วันศารทวิษุวัต เมื่อกลางวันยาวเท่ากลางคืน กับ 3 ปรากฏการณ์สำคัญ

รู้จักและปรากฏการณ์โลกจากการขึ้น-ตกของดวงอาทิตย์ วันศารทวิษุวัต วสันตวิษุวัต เหมายัน ครีษมายัน
Image by Arek Socha from Pixabay

ทำความรู้จัก วันศารทวิษุวัต วันที่กลางวันยาวนานเท่ากลางคืน และอีก 3 ปรากฏการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการขึ้น-ตกของดวงอาทิตย์

วันที่ 23 กันยายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้เป็นวันศารทวิษุวัต (Autumnal Equinox) เป็นวันที่ช่วงกลางวันและกลางคืนมีความยาวเท่ากัน โดยวันดังกล่าว ดวงอาทิตย์ขึ้นเวลาประมาณ 06.07 น. และจะตกลับขอบฟ้า เวลาประมาณ 18.13 น. (เวลา ณ กรุงเทพมหานคร)

ในทางดาราศาสตร์ จะมีช่วงที่ความยาวระหว่างกลางวันและกลางคืนเท่ากัน 2 ช่วง และมีอีก 2 ปรากฏการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการขึ้นและการตกของดวงอาทิตย์

“ประชาชาติธุรกิจ” ชวนเข้าใจปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์จากดวงอาทิตย์ไปด้วยกัน

การเกิดขึ้นของฤดูกาล

การขึ้นและการตกของดวงอาทิตย์ ไม่ได้เกี่ยวข้องแค่ช่วงเวลากลางวัน หรือกลางคืนเท่านั้น แต่ยังสัมพันธ์ไปถึงการเริ่มต้นของฤดูกาลต่าง ๆ ของโลกใบนี้

นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการและสื่อสารทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) ให้ข้อมูลว่า ในหนึ่งปี โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นวงรี โลกจึงมีระยะห่างจากดวงอาทิตย์ไม่เท่ากัน ช่วงใกล้ที่สุดประมาณต้นเดือนมกราคม (147 ล้านกิโลเมตร) และช่วงไกลที่สุดประมาณต้นเดือนกรกฎาคม (ระยะห่างเฉลี่ย 152 ล้านกิโลเมตร)

เมื่อเปรียบเทียบความแตกต่างของระยะทางใกล้-ไกล ในการโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ ถือเป็นอัตราส่วนที่น้อยมาก ไม่ส่งผลต่อการเกิดฤดูกาลแต่อย่างใด แต่การที่แกนหมุนของโลกเอียงทำมุม 23.5 องศากับแนวตั้งฉากกับระนาบวงโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ พื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลกจึงรับแสงอาทิตย์ได้ในปริมาณไม่เท่ากัน ส่งผลให้มีอุณหภูมิต่างกัน

รวมถึงมีระยะเวลากลางวันและกลางคืนที่ต่างกันด้วย เป็นเหตุให้เกิดฤดูกาลขึ้นบนโลก จะสังเกตได้ว่า ในฤดูร้อน เวลากลางวันจะยาวกว่ากลางคืน ดวงอาทิตย์จะขึ้นเร็วและตกช้า ส่วนในฤดูหนาว เวลากลางคืนจะยาวนานกว่ากลางวัน ดวงอาทิตย์จะขึ้นช้าและตกเร็ว

ศารทวิษุวัต (Autumnal Equinox)-วสันตวิษุวัต (Vernal Equinox)

วันศารทวิษุวัต (Autumnal Equinox) เป็นหนึ่งในวันที่ช่วงกลางวันและกลางคืนมีความยาวเท่ากัน โดยจะมี 2 ช่วงคือ วันศารทวิษุวัต เกิดขึ้นช่วงเริ่มต้นฤดูใบไม้ร่วง ประมาณเดือนกันยายน และวันวสันตวิษุวัต (Vernal Equinox) เกิดขึ้นช่วงฤดูใบไม้ผลิ ประมาณเดือนมีนาคม

สำหรับคำว่า Equinox ซึ่งอยู่ในคำภาษาอังกฤษ ของทั้ง 2 ปรากฏการณ์ มีรากศัพท์มาจากภาษาละติน 2 คำ คือ Aequus แปลว่า เท่ากัน และ Nox แปลว่า กลางคืน ดังนั้น Equinox หมายถึงวันที่กลางวันและกลางคืนยาวเท่ากัน ซึ่งตรงกับคำว่า “วิษุวัต” แปลว่า “จุดราตรีเสมอภาค” หรือดวงอาทิตย์อยู่ตรงกับเส้นศูนย์สูตรของโลก

นายศุภฤกษ์ให้ข้อมูลปรากฏการณ์ดังกล่าวไว้ว่า ในแต่ละวันดวงอาทิตย์จะปรากฏอยู่ตำแหน่งที่ต่างกัน เปลี่ยนตำแหน่งไปประมาณวันละ 1 องศา ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ดวงอาทิตย์ค่อย ๆ เคลื่อนที่จากจุดเหนือสุดลงมาทางใต้ เมื่อดวงอาทิตย์เคลื่อนมา ณ ตำแหน่งตั้งฉากกับเส้นศูนย์สูตรของโลก ทำให้ดวงอาทิตย์ขึ้นจากขอบฟ้าทางทิศตะวันออกและตกทางทิศตะวันตกพอดี

โดยวันศารทวิษุวัต จะนับเป็นวันที่ประเทศทางซีกโลกเหนือย่างเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง ส่วนประเทศซีกโลกใต้เข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ ขณะที่วันวสันตวิษุวัต จะนับเป็นวันที่ประเทศทางซีกโลกเหนือย่างเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ ส่วนซีกโลกใต้เข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง

เหมายัน (Winter Solstice)-ครีษมายัน (Summer Solstice)

อีก 2 ปรากฏการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการขึ้น-ตกของดวงอาทิตย์คือ วันเหมายัน (Winter Solstice) และวันครีษมายัน (Summer Solstice) ซึ่งเกิดขึ้นเพื่อเป็นสัญญาณของการเริ่มต้นฤดูร้อน และฤดูหนาวของแต่ละซีกโลก โดยคำว่า Solstice เป็นภาษาอินโดยูโรเปียน คำว่า Stice หมายถึง สถิต หรือ หยุด

วันเหมายัน หรือวันตะวันอ้อมข้าว ที่คนไทยมักเรียกกัน เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางใต้มากที่สุด และตกทางทิศตะวันตกเฉียงไปทางใต้มากที่สุด ส่งผลให้ช่วงเวลากลางวันสั้นที่สุด และกลางคืนยาวที่สุดในรอบปี โดยประเทศทางซีกโลกเหนือจะนับเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูหนาว ส่วนประเทศทางซีกโลกใต้ ช่วงกลางวันจะยาวที่สุดในรอบปี จะนับเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูร้อน

ส่วนวันครีษมายัน เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุด และตกทางทิศตะวันตกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุด ส่งผลให้ช่วงเวลากลางวันยาวที่สุดในรอบปี และช่วงกลางคืนสั้นที่สุดในรอบปี โดยประเทศทางซีกโลกเหนือจะนับเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูร้อน ส่วนประเทศทางซีกโลกใต้ช่วงกลางวันจะสั้นที่สุดในรอบปี จะนับเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูหนาว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง