อลวนบุหรี่ไฟฟ้า : จากมายาคติสุขภาพ สู่เม็ดเงินมหาศาลหลังควันยาสูบ

จาก “ใบยาสูบ” ที่โด่งดังมาจากชนเผ่าอินเดียแดง ทวีปอเมริกา ข้ามน้ำข้ามทะเลมาถึงไทยเมื่อสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น กับหลักฐานทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการสูบใบยาสูบของผู้คนในสังคมทั่วไปไม่เฉพาะแต่ชาวบ้านหรือชาววัง จนมาถึงยาสูบมวนขาว-น้ำตาล หรือที่รู้จักในชื่อ “บุหรี่” นั้น

เสรีภาพของการสูบก็เปิดกว้างมากในระดับหนึ่ง แม้จะมีการควบคุมการสูบหลายๆ ประการ ไม่ว่าจะเป็นการจำกัดการเข้าถึงของเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 20 ปี การกำหนดพื้นที่ห้ามสูบ เช่น สถานที่ราชการ ตลอดจนการห้ามนำเข้าบุหรี่จากต่างประเทศเกินคนละ 1 คอตตอน (หรือ 200 มวน)

แต่ไรมา “ยาสูบ” ถูกให้ภาพเป็นสิ่งอันตรายต่อสุขภาพ ทั้งสำหรับผู้สูบและบุคคลรอบข้าง จึงมีการรณรงค์ลด ละ เลิก ยาสูบ/บุหรี่ เป็นระยะๆ แต่ถึงจะรู้ทั้งรู้ว่าบุหรี่ให้โทษต่อร่างกาย แล้วจะทำอย่างไรในเมื่อยังเลิกไม่ได้? หรือแม้กระทั่งไม่ได้ต้องการจะเลิกบุหรี่ด้วยซ้ำ?

จนเมื่อ “บุหรี่ไฟฟ้า” ถือกำเนิดขึ้นและเริ่มเป็นที่นิยมในหมู่คนไทย แต่กลับกลายเป็นว่า รัฐบาลประกาศเป็นสินค้าต้องห้ามซะงั้น! “ประชาชาติธุรกิจ” พาเปิดเปิดเส้นทางอลวนของ “บุหรี่ไฟฟ้า” ในไทย ที่ ณ วันนี้ก็ยังถือเป็นสิ่งของผิดกฎหมาย มีโทษร้ายแรง (ขนาดที่ว่าแรงกว่ายาเสพติดอย่างกัญชา) อีกทั้งเป็นวาระร้อนบนหน้าสื่อมานานนับหลายปี ได้รับทั้งก้อนหินและดอกไม้ แต่ในไทยดูเหมือนจะเป็นก้อนหินก้อนยักษ์ที่ถูกขว้างมาจากฝ่ายรัฐบาลเสียมากกว่า!

บุหรี่ไฟฟ้า : ทางเลือกใหม่ “นิโคติน”

ย้อนกลับไปประมาณ 10 ปี บุหรี่ไฟฟ้าถือกำเนิดขึ้นในประเทศจีนโดย “Hon Lik” ชายวัยกลางคนผู้เสพติดการสูบบุหรี่ขนาดหนัก เช้า-สาย-บ่าย-เย็น หรือหากมีเวลาเล็กๆ น้อยๆ ก็ต้องหลบอัดควันเข้าปอดสักหน่อย พฤติกรรมเช่นนี้ไม่ต่างจาก 6 ใน 10 ของชายชาวจีนทั่วไปในประเทศ รวมถึงพ่อของเขาด้วย

มีพฤติกรรมอย่างไร ผลย่อมไม่หนีจากกัน…วันหนึ่งพ่อของเขาซึ่งเสพนิโคตินมาตลอดชีวิตเสียชีวิตจากโรคมะเร็งปอด Hon Lik ในวัย 52 ปีตระหนักได้ในผลของการเป็นสิงห์อมควัน การปฏิวัติพฤติกรรมและแรงผลักดันสู่การคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ในฐานะเภสัชกรจึงเริ่มขึ้น กลายมาเป็นสิ่งประดิษฐ์ประหลาดที่มีชื่อว่า “บุหรี่ไฟฟ้า” (Electronic cigarette) นวัตกรรมการส่งผ่านนิโคตินเข้าสู่ร่างกายโดยไม่จำเป็นต้องมีการจุดไฟเผาบุหรี่

“แบตเตอรี่ลิเธียม”, “นิโคตินเหลว”, “ตัวสร้างควัน” และ “ไฟแอลอีดี” คือ 4 ส่วนประกอบสำคัญของบุหรี่ไฟฟ้า โดยรูปลักษณ์ทั่วไปของบุหรี่ไฟฟ้ามีทั้งแบบที่คล้ายกับบุหรี่จริงและรูปแบบประยุกต์ที่ไม่เหมือนกับบุหรี่

เปิดสารพัดงานวิจัยสุขภาพ

ในขณะที่การต่อสู้เรื่องความปลอดภัยระหว่าง ‘บุหรี่ไฟฟ้าเทียบกับบุหรี่มวนปกติ’ ดำเนินมาหลายปี ทว่ายังไม่มีข้อสรุปฟันธงอย่างชัดเจนได้ว่า ปลอดภัยจริงหรือไม่และปลอดภัยขนาดไหน? แต่สิ่งหนี่งที่เห็นท่ามกลางสนามต่อสู้คือ “งานวิจัย” ที่เป็นข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ถูกนำมาฟาดฟันกันอย่างมากมาย บ้างก็ว่าบุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัยกว่า แต่บ้างก็ว่าบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายไม่ต่างกัน!

กระทรวงสาธารณสุขอังกฤษจัดทำรายงานเรื่อง E-cigarettes: an evidence update ระบุว่า ผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายน้อกว่าบุหรี่ทั่วไป ส่งผลกระทบด้านสุขภาพน้อยกว่าบุหรี่ทั่วไปร้อยละ 95 พร้อมทั้งสนับสนุนให้ผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าเนื่องจากมีหลักฐานผู้เลิกบุหรี่ได้ในกลุ่มผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าในอัตราที่สูง เช่นเดียวกับรายงานเรื่อง Nicotine without smoke: Tabacco harm reduction เมื่อเดือนเมษายน 2559 ที่จัดทำโดยราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ประเทศอังกฤษ

รายงานผลวิจัยระยะยาวโดยสถาบันมะเร็งของอังกฤษในวารสารการแพทย์ Annals of Internal Medicine เดือนมีนาคม 2560 ระบุว่า ผู้ที่เลิกสูบบุหรี่แบบธรรมดาเปลี่ยนมาสูบบุหรี่ไฟฟ้ามีระดับสารพิษในร่างกายและสารก่อมะเร็งต่ำกว่าผู้ที่สูบแบบมวนอย่างต่อเนื่องโดยไม่เปลี่ยน

ด้านรายงานการศึกษา “ผลกระทบต่อสุขภาพของบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์หรือบุหรี่ไฟฟ้า” เมื่อเดือนมกราคม 2561 โดยสถาบันวิชาการแห่งชาติด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และการแพทย์ (NASEM) ร่วมกับองค์การอาหารและยาของประเทศสหรัฐอเมริกา (US FDA) ที่ระบุ บุหรี่ไฟฟ้าและไอระเหยประกอบด้วยฝุ่นละอองขนาดเล็กมาก และมีสารนิโคตินและสารพิษอื่นอีกจำนวนมากที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย เช่น ฟอร์มัลดีไฮด์ และอะโครลีน โดยไอระเหยสามารถทำลายดีเอ็นเอและทำให้เกิดการกลายพันธุ์ได้ โดยเฉพาะการสูดดมไอระเหยจากบุหรี่ไฟฟ้าเป็นเวลานานเสี่ยงต่อโรคมะเร็ง และเป็นอันตรายต่อระบบสืบพันธุ์ และในระยะยาวสามารถนำไปสู่การเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด

บุหรี่ไฟฟ้าในนานาประเทศ

ข้อมูลจาก Institute for Global Tabacco Control ระบุว่า หลายประเทศทั่วโลกมีการให้ฐานะของ บุหรี่ไฟฟ้า ทั้งการเป็นผลิตภัณฑ์ยาสูบ ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ สินค้าอุปโภคบริโภค ระบบส่งสารนิโคตินอิเล็กทรอนิกส์ หรือแม้กระทั่งสารพิษ

15 ประเทศทั่วโลกจัดอยู่ในหมวดยาสูบผลิตภัณฑ์ยาสูบ อาทิ ออสเตรเลีย แคนาดา อังกฤษ ฝรั่งเศส เกาหลี, 59 ประเทศจัดอยู่ในหมวดบุหรี่ไฟฟ้า อาทิ อาร์เจนตินา ออสเตรีย บาห์เรน อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี ซาอุดิอาระเบีย อาหรับ ไทย, 23 ประเทศจัดอยู่ในหมวดยาและผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ อาทิ ออสเตรีย เบลเยี่ยม แคนาดา อังกฤษ ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ ไทย, 43 ประเทศทั่วโลกที่ออกกฎระเบียบควบคุม เช่น การจำกัดอายุผู้เข้าถึง เงื่อนไขการโฆษณา ในฐานะผลิตภัณฑ์ยาสูบ อาทิ ออสเตรีย บราซิล อังกฤษ บรูไน เกาหลี สิงคโปร์ เวียดนาม เป็นต้น ทั้งนี้ 4 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย เบลเยี่ยม มาเลเซีย และบรูไน จัดนิโคตินในฐานะสารพิษหากมีความเข้มข้นสูงกว่าร้อยละ 7.5

อังกฤษ เป็นหนึ่งในประเทศที่รัฐบาลให้ความเชื่อมั่นกับบุหรี่ไฟฟ้าว่ามีส่วนช่วยในการเลิกบุหรี่ธรรมดาได้จริง โดยส่งเสริมด้านข้อมูลของบุหรี่ไฟฟ้าในฐานะตัวช่วยเลิกบุหรี่ ตอบสนองกับการตั้งเป้าลดผู้สูบร้อยละ 15.5 ให้เหลือ 12 ภายในปี 2565

เช่นเดียวกับ นิวซีแลนด์กระทรวงสาธารณสุขออกประกาศให้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นทางเลือกสำหรับการรับนิโคติน เพื่อให้ไปถึงเป้าหมายประเทศปลอดควันภายในปี 2568 อย่างไรก็ตามสาระสำคัญของแถลงคือการแนะนำให้ผู้คนเลิกสูบบุหรี่อย่างถาวร

บุหรี่ไฟฟ้าในสายตารัฐบาลไทย

มองย้อนกลับมาถึงท่าทีของรัฐบาลและกฎหมายที่มีอยู่ บุหรี่ไฟฟ้ายังคงไม่ได้รับการยอมรับในไทยเมื่อเทียบกับประเทศอังกฤษหรือนิวซีแลนด์ รวมถึงในหลายประเทศในแถบยุโรป

ประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้บารากู่บารากู่ไฟฟ้า และบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ.2557 โดยระบุว่า เพื่อป้องกันมิให้มีการนำสินค้าดังกล่าวไปใช้อันก่อให้เกิดปัญหาทางด้านสุขภาพ สุขอนามัย สังคม ความมั่นคงของประเทศ และความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน

ส่วนคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ฉบับที่9/2558 เรื่อง ห้ามขายหรือห้ามให้บริการสินค้า “บารากู่ บารากู่ไฟฟ้า หรือบุหรี่ไฟฟ้า หรือตัวยาบารากู่ น้ำยาสำหรับเติมบารากู่ไฟฟ้า หรือบุหรี่ไฟฟ้า” โดยระบุว่า จากการทดสอบพบสารที่เป็นอันตรายต่อร่างกายหลายชนิด ทั้งยังพบโลหะหนักที่เป็นสารก่อมะเร็ง เป็นสินค้าที่มีอันตรายต่อผู้บริโภค จึงกำหนดให้ห้ามขาย พร้อมกำหนดบทลงโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สำหรับผู้ประกอบธุรกิจ และมีโทษไม่จำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สำหรับผู้ผลิตเพื่อขายและผู้สั่งหรือนำเข้ามาเพื่อขาย

เมื่อบุหรี่ไฟฟ้าถูกให้นิยามว่าอันตราย เป็นของต้องห้ามในไทย การลงโทษด้วยการโทษปรับและจำคุกจึงมีให้พบเห็นตามสื่อโดยทั่วไป แต่เป็นที่น่าสงสัยว่า…รุนแรงเกินความเหมาะสมหรือไม่?

เสียงจากตัวแทนผู้ใช้ เครือข่ายลาขาดควันยาสูบ กับการจับเข่าคุยที่ยังไร้ข้อสรุป

แม้รัฐบาลไทยจะยังไม่เห็นด้วยกันการเปิดเสรีบุหรี่ไฟฟ้าในไทย แต่ผู้สูบบุหรี่บางส่วนที่เปลี่ยนมาทดลองใช้บุหรี่ไฟฟ้าและบอกเล่าว่า “รู้สึกสุขภาพแย่น้อยลง” กลายมาเป็นหนึ่งในเครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า “กลุ่มลาขาดควันยาสูบ” (ECST: Ends Cigerette Smoke Thailand) รวมตัวกันเพื่อเคลื่อนไหวให้มีการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าอย่างถูกกฎหมายมาตลอด 2 ปี ด้วยการร้องเรียน ทำหนังสือขอเข้าพบเพื่อชี้แจงข้อมูล รณรงค์ผ่านแคมเปญล่ารายชื่อ(https://bit.ly/2GaJR7T) กระทั่งได้มีการร่วมประชุมของหลายภาคส่วนทั้งภาครัฐและประชาชนเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา

“มาริษ กรัณยวัฒน์” ตัวแทนเครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า กล่าวว่า ในการประชุมโดยกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ รับเป็นเจ้าภาพการประชุม ทบทวนมาตรการนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า มีหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องมากมาย เช่น กระทรวงสาธารณสุข กรมสรรพสามิต สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หอการค้าไทย และเครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าเข้าร่วมให้ข้อมูลนั้น ถือเป็นครั้งแรกที่่มีการพิจารณามาตรการบุหรี่ไฟฟ้าของประเทศไทยที่มีการรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะภาคประชาชนและผู้ใช้จริง

ข้อสรุปของการประชุมเมื่อวานคือยังไม่มีข้อสรุป มาริษ กล่าวและเล่าต่อว่า “ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนของแต่ละหน่วยงานว่าจะอย่างไร จะตั้งคณะกรรมการเพื่อให้ศึกษาเรื่องนี้ร่วมกันก็ยังไม่ชัดเจนว่าใครจะขึ้นมาเป็นเจ้าภาพ”

“กฎหมาย พ.ร.บ.ยาสูบ ไม่ได้ออกโดยคนที่สูบบุหรี่ จะไม่มีทางรู้ว่าคนที่ไม่ได้สูบบุหรี่พอใจหรือไม่พอใจ เรามักไม่ค่อยเห็นกฎหมายที่ออกโดยผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง ซึ่งผมยืนยันว่าผมในฐานะผู้บริโภค 100 % เป็นระยะเวลา 7-8 ปี ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการนำเข้า การจำหน่าย หรือการผลิต เราคือผู้ได้รับผลกระทบสูงสุดโดยตรง ทั้งในด้านสุขภาพ การถูกรีดไถทั้งทางตรงและทางอ้อมผ่านกฎหมาย เราจึงพยายามทุกวิถีทางให้ได้เข้าไปนั่งให้ความเห็นที่ได้รับการยอมรับ”

ตัวแทนเครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า ระบุว่า ได้เสนอให้รัฐใช้การ์ดระบุตัวตนสำหรับการซื้อขายบุหรี่ไฟฟ้า โดยไม่อ้างอิงกับใบอนุญาตการพกพาบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อเป็นการควบคุมการซื้อในเยาวชนตามที่ทั้งรัฐและเครือข่ายกังวล

“อยากให้รัฐคิดอย่างเป็นกลาง เราจะเอาบุหรี่ไฟฟ้าขึ้นมาอยู่บนดินได้อย่างไร เราเห็นด้วยว่าไม่อยากให้บุหรี่ไฟฟ้าไปอยู่ในมือคนที่ผิด อยากคุยกันให้เป็นกิจจะลักษณะ เพราะประโยชน์ทั้งหมดนี้อยู่ที่ประเทศ อยู่ที่ผู้บริโภค” มาริษ กล่าว

หลังควันยาสูบ คือเงินมหาศาล

เบื้องหลังตลาดยาสูบทั้งหมดทั้งมวล คงจะละเลยที่จะไม่กล่าวถึง “เม็ดเงิน” อันมหาศาลในภาคธุรกิจไม่ได้ รวมถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับตลาดยาสูบ ไม่ว่าจะเป็นผู้ใช้ ผู้ขาย และที่ขาดไม่ได้คือ ผู้ได้รับผลประโยชน์จากการเก็บอัตราภาษีอย่าง “สสส.”

สสส. หรือกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หน่วยงานรัฐผู้มีหน้าที่ผลักดัน กระตุ้น ส่งเสริมให้เกิดการขับเคลื่อนด้านสุขภาพ ก่อตั้งตามพระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ.2544 โดยได้รับเงินทุนหลักมาจากภาษีที่รัฐจัดเก็บจากผู้ผลิตและนำเข้าสุราและยาสูบในอัตราร้อยละ 2 ของภาษีที่ต้องชำระ ซึ่ง สสส. บริหารจัดการเงินดังกล่าวมูลค่าหลักพันล้านให้แก่มูลนิธิ องค์กรต่างๆ เช่น มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สถาบันอาศรมศิลป์ เป็นต้น ปัจจุบัน สสส. มีแผนการดำเนินงาน 15 เรื่อง เช่น แผนการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสิ่งเสพติด แผนควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ แผนควบคุมยาสูบ เป็นต้น

ข้อมูลสำนักแผนภาษีระบุเป้าหมายรายได้ภาษีสรรพสามิตแยกตามประเภทสินค้า ประจำปีงบประมาณ 2561 ตั้งแต่เดือนต.ค. 2560 ถึงเดือน ก.ย. 2561 ว่า สำหรับยาสูบคือ 68,100 ล้านบาท, เบียร์ 96,000 ล้านบาท, เหล้า 64,500 ล้านบาท เทียบกับปีงบประมาณ 2560 ตั้งแต่เดือนต.ค. 2559 ถึงเดือน ก.ย. 2560 ยาสูบอยู่ที่ 78,800 ล้านบาท, เบียร์ 86,000 ล้านบาท, เหล้า 65,500 ล้านบาท ตามลำดับ

ข้อมูลสถิติปริมาณยาสูบที่ผลิตและเสียภาษี ในปี 2560 ระบุ ปริมาณบุหรี่ที่จำหน่าย จำนวน 1,951 ล้านซอง ลดลงจากปี 2557 (2,004 ล้านซอง) ส่วนแบ่งการตลาดของบุหรี่โรงงานยาสูบ จากเดิมปี 2559 อยู่ที่ร้อนละ 77 ลดลงเหลือน้อยกว่าร้อยละ 70 ภายหลัง พ.ร.บ.สรรพสามิตร ปี 2560 ประกาศใช้ และข้อมูลปี 2560 พบว่า ผู้สูบบุหรี่มีค่าใช้จ่ายในการซื้อผลิตภัณฑ์ยาสูบเฉลี่ยต่อเดือนเท่ากับ 546 บาท

ท้ายที่สุดแล้ว หากรัฐบาลเห็นชอบให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกต้องตามกฎหมายไทย อาจจะทำให้ผู้สูบหน้าเก่าหันไปหาบุหรี่ไฟฟ้ามากขึ้นจนมีผลต่อส่วนแบ่งตลาดยาสูบที่อาจจะเปลี่ยนไป ด้วยเพราะบุหรี่ไฟฟ้ามาเบียดบุหรี่ ซึ่งผลประโยชน์จากการเก็บภาษีก็คงจะลดลงตามสัดส่วน

เว้นเสียแต่ว่า รัฐบาลจะดึงบุหรี่ไฟฟ้าเข้าระบบอย่างจริงจัง วางฐานะให้อยู่เช่นเดียวกับบุหรี่มวน เช่นนี้แล้ว แม้ส่วนแบ่งตลาดยาสูบจะเปลี่ยนไป แต่ผลประโยชน์สุดท้ายที่วกกลับมาหา กองทุนและมูลนิธิต่างๆ ซึ่งได้รับ “ภาษีบาป” ดังกล่าว

วาระบุหรี่ไฟฟ้า จึงไม่ใช่ความอลวนอลหม่านแค่ปมปัญหา “สุขภาพ” แต่ยังเป็นปมปัญหาเรื่อง “เงินๆ ทองๆ” ที่แต่ละปีต่างมีมูลค่ามหาศาล จึงยังต้องติดตามกันต่อไป!