ทำไม “บุพเพสันนิวาส” ถึงเปรี้ยง! ไขรหัสกับ “ผู้เขียนบท-ผู้กำกับ” ที่หลายฉากเกือบไม่ได้ดูกันแล้ว

เรื่องโดย กรกนก มาอินทร์ / ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
เเม้ละครจะจบลงไปเเล้ว เเต่กระเเสความฮิตยังคงไม่เลือนหาย สำหรับละครโทรทัศน์แนวย้อนยุค อย่าง “บุพเพสินนิวาส” ที่เพิ่งฉายตอนจบไปเมื่อ 11 เมษายนที่ผ่านมา เรียกได้ว่าถนนทั่วเมืองกรุงโล่งผิดหูผิดตา จากการคาดเดาว่าเเฟนๆ คงรีบกลับไปดูสดให้ทัน

 

เหตุใดละคร “บุพเพสันนิวาส” จึงดังเปรี้ยงปร้างชนิดที่รายการช่องคู่เเข่งที่เคยมีคนดูสดจำนวนมากยังเรตติ้งตก ไม่รวมกระเเสท่องเที่ยวในสถานที่สำคัญตามรอยละคร คราคร่ำไปด้วยผู้คนสวมใส่ชุดไทยเดินกันหนาตา

คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จัดงานเสวนาวิชาการ “ไขรหัสลับ ละครบุพเพสันนิวาส” โดยคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ร่วมกับกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และกระทรวงวัฒนธรรม

โดยจะพาไปไขรหัสลับของละครบุพเพสันนิวาส นำทีมโดย “นางสาวศัลยา สุขะนิวัตติ์” ผู้เขียนบทละครบุพเพสันนิวาส ที่เล่าให้ฟังว่า เสน่ห์ของละครเรื่องนี้คือสนุก มีความลงตัวเพราะมีองค์รวมที่สมบูรณ์เริ่มต้นที่บทประพันธ์ที่ล้ำ ไม่เหมือนกับเรื่องอื่นๆ หลายเรื่องที่มีพล็อตเรื่องตัวเองที่ทะลุมิติ หวังจะเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ แต่เรื่องนี้นางเอกแม้ว่าจะรู้ประวัติศาสตร์ทั้งหมด แต่ไม่ได้ต้องการไปเปลี่ยนประวัติศาสตร์แต่อย่างใด

“ละครเรื่องนี้มีเสน่ห์ในตัวของมัน นับเป็นผลงานที่สมบูรณ์ มีองค์ประกอบต่างๆ ที่สอดคล้องเข้ากัน ตัวละครเกศสุรางค์ที่ย้อนกลับไปในอดีตนั้นเเม้ว่าจะรู้ว่าประวัติศาสตร์จะดำเนินไปอย่างไร เเต่ไม่ได้จะเปลี่ยนเเปลง” ผู้เขียนบทละครบุพเพสันนิวาส กล่าวเเละเล่าด้วยน้ำเสียงขบขันว่า

อย่างฉาก “กิ๊ก สุวัจนี” ตอนเเรกตนให้ตัดออก เเต่พอฉายออกไปกลับกลายเป็นไวรัลขนาดใหญ่ ก็เเปลกใจ โดยงานที่ทำกันนั้น ทีมงานถือว่าสำคัญ “เราบอกผู้กำกับไปเต็มร้อย เขาจะทำ 150 เเละทีมงานของเขาจะทำ 300 จะดูรายละเอียดทุกอย่าง ความงามของภาพ เเละต้องดึงคนดูให้ไปอยู่ตรงนั้นให้ได้”

สอดคล้องกับผู้กำกับที่ถูกเเซวว่า งานนี้มีดื้อกันบ้าง! อย่าง “นายภวัต พนังคศิริ” ผู้กำกับละครบุพเพสันนิวาส ที่เล่าถึงเสน่ห์ของละครบุพเพสันนิวาสให้ฟังว่า เเรกเริ่มตนอ่านเเล้วทำตัวเป็นคนอ่าน อ่านให้สนุก เเละเพิ่มความสนุกเข้าไป ส่วนเรื่องของภาษาต้องยอมรับว่ายาก เเต่นักเเสดงเขาเตรียมตัว ทำการบ้านมา ซึ่งทำได้ดี

การกำกับเรื่องนี้ “ภวัต” เล่าว่า ตนมองว่าตัวละครมันมีสูตร มีการเเนะนำ สร้างปม ดึงเรื่องจดถึงจุดไคลแม็กซ์ เเละคลายปมในตอนท้าย ทำให้คนดูรักหรือเกลียดตัวละคร ซึ่งมีการพัฒนาตัวละครทุกตัวให้ดูเเล้วเด่นหมด

“ฉากที่พระเพทราชาเเละสมเด็จพระนารายณ์มหาราชที่เถียงกันกลางท้องพระโรงนั้น ต้องมาดูจุดไคลเเม็กซ์ของฉากนั้นว่าอยู่ที่อารมณ์ ส่วนนางเอกการย้อนกลับไปในอดีตก็ต้องเอาชนะคนในยุคนั้น ทำให้เข้าถึงคนดู”

ส่วนความดื้อของผู้กำกับนั้น เขายอมรับเลยว่า ตนเป็นคนที่ดื้อ แต่เคารพบทประพันธ์เป็นสิ่งสำคัญ การหาข้อมูลให้มากที่สุดมากกว่าบทละคร โดยเฉพาะละครพีเรียด ต้องทำความเข้าใจ เพื่อจะทำให้ตัวหนังสืออกมาเป็นภาพให้คนดูเห็น โดยหลังจากคุยกับทีมงาน สิ่งที่ยากคือการตีความความรู้สึกและเป็นกลางที่สุดในฉากประวัติศาสตร์ โดยตนตั้งใจที่สร้างคาแร็กเตอร์ในตัวละคร ให้คนดูจำและสัมผัสกับเขาได้ ถึงแม้ว่าจะมานิดเดียว ตั้งใจเปิดตัวให้น่าดู บ่งบอกคาแร็กเตอร์ตัวละคร

โดย “นายชาคริต ดิเรกวัฒนชัย” หัวหน้าคณะทำงานสายกิจการองค์กรสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 เล่าว่า เสน่ห์ที่สำคัญของละครเรื่องนี้ คือการทำคอนเทนต์ที่มีคุณภาพ ทุกอย่างมันลงตัวให้ละครออกมาดี ต้องยอมรับเลยว่า ปัจจุบันการดูละครโทรทัศน์เเบบสดนั้นลดลง ผู้คนหันไปดูผ่านออนไลน์มากขึ้น

เเต่ละครบุพเพสันนิวาส มันมีหลายฉากที่เกิดกระเเสในโซเชียล อย่างฉาก กิ๊ก สุวัจนี ทำให้เกิดการะเกดร้อยมีม ซึ่งเเพร่หลายบนโลกออนไลน์ ทำให้เห็นว่าคนดูมีส่วนร่วมไปกับละคร

อย่างไรก็ตามละครโทรทัศน์จะดูเเล้วมีคุณภาพที่สุดต้องดูบนโทรทัศน์เท่านั้น

สำหรับละครเรื่องนี้มีกลยุทธ์ทั่วไป ละครที่ดีใช่ว่าจะมีคนดูเสมอไป ละครเรตติ้งดีใช่ว่าจะลงตัวสมบูรณ์เเบบ “บุพเพสันนิวาสมีความเชื่ออย่างหนึ่งคือ การเอาคนดูอยู่ ยอมรับเลยว่าตั้งเเต่มีทีวีดิจิทัลมา บุพเพสันนิวาสมีเรตติ้งสูงสุด”

เมื่อถาม ผู้เขียนบทละครบุพเพสันนิวาส ย้อนไปถึงการเเปลงภาษาจากนวนิยายมาเป็นบทโทรทัศน์ได้อย่างไรนั้น ได้รับคำตอบว่า เรื่องฉากประวัติศาสตร์ต่างๆ ที่ปรากฎนั้น มีอยู่ในนวนิยายเเทบทั้งหมด เเต่อยู่เเบบวรรคละ 1 คำ หรือมีในหน้านั้นเค่ 1 ตอน

อย่างฉากที่คลังสินค้าของอังกฤษถูกเผา ซึ่งในนวนิยายนั้นเขียนว่า พระเอก ขุนเรือง หลวงสรศักดิ์ เป็นคนไปเผา ตนต้องมาหาว่า เหตุใดพวกเขาถึงเผา เเละต้องค้นข้อมูลนานนับเดือน เพื่อหาข้อมูลว่าทำไมเขาถึงเผา เเล้วจริงๆ ใครเป็นคนเผา เเต่ในข้อมูลกับไม่บอกว่าใครเป็นคนเผา ตรงนี้ก็ต้องมาหาเหตุเเละผลรับให้ได้ในละคร

มีหลายเสียงโอดครวญถึงฉากจุดจบของตัวละคร ตรงนี้ส่วนตัวไม่อยากให้เห็น อยากเล่าผ่านตัวเกศสุรางค์ว่าใครมีจุดจบอย่างไรบ้าง

โดยยังแอบแซวถึงความดื้อของผู้กำกับ…

“ฉากถวายพระราชสาส์นให้สมเด็จพระนารายณ์มหาราช เดิมทีเราบอกว่าไม่ต้องมี เเต่มาวันนึง เขาส่งเทปที่ถ่ายเเล้วมาให้ดู จำได้ว่าตอนนั้นเกือบตีสองเเล้ว ก็ดูเเล้วตกใจว่ามีฉากนี้ด้วย เเต่พอดูจบ ยอมรับเลยว่าขนลุกเเละภูมิใจมาก” ผู้เขียนบทละครบุพเพสันนิวาส กล่าว

เปรียบได้ว่าการทำงานไม่ได้จบที่บทอย่างเดียว มันอยู่ที่หน้างาน เน้นความเป็นทีมเวิร์ค

ส่วนคำถามที่ว่า ละครจะโกอินเตอร์หรือไม่นั้น นางสาวศัลยา เล่าว่า ส่วนตัวไม่ได้สนใจเรื่องนี้ ตนทำละครให้คนไทยดู การโกอินเตอร์ถือเป็นผลพลอยได้ มันจะตอบเเทนสิ่งที่เราทำได้ “คิดทุกครั้งว่าให้คิดถึงคนดูส่วนใหญ่ของเรา เงินที่ได้คือคนดูเป็นคนจ่าย เราต้องตอบเเทนเขา ทำอะไรดีๆ ให้เขาดู”

ปรากฎการณ์บุพเพสันนิวาสไม่ได้มีเพียงตัวเลขเรตติ้งที่พุ่งทะยานขึ้นทุกตอนเท่านั้น เมืองท่องเที่ยวตามรอยละครยังคึกคักหนาเเน่นไปด้วยนักท่องเที่ยวที่สวมชุดไทยเที่ยวกันอย่างหนาเเน่น ยังไม่รวมรายย่อยอย่างพ่อค้า เเม่ค้าที่ขายชุดไทยต่างๆ ที่ยอดพุ่ง คนเเห่จองชุดไทยข้ามเดือนกันเลยทีเดียว

ข้ามฟากมาที่ นายนิมิตร พิพิธกุล ผู้ทรงคุณวุฒิด้านศิลปวัฒนธรรม ที่อธิบายในมุมมองของคนทำสื่อว่า บุพเพสันนิวาสได้ปฏิรูปละครไทยก็ว่าได้ สามารถทำให้คนเสพติดการสร้างปม เพราะละครมาในเเนวขัดเเย้ง ตัวละครมีการเเก้ไขความขัดเเย้ง โดยไม่ทำลายเเละอยู่ร่วมกันได้

ผลพลอยได้ทำให้คนดูหันมาอ่านสื่อ มาพร้อมอารมณ์เเละ เหตุผล การวิเคราะห์ อย่างการเลือกยุคสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ถือว่ามีความสร้างสรรค์ เพราะตอนนั้นอยุธยารุ่งเรือง บ้านเมืองสวยงาม มองไปทางไหนก็งดงามยิ่งนัก

โดยรศ. นฤมล ปิ่นโต หัวหน้ากลุ่มวิชาวิทยุเเละโทรทัศน์ คณะวารสารศาสตร์เเละสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายว่า บุพเพสันนิวาส มีความหลากหลาย ละครเรื่องนี้เปิดพื้นที่ประวัติศาสตร์ เเละมีการเปิดพื้นที่คอมเมดี้

อย่างเรื่องความโรเเมนติก ฉากในละครเเม้จะเนิบๆ เเต่มีความกรุ้มกริ่ม ส่วนเรื่องคอมเมดี้ มันมาจากความน่ารักของละคร การใช้รีเเอคชั่นเข้ามาช่วยเสริม ให้คนดูรู้สึกเเละสนุกไปกับละคร ในส่วนของภาษาได้สะท้อนบุคลิกตัวละครต่างๆ

หากถามว่าทำไมละครเรื่องนี้ถึงสนุก! รศ. นฤมล เล่าว่า มีทฤษฎีอยู่ 3 องค์ คือ ปูพื้น ฝ่าฟัน เเละคลี่คลาย รวมถึงเรื่องเพลงของละครเรื่องนี้สอดรับทุกตัวละครทั้งชายเเละหญิง ทั้งยังเข้าถึงคนรุ่นใหม่อีกด้วย

เรียกได้ว่าเเม้ละครจะลาจอไปเเล้ว เเต่พระ-นาง รวมถึงตัวละครต่างๆ ฮอตจนจับตัวได้ยาก อีเวนต์ต่างเเย่งชิงตัวกันจ้าละหวั่น ไม่เพียงเเค่ความสำเร็จของละคร หากเเต่ตัวละครทุกตัวที่เเม้จะปรากฎออกมาเพียงเวลาสั้นๆ เเต่ก็ดึงใจคนดู โดดเด่นไม่เเพ้พระ-นาง เเต่อย่างใด

เรียกได้ว่า “บุพเพสันนิวาส” ตีโจทย์ทุกอย่างหมดเเล้วจริงๆ

 

 

 

คลิปจาก Youtube: Ch3Thailand