ดาวเทียม GISTDA พบจุดความร้อนทะลุหลักพันจุด “เชียงใหม่” ครองแชมป์สูงสุด

เช็กราคาประเมินที่ดิน 3 อำเภอ

ดาวเทียม GISTDA พบจุดความร้อนทะลุหลักพันจุด “เชียงใหม่” ครองแชมป์สูงสุด ส่วนยอดสะสม 3 เดือนแรก ปี 2565 พบ ‘อีสาน’ มีจุดความร้อนเกือบ 8 พันจุด ด้านประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน “สหภาพเมียนมา” ครองแชมป์ สูงสุด 4,212 จุด

วันที่ 2 มีนาคม 2565 รายงานข่าวจากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA เปิดเผยข้อมูลจากดาวเทียมซูโอมิ เอ็นพีพี (Suomi NPP) ของระบบเวียร์ (VIIRS)
วันที่ 1 มีนาคม 2565 พบจุดความร้อนทั้งประเทศ 1,060 จุด เพิ่มขึ้นจากวันก่อน 318 จุด พบมากที่สุดในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 301 จุด พื้นที่ป่าอนุรักษ์ 254 จุด พื้นที่เกษตร 248 จุด พื้นที่เขต สปก. 146 จุด พื้นที่ชุมชนและอื่น ๆ 104 จุด และพื้นที่ริมทางหลวง 7 จุด

ส่วนจังหวัดที่พบจุดความร้อนมากสุด คือ เชียงใหม่ 110 จุด ลำปาง 92 จุด และชัยภูมิ 66 จุด

ซึ่งจากภาพแสดงให้เห็นว่าจุดความร้อนมีการกระจายตัวหนาแน่นขึ้นทั้งในและนอกประเทศ นำโดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคกลาง ส่วนเช้าวันนี้เวลา 09.00 น. คุณภาพอากาศปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ในระดับที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ประชาชนทั่วไปควรเฝ้าระวังเป็นพิเศษ

พร้อมกันนี้ GISTDA ได้รวบรวมข้อมูลจุดความร้อนตั้งแต่ 1 มกราคม-1 มีนาคม 2565 พบว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีจุดความร้อนแล้ว 7,912 จุด ตามด้วยภาคเหนือ 7,033 จุด และภาคกลาง 4,550 จุด ตามลำดับ

สำหรับจุดความร้อนของประเทศเพื่อนบ้าน อันดับที่หนึ่งคือ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา จำนวน 4,212 จุด รองลงมาอันดับ 2 เป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว จำนวน 2,479 จุด และอันดับที่ 3 เป็นราชอาณาจักรกัมพูชา จำนวน 1,743 จุด ตามลำดับ

ข้อมูลจุดความร้อนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในประเทศเพื่อนบ้านค่อนข้างน่าเป็นห่วง อาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพอากาศ PM 2.5 ในประเทศไทย เนื่องจากมีลมพัดฝุ่นละอองและหมอกควันเข้ามา ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เหล่านี้ดูแลสุขภาพ

ทั้งนี้ ปัญหาไฟป่าหมอกควัน ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงให้กับระบบต่าง ๆ ของประเทศมาโดยตลอด โดยเฉพาะระบบเศรษฐกิจ ระบบสังคม ดังนั้น ในอนาคตอันใกล้นี้ ประเทศไทยกำลังจะได้ใช้ระบบ THOES-2 อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่ง 1 ในภารกิจสำคัญของระบบนี้ คือการสำรวจ วิเคราะห์ และติดตามสถานการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นหรือคาดว่าจะเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงทีและแม่นยำ เพื่อการสนับสนุนข้อมูลสำคัญให้กับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำข้อมูลไปใช้วางแผน ป้องกัน บรรเทา และแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดมากยิ่งขึ้น