ฟื้นประเทศด้วย “ท่องเที่ยว” เติบโตแบบ “ทั่วถึง-สมดุล-ยั่งยืน”

พิพัฒน์ รัชกิจประการ

วิกฤตเศรษฐกิจโลกจากการแพร่ระบาดของโควิด สงครามรัสเซีย-ยูเครน ปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ และภูมิเศรษฐศาสตร์ รวมถึงภาวะเงินเฟ้อที่พีกสูงสุดในหลายประเทศทั่วโลก ก่อตัวเป็นมหาพายุเศรษฐกิจ หรือ Perfect Storm นี้ ภาคการท่องเที่ยวของไทยจะฝ่าวิกฤตนี้อย่างไร

“พิพัฒน์ รัชกิจประการ” รัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “ท่องเที่ยวไทยท้าชน PERFECT STORM” ในงานสัมมนา “ท้าชน Perfect Storm ทางรอดเศรษฐกิจไทย” เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา ไว้ดังนี้

“ท่องเที่ยว” ผ่านพายุลูกใหญ่

“พิพัฒน์” บอกว่า วิกฤตเศรษฐกิจโลกที่กำลังเกิดขึ้นนี้ ยังไม่สามารถคาดเดาได้ว่า “มหาพายุเศรษฐกิจ” นี้จะจบอย่างไร แต่หากใครได้ดูหนัง Perfect Storm พวกเราชาวอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเหมือนชาวเรือ แม้พายุจะน่ากลัวแค่ไหนก็จะไม่ถอย พร้อมเตรียมการทุกรูปแบบ และท้าชนเพื่อให้พายุผ่านไปเจอฟ้าใหม่ที่สดใสกว่า

“ในวันนี้เรือของเราแล่นผ่านพายุลูกใหญ่มาแล้ว ตอนนี้กำลังแล่นไปสู่ท้องฟ้าที่สดใส และรับวิตามินจากแสงแดดเพื่อชีวิตที่ยั่งยืน”

เปิดประเทศเต็มรูปแบบ

“พิพัฒน์” บอกอีกว่า การขับเคลื่อนภาคการท่องเที่ยวหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ถือว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง UNWTO จัดอันดับการฟื้นตัวทางการท่องเที่ยวของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก โดยประเทศไทยเป็นอันดับ 1 ด้านจำนวนการจองห้องพัก และเป็นอันดับ 2 ด้านความเชื่อมั่นนักท่องเที่ยว จาก 10 อันดับประเทศท่องเที่ยวโลก

ความนิยมและความเชื่อมั่นดังกล่าวนี้ล้วนเป็นผลจากการที่ประเทศไทยมีแผนการเปิดประเทศอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เช่น การเปิดประเทศผ่านมาตรการต่าง ๆ อย่างภูเก็ตแซนด์บอกซ์ ไปจนกระทั่งการยกเลิก Thailand Pass และเปิดประเทศเต็มรูปแบบ

รวมถึงการเปิดพรมแดนต้อนรับเพื่อนบ้าน นโยบายสนับสนุนจากรัฐบาล โดยเฉพาะเรื่องวีซ่า การทำการตลาดเชิงรุกของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)

ปี’65 นักท่องเที่ยว 10 ล้านคน

โดยจำนวนนักท่องเที่ยวสะสมตั้งแต่ 1 มกราคม-24 กันยายน 2565 มีจำนวนรวมกว่า 5.4 ล้านคน สร้างรายได้แล้วกว่า 2 แสนล้านบาท และคาดการณ์ว่าในปี 2565 นี้ประเทศไทยจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวไม่น้อยกว่า 10 ล้านคน ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนถึงการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวอย่างชัดเจนและต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และตอบโจทย์นโยบาย “ฟื้นประเทศด้วยท่องเที่ยว”

“พิพัฒน์” บอกด้วยว่า สำหรับแนวทางการฟื้นประเทศด้วยท่องเที่ยวนั้น จะไม่ได้มุ่งเน้นเพียงแค่ในเรื่องของ “รายได้” เท่านั้น แต่มุ่งใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือในการฟื้นทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายเศรษฐกิจ BCG

เปิดแผน 180 วันฟื้นท่องเที่ยว

กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ได้ทำแผนปฏิบัติการ 180 วัน ฟื้นประเทศด้วยท่องเที่ยว เพื่อ Boost การท่องเที่ยวช่วงปลายปีให้ไปสู่เป้าหมาย ควบคู่ไปกับการฟื้นฟูการท่องเที่ยวอย่างมีความรับผิดชอบ และปรับโครงสร้างภาคการผลิตเพื่อให้เติบโตอย่างมีส่วนร่วมและยั่งยืน

โดยมีทั้งโครงการในระดับพื้นที่ที่เลือกดำเนินการให้เหมาะสมตามภูมิรัฐศาสตร์ ภูมิเศรษศาสตร์ และอัตลักษณ์พื้นที่ และที่เป็นนโยบายภาพใหญ่ พร้อมยกตัวอย่างโครงการระดับพื้นที่

เช่น 1.EEC การท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดี (ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด) ประกอบด้วยการท่องเที่ยวเชิงธุรกิจและการพักผ่อน (Bleisure) การท่องเที่ยวเชิงอุตสาหกรรม (Industrial Tourism) การท่องเที่ยวกลุ่มเรือสำราญ (Cruise Terminal/Cruise Terminal Complex) การท่องเที่ยวเชิงสัมมนา(MICE) และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการแพทย์ (Medical & Wellness)

2.ไทยแลนด์ริเวียร่า Health Retreat & Resort of the Word (เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ระนอง ชุมพร) ประกอบด้วยการท่องเที่ยวทางรถไฟและรถยนต์ (Real Rail & Road Trip) เป็นการท่องเที่ยวที่ทำให้เข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวได้ สร้างการกระจายรายได้สู่พื้นที่อย่างแท้จริง ส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยรถยนต์แบบคาร์บอนต่ำ โดยมุ่งพัฒนาจุดพักรถที่ให้บริการชาร์จไฟรถยนต์แบบด่วน และจุดจำหน่ายอาหาร สินค้า และบริการของชุมชน

และ Blue & Green Destination ชูความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งป่า เขา ทะเล และแหล่งน้ำพุร้อน เป็นที่พักผ่อนเพื่อสุขภาพชั้นนำของโลก (Health Retreat & Resort of the Word) สำหรับชาวไทยและชาวต่างชาติ

3.ดินแดนแห่งศรัทธา วัฒนธรรม และความหลายทางชีวภาพ (สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี) ประกอบด้วย การเชื่อมต่อ Rail & Road Trip จากไทยแลนด์ริเวียร่า เพื่อเป็น Entry and Exit Point, พื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนทะเลสาบสงขลา, การท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับชาวมุสลิม (Muslim Friendly Destination), ปัตตานี ดีโค้ด และ Smart Border Check Point

และ 4.อันดามัน Go Green: Wellness Resort of the World (พังงา ภูเก็ต กระบี่) ประกอบด้วยระเบียงเศรษฐกิจเวลเนสอันดามัน ใช้พื้นที่ที่มีศักยภาพสูง ดึงดูดในกลุ่มรักษาพยาบาลเวลเนส ผลิตภัณฑ์สุขภาพ และการศึกษาวิจัย, คลองท่อมเมืองสปา น้ำพุร้อนเค็ม, พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เช่น สปาชายทะเล (บ่อโคลน บ่อผุด) “เมืองออนเซ็น” พร้อมเชื่อมโยงเส้นทางน้ำพุร้อนอันดามัน คือ ระนอง พังงา กระบี่ ตรัง สตูล เป็นต้น

การพัฒนาพังงาเป็น Low Carbon Destination เขาหลัก เกาะคอเขา เกาะยาวน้อย และเกาะยาวใหญ่ ยกระดับคุณภาพผู้ประกอบการท่องเที่ยวสีเขียวต้นแบบ (Green Premium)

ส่วนโครงการภาพใหญ่นั้นประเด็นที่น่าจับตามอง เช่น ค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยว 300 บาท การจัดโซนนิ่งพื้นที่จำหน่ายแอลกอฮอล์ (Alcohol Zoning at Selected Location) เช่น กทม. (ถนนข้าวสาร) พัทยา (แหลมบาลีฮาย ถนนคนเดิน) ภูเก็ต (บางลา ป่าตอง) กระบี่ (อ่าวนาง) สมุย (ต.บ่อผุด ต.มะเร็ด) พังงา (เขาหลัก) เป็นต้น

สร้างเติบโตทั่วถึง-สมดุล-ยั่งยืน

พร้อมทิ้งท้ายว่า ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของนโยบาย และการดำเนินการที่กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ดำเนินการอยู่ ซึ่งหัวใจสำคัญที่จะทำให้สามารถฟันฝ่าพายุเศรษฐกิจและสังคมที่จะเข้ามาในอนาคตอันใกล้นี้ไปด้วยกันคือ การที่ทุกคน ทุกภาคส่วนในองคาพยพการท่องเที่ยวให้ความร่วมมือกัน สนับสนุนกัน ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ ต่อยอดและพัฒนาไปเรื่อย ๆ

และเป็นฟันเฟืองที่หมุนไปในทิศทางเดียวกันตามเป้าหมาย เพื่อสร้างการเติบโตอย่างทั่วถึง สมดุล และยั่งยืน


และในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ยืนยันว่า จะพยายามอย่างสุดความสามารถเพื่อเตรียมความพร้อม และเป็นภาคส่วนหลักของประเทศในการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย สร้างรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำ ปกป้องรักษาทรัพยากรธรรมชาติ และต่อยอดต้นทุนทางวัฒนธรรมในพื้นที่ให้สามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจและเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป