อัพเดตดาวเทียมสำรวจโลก ไทยเตรียมส่งขึ้นโคจรเพิ่มอีก 2 ดวง

ดาวเทียม
ภาพจาก กสทช.

GISTDA อัพเดตจำนวนดาวเทียมสำรวจโลก ปี 2565 เผยไทยมีกำหนดส่งอีก 2 ดวง ในปี 2566 และกลางปีนี้

วันที่ 5 พฤษภาคม 2565 สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ระบุว่า นับตั้งแต่ช่วงปลายปี ค.ศ.1957 หรือ พ.ศ.2500 ที่มนุษยชาติรู้จักการส่งดาวเทียมออกนอกโลก ครั้งนั้นเป็นการส่งดาวเทียม Sputnik 1 และ 2 โดยสหภาพโซเวียตภายในปีเดียวกัน

ต่อมาต้นปี ค.ศ. 1958 ทางอเมริกาได้ส่ง Explorer-1 ขึ้นสู่ห้วงอวกาศตามไปติด ๆ หลังจากนั้นมนุษย์ก็ได้นำดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรอย่างต่อเนื่องทุกปี จนกระทั่งในปี พ.ศ.2563 และ 2564 คาดว่ามีดาวเทียมที่อยู่ในสถานะ active ที่กำลังโคจรรอบโลกประมาณ 3,291 ดวง และ 4,877 ดวง ตามลำดับ โดยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี

หากโฟกัสมาที่กลุ่มดาวเทียมสำรวจโลก (Earth Observation Satellite) โดยอ้างอิงจากฐานข้อมูลของ Union of Concerned Scientists (UCS) ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 ระบุว่า กลุ่มดาวเทียมสำรวจฯ จากทุกประเทศรวมกันที่กำลังโคจรในห้วงอวกาศและยังคงสามารถทำงานตามภารกิจได้ตามปกติมีจำนวน 1,052 ดวง เพิ่มขึ้น 8.34% จากเดือนเมษายน 2564 ที่ขณะนั้นมีดาวเทียมสำรวจฯ 971 ดวง นั่นหมายถึงการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเกือบ 10% ด้วยระยะเวลาเพียง 8 เดือน

ดาวเทียมสำรวจฯ จำนวน 1,052 ดวง แบ่งตามภารกิจหรือประเภทของเซนเซอร์ก็จะแบ่งได้เป็น

  • ดาวเทียมระบบออพติคัล (Optical Imaging) 426 ดวง
  • ดาวเทียมอุตุนิยมวิทยา (Meteorology) 170 ดวง
  • ดาวเทียมระบบ Electronic intelligence 113 ดวง
  • ดาวเทียมระบบเรดาร์ (Radar imaging) 90 ดวง
  • ดาวเทียมสำรวจโลก (ไม่ระบุรายละเอียด) 79 ดวง
  • ดาวเทียมเพื่อการศึกษา Earth Science 75 ดวง
  • ดาวเทียมระบบ Hyperspectral หรือ Multispectral 41 ดวง
  • ดาวเทียมระบบ Automatic Identification System (AIS) 19 ดวง
  • ดาวเทียมเพื่อจุดประสงค์อื่นๆ 17 ดวง
  • ดาวเทียมถ่ายภาพอินฟาเรด 12 ดวง
  • ดาวเทียมสำหรับถ่ายภาพเคลื่อนไหว 10 ดวง

สำหรับหน่วยงานที่เป็นเจ้าของดาวเทียม มีจำนวนทั้งหมด 219 หน่วยงานจากทั่วโลกที่มีการครอบครองดาวเทียมสำรวจฯ ในจำนวนที่แตกต่างกันไป แบ่งเป็น

  • 115 หน่วยงานที่ครอบครองดาวเทียม 1 ดวง
  • 41 หน่วยงานครอบครองดาวเทียม 2 ดวง
  • 12 หน่วยงานครอบครองดาวเทียม 3 ดวง
  • 9 หน่วยงานครอบครองดาวเทียม 4 ดวง

ที่เหลือเกือบ 55% ของดาวเทียวสำรวจฯทั้งหมด ครอบครองโดยกลุ่มหน่วยงานดังต่อไปนี้

  • Planet Labs Inc มี 188 ดวง
  • Spire Global Inc มี 119 ดวง
  • Chinese Ministry of National Defense มี 85 ดวง
  • America’s National Reconnaissance Office (NRO) มี 44 ดวง
  • Chang Guang Satellite Technology Co. Ltd. มี 29 ดวง
  • Russia’s Ministry of Defense มี 21 ดวง
  • Satellogic S.A. มี 20 ดวง
  • China National Academy of Sciences (CNSAS) มี 17 ดวง
  • Indian Space Research Organization (ISRO) มี 17 ดวง
  • BlackSky Global มี 12 ดวง
  • EUMETSAT (European Organization for the Exploitation of Meteorological Satellites) มี 12 ดวง
  • ICEYE Ltd. มี 12 ดวง

สำหรับประเทศไทย ด้วยโครงการระบบดาวเทียมสำรวจเพื่อการพัฒนาหรือธีออส-2 นอกจากจะเป็นการยกระดับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศเพื่อการพัฒนาในประเทศแล้ว ยังจะทำให้ประเทศไทยมีดาวเทียมสำรวจฯเพิ่มขึ้นอีก 2 ดวง ได้แก่ ดาวเทียมหลัก 1 ดวง มีกำหนดส่งขึ้นสู่วงโคจร พ.ศ.2566 และดาวเทียมดวงเล็ก (small satellite) อีก 1 ดวง ที่มีกำหนดส่งขึ้นสู่วงโคจรกลางปี 2565

อีกทั้งมีทีมวิศวกรไทยที่ได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ทางด้านอวกาศจากองค์กรต่างประเทศที่มีความเชี่ยวชาญ เพื่อเสริมสร้างกำลังคนไว้รองรับการพัฒนาด้านอวกาศ ทำให้อนาคตประเทศไทยสามารถต่อยอดและพัฒนาโครงการต่าง ๆ ด้านอวกาศได้ไม่ยากอีกต่อไป