คุยกับ “ตั๋วร้อน ป๊อปคอร์นชีส” ว่าด้วยวิบากกรรมคนทำเพจ และทางรอดของอุตสาหกรรมหนังไทย

เรื่อง : ธรรมธวัช ศรีสุข

 

“เพจรีวิวหนัง” ได้เข้ามาสร้างอิทธิพล และมีผลต่อพฤติกรรมการตัดสินใจดูหนังของคนบนโซเชียลอย่างมาก ซึ่งแต่ละเพจมีคาแรกเตอร์ สไตล์การรีวิว และมาตรฐานที่แตกต่างกัน นัยหนึ่ง นี่คือปรากฏการณ์ การเปลี่ยนผ่านจากยุควิจารณ์หนังผ่านคอลัมน์นิตยสาร-หนังสือพิมพ์ โดยนักวิจารณ์ มาสู่แอดมินเพจ และบล็อกเกอร์ที่ใครก็สามารถเป็นคนรีวิวหนังได้ แต่ไอ้คำว่า “ใครก็รีวิวได้” กลายเป็นดาบสองคม ทั้งมุมบวกที่ผู้เสพคอนเทนต์มีทางเลือกเยอะ แต่กลับกัน คุณภาพก็สวนทาง ไร้มาตรฐาน และด้วยจำนวนที่เยอะ จึงมีการแข่งขันเรียกเรทติ้ง ชิงส่วนแบ่งทางโฆษณา จนเกิดวัฒนธรรม ค่านิยมมากมายในแวดวงการทำเพจ ไปจนถึงพฤติกรรมคนดูหนัง

จากประเด็นดังกล่าว เราได้นัดคุยกับแฟนเพจฝีปากร้าย กวนตีน ที่เคลมตัวเองว่าเป็นเพจอันดับหนึ่งในจักรวาล “ตั๋วร้อน ป๊อปคอร์นชีส” ที่มีภาพจำเป็นอวตารรูปลุงแซมมวล แอล. แจ็คสัน และสไตล์การรีวิวที่โคตรจะ Mother Fucker ตรงไปตรงมา กล้าสับหนังที่ไม่ชอบ และแทบจะไม่ง้อค่ายหนังใดๆ ทั้งสิ้น (ในตอนแรก) เรานัดกันที่ร้านลาบแห่งหนึ่งย่านรามอินทรา ในบทสนทนาที่ว่าด้วยการเปลี่ยนผ่านจากวิจารณ์ สู่เพจรีวิวหนัง วิบากกรรมของคนทำเพจ และอนาคตทางรอดของหนังไทย

โดยระหว่างจกข้าวเหนียวจิ้มตำปูปลาร้าอย่างออกรส เราจั่วหัวถึงประเด็นความต่างระหว่าง บทวิจารณ์ และการรีวิว เหตุเพราะการมาของบรรดาเพจหนัง ได้กลืนกินเอางานบทวิจารณ์ของอาจารย์หลายๆ คนหายไป ได้รับการพูดถึงน้อยลง เหลือเพียงแฟนเฉพาะกลุ่มเท่านั้น ที่ยังตามงานวิจารณ์อยู่ ซึ่งมันสะท้อนถึงพฤติกรรมคนอ่านที่เปลี่ยนไปในยุคนี้

จริงๆ การวิจารณ์กับรีวิวมีส่วนคล้ายกัน ตั๋วร้อนเกริ่น

“แต่การวิจารณ์มีแง่มุมที่ลุ่มลึกกว่า บางงานมีหลักวิชาการมาอ้างอิง จากอาจารย์ นักวิชาการ มีเนื้อหาสาระ ศัพท์แสงที่สูง กลุ่มคนทั่วไปอาจเข้าไม่ถึง ที่เมืองนอก งานนักวิจารณ์หนังจะอยู่ในวงกว้าง ซึ่งไม่ใช่กับประเทศไทย ที่เป็นเฉพาะกลุ่มมากกว่า แต่กับรีวิวหนังบนแฟนเพจ หรือบล็อก เต็มไปด้วยภาษาพูดที่เรียงร้อยมา เข้าใจง่าย แค่เล่าในสิ่งที่เรารู้สึกและเข้าใจ ซึ่งคนไทยต้องการอะไรที่ซึมซับ หรือเสพง่ายอยู่แล้ว มันก็สะท้อนว่าคนไทยชอบอะไรง่ายๆ”

จากประเด็นดังกล่าว เพจอันดับหนึ่งแห่งจักรวาลมองว่า แม้เพจหนังจะเกิดขึ้นมากมาย แต่ยังไร้ความน่าเชื่อถือ งานจากนักวิจารณ์จึงยังมีคุณค่า จำเป็นต่อสังคม และสมควรถูกยกย่องมากกว่านี้

“งานชิ้นหนึ่งควรให้อะไรกับคนอ่านมากกว่าความคิดเห็นทั่วไป แต่เพจรีวิวส่วนใหญ่ฉาบฉวย ความน่าเชื่อถือน้อย แม้กระทั่งตั๋วร้อนฯเองก็มีความฉาบฉวย ในฐานะคนทำเพจเอง เรายังติดตามงานเขียนของนักวิจารณ์อยู่ อย่างอาจารย์ประวิทย์ แต่งอักษร และอีกหลายคน สมควรถูกยกย่องมากกว่าที่ควรจะเป็นด้วยซ้ำ เฉกเช่นเดียวกับนักวิจารณ์ต่างประเทศ ซึ่งนักวิจารณ์จะมีความน่าเชื่อถือ มีไม้บรรทัดที่เป็นมาตรฐาน ตัวงานสามารถต่อยอดไปให้นักศึกษาภาพยนตร์ วารสารศาสตร์ ได้ศึกษา มองว่างานเขียนนักวิจารณ์จึงมีความทรงคุณค่ามาก

พฤติกรรมคนดูที่เปลี่ยนไป การตัดสินใจดูหนังจากกระแสบวกบนเพจ ปรากฏการที่เกิดขึ้น สามารถฆ่าหนังเรื่องหนึ่งให้ตาย หรือต่อลมหายใจให้หนังได้ เช่นกระแสหนังซอมบี้ One Cut Of The Dead ตัวอย่างหนังเล็กๆ ที่เข้ามาประสบความสำเร็จในบ้านเราจากกระแสปากต่อปาก และทุกเพจช่วยกันเชียร์ ประเด็นนี้ ตั๋วร้อนฯมองว่า เป็นมาตรฐานที่มันเกิดขึ้นในไทยเท่านั้น

มันเป็นมาตรฐานเฉพาะในไทยมากกว่า ที่เพจหนัง หรือการรีวิวมีผลต่อทิศทางการประสบความสำเร็จของหนังเรื่องหนึ่ง อย่างที่บ้านเค้า(ประเทศญี่ปุ่น) หนังมันดัง ประสบความสำเร็จเพราะดีจริง และคนสนับสนุนอยู่แล้ว เค้าเปิดโอกาสให้หนังตัวเองมาก องค์ประกอบสำคัญอย่าง โควต้าการฉายในโรง แต่พอค่ายซื้อมาฉายในไทยฟอร์มมันเล็ก แทบไม่มีคนรู้จักและอยู่ในสายตาใคร การบอกปากต่อปาก หรือกระแสจากการรีวิวจึงเป็นการออกแรงช่วยเชียร์หนังที่มันดีจริงๆ แต่ก็ไม่ 100% อีกปัจจัยก็คือการบิ๊วด์คอนเทนต์ของเพจโรงหนัง ที่รวบกระแสรีวิวจากเพจเอาไปขยี้ต่อ ที่สมัยนี้สำคัญมากๆ ที่จะดันหนังสักเรื่องให้คนมาดู

สิบเต็มสิบ! ปังมาก! วาทกรรมบนโลกโซเชียล กับพฤติกรรมคนดูหนังในปัจจุบัน และการปรับตัวของเพจตั๋วร้อนฯ

“สิบเต็มสิบ ปังมาก มันคือคำรวบรัดตัดตอน … เมื่อก่อนยอมรับว่าแอนตี้คำพวกนี้ ทุกวันนี้ก็ยังรู้สึกว่าฉาบฉวย แต่มันง่ายต่อการสื่อสาร เปิดมาเจอรูปไวรัล หนังสิบเต็มสิบ ปังมาก หนังที่ดีที่สุด คนมันรับรู้แล้วว่าหนังเรื่องนี้น่าสนใจ น่าดู โดยไม่ต้องอ่านเนื้อหาอะไรเลย มันอิมแพ็คต่อคนที่ไม่มีเวลามาอ่านอะไรยาวๆ สำหรับบางคน การตัดสินใจไปดูหนังมันแค่นี้จริงๆ แต่หลายคนก็ไปหลงเชื่อกับรสนิยมคนอื่นจนกลายเป็นบรรทัดฐานว่าต้องดี ต้องสนุก แค่พอไปดูเองแล้วผิดหวัง คุณไปเชื่อเค้าเอง วาทกรรมเหล่านี้มันทำให้ความคิดคนมักง่าย

แต่นิสัยคนไทยบางกลุ่มคือ ยาวเป็นพรืด เรื่องจริงจัง จะไม่อ่านกัน ทั้งที่บทความ รีวิวยาวๆ จะมีสาระสำคัญซ่อนอยู่ ส่วนตั๋วร้อนฯ ทุกวันนี้ก็ยังคงตัวตนอยู่ แต่ปรับเปลี่ยนให้แมส เมื่อก่อนไม่มีให้คะแนน เราเคยตั้งใจปั้นคอนเทนต์ดีๆ แต่คนไม่อ่าน ไม่ซึมซับ มันน่าเสียดาย เลยเจอกันครึ่งทางแม่งเลย ทำรูปโคว้ทคำพูดสั้นๆ ใส่คะแนน แล้วเขียนยาวๆ ก็มีทางเลือกให้ทั้งสองกลุ่ม เราปรับตัวโดยไม่ทิ้งตัวตนเดิม”

มีการเปรียบเปรยว่า ฟุตบอลเหมือนศาสนา มีอิทธิพลต่อชีวิต มีความคลั่งไคล้ ในวงการหนังก็เช่นกัน ที่บางครั้งการชื่นชอบผู้กำกับ เชียร์ค่ายหนังที่ชอบ ก็นำมาสู่ความเห็นต่าง 

“มันมีความคล้ายกัน สำหรับแฟนเดนตาย เหมือนคุณคลั่งฟุตบอลไง” ตั๋วร้อนฯเปรียบเทียบ

“แต่หนังเราสามารถสามารถแตะต้อง วิจารณ์ได้ แต่ศาสนามันแตะต้องไม่ได้ (หัวเราะ) อย่างค่ายมาร์เวล คนที่ไม่ใช่ติ่งก็ด่าได้ ติ่งมาร์เวลเองก็สามารถด่าหนังค่ายโปรดได้เหมือนกัน หรือสาวกผู้กำกับต่างๆ มันมีทั้งที่ชอบและไม่ชอบสไตล์ แต่สุดท้ายเราสามารถแตะต้อง วิจารณ์ได้ เพราะมันคือหนัง เรื่องแต่ง เป็นจินตนาการ แต่ควรอยู่ในกรอบการพูดคุยที่พอดีไม่ขัดแย้งกัน”

หนึ่งในข้อครหาที่คนทำเพจโดนกันมากที่สุด คือการรับเงินจากค่ายหนังแล้วอวย จนมีการตั้งคำถามว่า ควาเป็นกลางอยู่ตรงไหน เพราะหากสปอนเซอร์เข้า เพจจะไม่กล้าด่าหนัง? ประเด็นนี้ตั๋วร้อนฯเล่าถึงหลักการทำงานให้ฟังว่า แนวทางการว่าจ้าง ไม่ได้กำหนดให้ชมหนัง แต่เป็นการพูดถึง โปรโมทหนังเท่านั้น

“หลักการจ้างเพจ เค้าจะเน้นการโปรโมทให้เป็นกระแส ลงคลิปตัวอย่างหนัง ข่าวความเคลื่อนไหว ไม่ได้สนใจรีวิวว่าเขียนบวกหรือลบ ไม่ได้บอกว่าคุณต้องอวยหนัง ให้คะแนนสิบเต็มสิบไม่มีหรอก การอวยหรือด่าหนังเป็นสิ่งที่เค้าทำกันเอง โหมกระแสกันไปเอง เพื่อให้ได้เรทติ้ง ได้ยอดไลก์ บางครั้งทำกันจนเป็นบรรทัดฐาน การเสพติด ซึ่งมันส่งผลกระทบต่อเพจอื่น คือกลายเป็นว่า เราให้ต่ำกว่า 7 ก็ไม่ได้ หัวร้อนโดนเข้ามาด่า ถ้าตั๋วร้อนฯให้ Avengers: Infinity War 6.5 โดนด่ายับ ทั้งๆ ที่มันคือคะแนนมาตรฐานของหนังที่ดูสนุกโดยไม่ต้องคิดอะไร นี่คือหนังฮีโร่ ไม่ใช่หนังรางวัล หรือหนัง Martin Scorsese ที่มันมีแก่นสารมากกว่า

ในส่วนของตั๋วร้อนฯ สปอนเซอร์จะรู้อยู่แล้ว ว่าตัวตนของแต่ละเพจเป็นยังไง จ้างแล้วงานจะออกมาสไตล์ไหน เค้าถึงเลือกเรา แต่อาจจะมีข้อจำกัดว่า ขอไม่มีคำหยาบ ซึ่งมันมีผลต่อการบูสต์โพสต์ แต่คอนเทนต์ที่เราลงโฆษณา ก็ใช่ว่าจะมีคนชอบ ยอดไลก์ต่ำ คนก็คอยแซะว่ามึงรับเงินเค้ามา นอกจากคนที่ชอบจริงๆ ให้กำลังใจว่ามีโฆษณาเข้ามาเพื่อปากท้อง คงเป็นเวรกรรมที่เราสร้างไว้แหละ เราเคยทำเพจแบบเพียวๆ ไปชี้หน้าคนอื่นว่ารับโฆษณา ตอนนี้เลยลดอัตตา ลดความบ้าตรงนั้นลง เพื่อที่จะดำรงอาชีพทำเพจได้นั่นแหละ”

หนังฮีโร่ค่ายดัง หนังไทยค่ายใหญ่ เป็นคอนเทนต์เรียกเรทติ้ง แต่อีกทางหนึ่งคือนิสัยเสียของคนทำเพจ

“มันเหมือนค่านิยม ยอมรับว่านี่คือนิสัยเสียของคนทำเพจ เห็นหนังฮีโร่มาร์เวล ดีซี หนัง GDH เอาละ เตรียมเรียกเรทติ้งด้วยการให้คะแนนเยอะๆ เข้าไว้ เพื่อเรียกกระแสให้เพจตัวเอง เพราะสามค่ายดังกล่าวมันมีฐานแฟนคลับเยอะในบ้านเรา หนังใหญ่ให้คะแนนเยอะ ดูเป็นผู้มีรสนิยม แต่พอเราพูดตามความรู้สึก มุมมองของเราจริงๆ รีวิวออกมาตรงกันข้าม คะแนนไม่สูง ไม่อวย กลายเป็นถูกด่า และไม่ยอมรับความเห็นกัน อย่างหนังไทย Friend Zone ที่กระแสดีมาก เราไม่กล้าลงรีวิว เพราะทุกเพจเทคะแนนให้หมด ทั้งที่ในมุมเรา หนังเหมือนโฆษณาไทร์อินขนาดยาว พฤติกรรมนางเอกเราก็ไม่ชอบ แต่คนดูรักตัวละครนี้ เรารู้สึกแบบนั้นจริงๆ ไม่ชอบก็บอกไม่ชอบ แต่พอเราชอบไม่เหมือนคนอื่นแล้วโดนด่าบ่อยๆ บอกเราดูหนังไม่เป็น ไล่ให้เราไปทำหนังเอง ก็เลยไม่ลงแม่ง การก้าวก่ายรสนิยมคนอื่นมันไม่ใช่แล้ว”

การทำเพจ ก็คือการสร้างพื้นที่สังคมหนึ่งขึ้นมา มีฟีดแบ็ก มีการแสดงความเห็น แต่หลายครั้งมีการล้ำเส้น ระบายอารมณ์ พูดจา Cyber Bully ลามมาจนถึงตัวตน รูปลักษณ์ ของคนทำเพจ “หัวล้าน” น่าจะเป็นคีย์เวิร์ดที่เราเห็นบ่อยในเพจ ตั๋วร้อนฯพูดถึงการรับมือและอยู่กับคำพูดเหล่านั้นอย่างไม่แยเสว่า

“ผมแข็งแกร่งเพราะโดนเหยียดมาตั้งแต่เด็ก”

“ทางกายภาพของผมมันไม่สมบูรณ์ มันเลยชิน แค่นี้สบายมาก เค้าด่าเราในที่สาธารณะ คนกี่หมื่นกี่แสนเห็นคอมเมนต์ ไม่ใช่เราที่เสีย แต่เค้าเองที่พ่นคำพูดเหยียดๆ ออกมา ส่วนตัวผมเองเป็นอย่างนี้ตั้งแต่เกิด พูดไม่ชัด หน้าตาบิดเบี้ยว จริงๆ อยากพิมพ์ตอบทุกคนเลยนะ มึงพิมพ์มาไม่อายคนอื่นหรอ ขณะที่อยู่หน้าคีย์บอร์ดด่าคนอื่น กูทำเพจรับงาน อาจจะมีชีวิตที่ดีกว่าก็ได้ เราไม่ติดใจ แต่จะรับไม่ได้ถ้ามาดูถูกในสิ่งที่เราทำ งานเขียนเรา มึงไม่มีความรู้เลย หรือเอาไปเปรียบเทียบกับเพจอื่นๆ ทั้งที่เราก็ทำดีที่สุดแล้ว”

ขณะที่แวดวงเพจรีวิวหนัง มีคนกระโดดลงมาทำมากมาย การแข่งขันก็สูงมากขึ้น ตั๋วร้อนเล่าวิธีการเอาตัวรอดของคนทำเพจว่า 

“อาชีพทำเพจรายได้เยอะ อยู่ที่ว่าใครจะรักษาคุณภาพ ภาพลักษณ์ แบรนด์ของเพจได้ แม้มันต้องเฉือนความเป็นตัวเองออกไปเยอะแบบครึ่งต่อครึ่ง แต่กับเรื่องรีวิวหนังเรายังเป็นตัวเอง 100% คือคอนเทนต์อื่นๆ เราก็ต้องทำเพื่อให้เพจมันไปได้ กีฬา อาหารการกิน รีวิวสินค้าเข้ามา นั่นคือเราปรับตัวให้อยู่รอด ทำเพจให้วาไรตี้ขึ้น รับกับความต้องการของคนเสพ ต้องบาลานซ์ให้เราไม่เสียแฟนๆ ที่ตามรีวิวหนัง อันนี้ไม่ค่อยแคร์ เพราะคนที่ตามเรา คือเค้าเชื่อในตั๋วร้อนฯ ทุกวันนี้ตั๋วร้อนฯยอดไลก์ค่อนข้างน้อย กลายเป็นเพจดราม่าไปแล้ว ถ้าแชร์ หรือเขียนขยี้กระแสดราม่า ยอดจะดีมาก จริงๆ เราไม่อยากทำนะ แต่มันคือทางรอด ต้องปรับตัวให้ทันโลก ซึ่งไอ้มุขคอนเทนต์หนังตามกระแสดราม่าสังคม เราทำมาก่อนเพจเมเจอร์ฯอีก แต่เราได้รับความนิยมน้อยกว่า เพราะคนไม่คาดคิดว่าเพจระดับเมเจอร์จะทำแบบนี้ แต่เราทำอยู่แล้ว ทำจนเป็นเรื่องปกติ เหมือนเอาดาราระดับนางเอกมาเล่นเป็นกะหรี่ มันดูพลิกบทบาท แต่คนที่เล่นบทนี้ หรือบทแรงๆ มาตลอด คนติดภาพลักษณ์ ก็ดูไม่แปลกอะไร”

นอกจากพาร์ทการทำเพจรีวิวหนัง อีกหนึ่งผลงานสร้างชื่อ ตั๋วร้อนฯ คือไปได้ร่วมแสดงหนังจีนฟอร์มใหญ่อย่าง Operation Mekong ในบทตัวประกอบ จนปูทางมาสู่บทบาทในหนังไทย จอมขมังเวทย์ 2020 

“เหมือนเราได้พิสูจน์ตัวเองไปในตัว ว่าจะทำได้มั้ย หนังต่างประเทศเรื่องแรกที่เล่น ไม่คิดว่าจะได้ แค่ลองไปแคสติ้งดูเฉยๆ พอไปคลุกคลีอยู่ในโปรดักชั่น เห็นการทำงานกองถ่ายหลายๆ ฝ่าย เออ … สร้างหนังเรื่องหนึ่งมันไม่ง่ายนะ กว่าจะได้แต่ละซีน เราเลยเรียนรู้ และลดมาตรฐานลงบ้าง เข้าใจมากขึ้น หนังแต่ละเรื่องมันไม่สามารถมาให้คะแนนศูนย์เต็มสิบได้ สองเต็มสิบงี้ นอกจากหนังมันจะเหี้ยจริงๆ อย่างหนึ่งคือ เราตั้งเป้าว่า หลังจากเล่นหนังเรื่องแรก เราเปิดตัวมาตลอดว่าเป็นใคร ก็มีหนังเข้ามาตลอดที่คาแรกเตอร์ใกล้ๆ เรา จนได้เข้ามาสู่หนังไทย ได้เล่นหนังที่สตูดิโอใหญ่ขึ้น เราถือว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง เพราะเราเขียนด่าดารามาเยอะ พอต้องมาแสดงเอง มาให้คนอื่นด่ามั่ง แต่ก็เป็นข้อพิสูจน์ เราวิจารณ์การแสดง วิจารณ์หนังคนอื่นมาเยอะ ก็ต้องแสดงให้ได้”

หนึ่งในประเด็นที่ถูกพูดถึงอย่างมากในตอนนี้ คือประเด็นทางรอดของอุตสาหกรรมหนังไทย ที่หนังคุณภาพ หนังดีๆ ที่ฟอร์มเล็ก กลับไม่มีพื้นที่ให้ฉาย และแรงสนับสนุนมากนัก ทั้งที่ตัวหนังมีศักยภาพพอที่จะไปสู่ต่างประเทศ ประเด็นนี้ตั๋วร้อนฯได้มองปัญหาว่า รัฐบาล ควรมีส่วนเข้ามาสนับสนุนให้มากขึ้น และโรงหนังเองควรจะชะลอหนังฮอลลีวูด และให้พื้นที่กับหนังไทยฟอร์มเล็กบ้าง

“หนังไทยตอนนี้ขึ้นกับโรงฉาย โรงฉายไม่เอ็นจอยกับหนังไทยเท่าที่ควร ไม่มีโควต้า ไม่มีระยะเวลา ถ้าหนังมีแววว่าจะไม่ทำรายได้ ก็ถูกตัดรอบ-โรงฉายทันที หรือฟอร์มเล็กก็ให้โรงน้อย แต่ก็ต้องเข้าใจโรงหนังด้วย เพราะหนังไทยทุกวันนี้มันสะเปะสะปะ มีหนังที่พยายามจะถูกหวย ทำมาแบบฉาบฉวย มันมองเห็นแต่แรกแล้วว่าไม่มีทางแน่นอน โรงหนังก็ประเมินออก คนดูยังมองเห็น ทำไมโรงหนังจะไม่เห็นล่ะ

ต้องถกกันให้มากขึ้น การสนับสนุนหนังไทยจากภาครัฐ ไม่ใช่แค่ออกทุน มันคือการเข้าไปขอความร่วมมือกับทางโรงหนัง ให้โอกาสหนังไทยหน่อย คือระบบฉายในไทยมันแล้วแต่ค่ายจะซื้อหนังมา เข้ากันสัปดาห์ต่อสัปดาห์ มันทำให้หนังไทยดีๆ ไม่มีที่ยืน หนังไทยดีๆ หมายถึงหนังที่ให้สาระ เป็นงานศิลปะ ที่ไม่ได้หวังผลทางการตลาด ภาครัฐควรเข้ามาสนับสนุน เอาใจใส่เรื่องโควต้า การชะลอหนังต่างประเทศ ทุกวันนี้หนังฮอลลีวูดฉายเร็ว บางเรื่องฉายก่อนอเมริกาด้วยซ้ำ มันดีสำหรับคนที่เสพหนังตลาด แต่อย่าลืมว่า ด้วยวัฒนธรรมของไทย หนังไทยมันไม่เหมือนต่างชาติ มันเป็นอัตลักษณ์ เสน่ห์เฉพาะที่สร้างมาเพื่อคนไทย แต่กลับไม่มีโรงฉาย ไม่มีพื้นที่จะนำเสนอ หนังไทยบางเรื่องมีคุณค่ามากๆ แต่ไม่มีคนไทยเหลียวแล ได้ไปเมืองคานส์ ฝรั่งยกย่องความสามารถผู้กำกับ ปรบมือให้หนังด้วยซ้ำ แต่ในบ้านเรากลับไม่มีคนรู้จัก น่าเศร้านะ ที่หนังไทย ทำเพื่อคนไทย แต่ไม่มีคนดู

ค่าตั๋ว 140-200 บาท ความคุ้มค่า คนไปมองว่าหนังต่างประเทศดีกว่า ทำไมอุตสาหกรรมเกาหลีถึงไปไกล คนเขียนบทหนังเกาหลีเขียนเรื่องหนึ่งอยู่ได้เป็นปีๆ เพราะมีการซัพพอร์ต ชะลอหนังต่างประเทศ เพื่อให้หนังเกาหลีได้ฉายไปก่อน ภาครัฐควรเล็งเห็นได้แล้วว่า อุตสาหกรรมหนังไทยมันไปได้ บุคลากรไทยเก่งๆ เยอะจะตาย ไปทำงานฮอลลีวูดหลายคน หรือล่าสุดมีสตูดิโอไทยที่ไปทำซาวด์ให้หนังต่างประเทศ จนได้เข้าชิงรางวัลที่ฮ่องกง สตันท์แมนไทยเองก็เก่งมาก เจ็บตัว เสี่ยงตาย แต่รายได้แค่พันสองพัน ฝรั่งเค้าเห็นความสำคัญและฝีมือ เอาไปเล่นหนัง ค่าตัวสูงๆ แต่คนไทยเราไม่เห็นความสำคัญ หนังเพื่อนบ้านเราเริ่มจะไปไกลแล้ว อินโด กัมพูชา พม่า ทำได้ไม่แพ้เรา มีนักแสดงบางคนโกอินเตอร์ไปแล้ว การสนับสนุนดี อย่างพม่า มีผู้กำกับไทยไปทำหนังที่นั่น เพราะอยู่ที่เมืองไทยไม่สามารถขอทุนสร้างได้ ขอความสนับสนุนจากรัฐก็ไม่ได้ จนต้องไปทำหนังพม่า ซึ่งออกมาโคตรดี อย่างเรื่อง ถึงคนไม่คิดถึง คนไทยด้วยกันเองมองไม่เห็น แต่ต่างชาติเค้ามองเห็นฝีมือ ความสามารถ ทุกวันนี้ต่างชาติเข้ามา ก็แค่ใช้สตันท์แมน โลเคชั่น สถานที่ วัดวาอาราม สถานเริงรมย์ ทั้งที่ไทยมีดีมากกว่านี้อีก”

ก่อนสุดท้าย ตั๋วร้อนจะทิ้งท้ายถึงหนังหนังไทยบางกลุ่ม ที่ยังไทยไม่ก้าวข้ามหนังสูตร ผี ตลก กะเทย

“เพราะมันขายได้ ย้อนกลับมาที่ตัวผู้บริโภค คุณอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง แต่เวลามีหนังไทยคุณภาพออกมา แต่คุณไม่ดู ไม่สนับสนุนกัน ก็ยังเห็นหนังผี ตลก กะเทย ทำรายได้หลายสิบล้าน ก็แสดงว่าคนดูชอบแบบนี้ เค้าถึงยังสร้างออกมาเรื่อยๆ ถ้าหนังอย่างมะลิลาทำรายได้ 100 ล้าน คนก็จะรู้สึกว่ามันควรดู คือคนไทยชอบแบบนี้ จะมาเรียกร้องอะไร”