ เพราะคิดค่าบริการตามระยะทางจริง คล้ายกับการนั่งวินมอเตอร์ไซค์จากบ้านไปยังร้านอาหาร ส่วนพื้นที่นอกลาดพร้าว 101 จะเก็บค่าบริการตามระยะทาง
กิโลเมตรละ 10 บาท บวกกับอัตราบริการคงที่ตามระยะทางเริ่มที่ 2-5 กิโลเมตรแรก 20 บาท 5-10 กิโลเมตรต่อไปที่ 30 บาท ส่วน 10 กิโลเมตรขึ้นไปที่ 50 บาท ซึ่งเป็นค่าบริการที่คนขับมอเตอร์ไซค์ได้รับไปเต็ม ๆ โดยไม่มีการหักค่าธรรมเนียมและเบี้ยบ้ายรายทางอื่น ๆ ผู้บริโภคจะได้รับอาหารเต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะเมื่อไม่มีค่าธรรมเนียม ไม่ต้องโดนหักส่วนแบ่ง ร้านอาหารก็ไม่ต้องลดปริมาณอาหาร เพื่อให้สอดคล้องกับค่าอาหารที่ได้รับจริงหลังหักค่าธรรมเนียม

ทีมวิจัยจากจุฬาฯตั้งใจจะให้โครงการนี้เป็นโครงการที่มีชุมชนเป็นฐาน ที่ไม่ได้จำกัดแค่ลาดพร้าว 101 ซึ่งในอนาคตชุมชนอื่น ๆ อาจจะนำเอาไปประยุกต์ใช้ก็ย่อมได้ อรรคณัฐเล่าว่า ตอนนี้มีกลุ่มจากจังหวัดปัตตานี สมุทรปราการ และนนทบุรี แสดงความสนใจโมเดลโครงการนี้

ในมุมของวินมอเตอร์ไซค์ นายเฉลิม ชั่งทองมะดัน นายกสมาคมผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์แห่งประเทศไทย มองว่าเป็นโอกาสดีที่วินมอเตอร์ไซค์จะได้ทำงานร่วมกับชุมชน ยกระดับอาชีพให้มีช่องทางการหารายได้มากขึ้น มากกว่าการรับส่งผู้โดยสาร และการพึ่งพิงแอปพลิเคชั่นชื่อดังต่าง ๆมากกว่านั้นผู้ขับขี่วินมอเตอร์ไซค์บางคนเริ่มเปลี่ยนทัศนคติไปในทิศทางที่ดีขึ้น พร้อมปรับเปลี่ยนและเรียนรู้อะไรใหม่ ๆ จากโครงการนี้ อย่าง นายสมชาย โพธิ์ศิริ มองว่าโครงการนี้จะช่วยให้ตัวเขามีรายได้มากขึ้น ทำให้รู้จักร้านค้าในชุมชน และรู้จักพื้นลาดพร้าว 101 ดียิ่งขึ้น อีกทั้งยังพร้อมที่จะเรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ ๆ จากการเข้าร่วมโครงการนี้

ฝั่งจากร้านอาหารก็สะท้อนมุมมองแง่บวกต่อโครงการนี้ แม้ว่าบางร้านยังไม่ไว้วางใจวินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง เนื่องด้วยภาพลักษณ์ที่ไม่ค่อยดี แต่บรรดาผู้ประกอบการก็เชื่อว่าโครงการนี้ไม่เพียงแค่ช่วยร้านอาหารให้มีช่องทางเพิ่มขึ้น แต่จะช่วยให้วินมอเตอร์ไซค์เข้าใจการบริการมากขึ้น และมีระบบระเบียบมากขึ้น

โครงการตามสั่ง-ตามส่ง ดูเหมือนจะเป็นหนึ่งโมเดลทางเลือกที่หลายชุมชนสามารถนำไปปรับใช้ ให้โอกาสคนตัวเล็ก ๆ ได้มีที่ยืนในระบบเศรษฐกิจอันโหดร้าย

แต่อย่างไรก็ตาม โมเดลของโครงการนี้ก็ยังมีอุปสรรคซ่อนอยู่ นายอรรคณัฐมองว่า ความท้าทายอยู่ที่ว่าชุมชนจะสามารถนำไปต่อยอดได้มากเพียงใด ซึ่งการต่อยอดต้องเกิดจากชุมชนที่ไม่ใช่แค่กายภาพเท่านั้น แต่หมายถึงชุมชนที่ประกอบอาชีพเดียวกัน เช่น กลุ่มมอเตอร์ไซค์รับจ้าง เป็นต้น

เป็นโครงการบริการที่ดีทั้งกับทุกฝ่ายแบบนี้ ใครที่อยู่ย่านลาดพร้าว 101 หรือใกล้เคียง น่าจะลองเรียกใช้บริการกันดู ถ้าสนใจใช้บริการหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติม เข้าไปได้ที่ www.ตามสั่ง-ตามส่ง.com